คลื่นเยอะกว่า แต่ทำไม dtac ถึงแข่งขันลำบาก

หากนับคลื่นความถี่ในมือของ dtac จะมีถึง 60 MHz และล่าสุดยังเตรียมตัวได้สิทธิ์ใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่มีช่องสัญญาณกว้างถึง 60 MHz ของบมจ.ทีโอที อีกด้วย ซึ่งจุดนี้น่าจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

คลื่นเยอะแล้วไง ถ้าผู้ใช้ไม่ Get

ที่ผ่านมา dtac มีคลื่นความถี่ให้บริการอยู่ 3 คลื่นประกอบด้วย 850 MHz จำนวน 10 MHz, 1800 MHz จำนวน 25 MHz และ 2100 MHz จำนวน 15 MHz ซึ่งทั้งหมดรวมกันได้ 60 MHz และตัวแบรนด์เองก็พยายามสื่อเรื่องนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญ Trinet และใช้พรีเซนเตอร์ “อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ” บอกว่าคลื่นกว้างสุด-ลื่นสุด

แต่ที่สุดแล้วการมีคลื่นความถี่ที่กว้างที่สุด ก็ไม่ได้ทำให้ตัวธุรกิจเติบโตได้ อย่างไตรมาส 1 ปี 2560 ก็มีรายได้ลดลง 8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แถมตัวลูกค้าในระบบก็ลดลง 1.7 แสนเลขหมาย ดังนั้นผู้ใช้ในระบบอาจไม่เข้าใจเรื่องคลื่นมากที่สุดก็เป็นได้ ยกเว้นกลุ่มที่ชื่นชอบในเทคโนโลยีก็อาจเข้าใจบ้างว่ายิ่งคลื่นเยอะ ยิ่งดี

และขณะที่การนำเสนอเรื่องคลื่นเยอะอาจไม่ส่งผลดีนัก dtac ยังเจรจากับบมจ.ทีโอที เพื่อเข้าเป็นคู่ค้าให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz ระยะเวลา 8 ปีอีกด้วย หากมองเเป็นรื่องเทคโนโลยีก็คงดี เพราะสัมปทานคลื่น 850 กับ 1800 MHz จะสิ้นสุดปี 2561 แต่ในแง่การตลาดหากยังสื่อเรื่องคลื่นเยอะก็เข้าใจยากอยู่ดี

ย้ำชัด ยิ่งเยอะ ยิ่งได้เปรียบ

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ dtac ย้ำว่า การได้คลื่น 2300 MHz นอกจากสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทในการทำธุรกิจแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับประเทศอีกด้วย โดยจะเร่งเซ็นสัญญากับบมจ.ทีโอที ให้เสร็จภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ตามแผนที่วางไว้

มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.ทีโอที กับ ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ dtac ตามลำดับ

“ปีที่แล้ว dtac ลงทุนเรื่องโครงข่าย 20,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้เราจะลงทุนอีก 17,000-20,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงข่ายให้ดีขึ้น ส่วนถ้าดีลนี้จบตามแผน dtac ก็จะลงทุนติดตั้งสถานีฐานอีก 20,000 แห่ง เพื่อรองรับการใช้งานคลื่น 2300 MHz ผ่านโมเดลให้บมจ.ทีโอทีเช่าใช้งาน”

สำหรับดีลนี้หากไม่เข้าใจจะอธิบายเป็นขั้นๆ คือ dtac ลงทุนสร้างสถานีฐาน 20,000 แห่ง เพื่อให้บมจ.ทีโอที เช่าใช้โครงข่ายในการให้บริการคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz โดย dtac จะเข้าไปใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวทั้งหมด 60% ของความจุในการให้บริการเป็นเวลา 8 ปี และจ่ายค่าบริการให้บมจ.ทีโอที 4,510 ล้านบาท

สนใจประมูลคลื่นใหม่แน่นอน

ขณะเดียวกัน dtac ยังมีความสนใจประมูลคลื่นความถี่ของบริษัท และคู่แข่งที่กำลังจะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2561 เพื่อมาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง และรับกับนโยบายของรัฐบาลที่กำลังเดินหน้า Thailand 4.0 ตามแผนของบริษัทที่ต้องการติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุม 80% ของประชากร

มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เล่าให้ฟังว่า บริษัทมีแผนนำความจุคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่เหลืออีก 40% มาใช้งานเป็น Fixed Wireless Broadband เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล และนำมาพัฒนาธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างละเท่าๆ กัน

สรุป

การมีคลื่นเยอะขนาดนี้ในมือของ dtac จะสามารถดึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่า นอกจากคลื่นแล้ว คงต้องมีอะไรที่พิเศษมากกว่านั้น แปลว่านอกจาก 2300 MHz ที่ dtac จะนำมาให้บริการจะเดินบนเทคโนโลยีล่าสุด 4G-LTE-TDD ที่วิ่งได้เร็วกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันด้วย คงยังไม่เพียงพอ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา