หากนับคลื่นความถี่ในมือของ dtac จะมีถึง 60 MHz และล่าสุดยังเตรียมตัวได้สิทธิ์ใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่มีช่องสัญญาณกว้างถึง 60 MHz ของบมจ.ทีโอที อีกด้วย ซึ่งจุดนี้น่าจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
คลื่นเยอะแล้วไง ถ้าผู้ใช้ไม่ Get
ที่ผ่านมา dtac มีคลื่นความถี่ให้บริการอยู่ 3 คลื่นประกอบด้วย 850 MHz จำนวน 10 MHz, 1800 MHz จำนวน 25 MHz และ 2100 MHz จำนวน 15 MHz ซึ่งทั้งหมดรวมกันได้ 60 MHz และตัวแบรนด์เองก็พยายามสื่อเรื่องนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญ Trinet และใช้พรีเซนเตอร์ “อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ” บอกว่าคลื่นกว้างสุด-ลื่นสุด
แต่ที่สุดแล้วการมีคลื่นความถี่ที่กว้างที่สุด ก็ไม่ได้ทำให้ตัวธุรกิจเติบโตได้ อย่างไตรมาส 1 ปี 2560 ก็มีรายได้ลดลง 8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แถมตัวลูกค้าในระบบก็ลดลง 1.7 แสนเลขหมาย ดังนั้นผู้ใช้ในระบบอาจไม่เข้าใจเรื่องคลื่นมากที่สุดก็เป็นได้ ยกเว้นกลุ่มที่ชื่นชอบในเทคโนโลยีก็อาจเข้าใจบ้างว่ายิ่งคลื่นเยอะ ยิ่งดี
และขณะที่การนำเสนอเรื่องคลื่นเยอะอาจไม่ส่งผลดีนัก dtac ยังเจรจากับบมจ.ทีโอที เพื่อเข้าเป็นคู่ค้าให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz ระยะเวลา 8 ปีอีกด้วย หากมองเเป็นรื่องเทคโนโลยีก็คงดี เพราะสัมปทานคลื่น 850 กับ 1800 MHz จะสิ้นสุดปี 2561 แต่ในแง่การตลาดหากยังสื่อเรื่องคลื่นเยอะก็เข้าใจยากอยู่ดี
ย้ำชัด ยิ่งเยอะ ยิ่งได้เปรียบ
ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ dtac ย้ำว่า การได้คลื่น 2300 MHz นอกจากสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทในการทำธุรกิจแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับประเทศอีกด้วย โดยจะเร่งเซ็นสัญญากับบมจ.ทีโอที ให้เสร็จภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ตามแผนที่วางไว้
“ปีที่แล้ว dtac ลงทุนเรื่องโครงข่าย 20,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้เราจะลงทุนอีก 17,000-20,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงข่ายให้ดีขึ้น ส่วนถ้าดีลนี้จบตามแผน dtac ก็จะลงทุนติดตั้งสถานีฐานอีก 20,000 แห่ง เพื่อรองรับการใช้งานคลื่น 2300 MHz ผ่านโมเดลให้บมจ.ทีโอทีเช่าใช้งาน”
สำหรับดีลนี้หากไม่เข้าใจจะอธิบายเป็นขั้นๆ คือ dtac ลงทุนสร้างสถานีฐาน 20,000 แห่ง เพื่อให้บมจ.ทีโอที เช่าใช้โครงข่ายในการให้บริการคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz โดย dtac จะเข้าไปใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวทั้งหมด 60% ของความจุในการให้บริการเป็นเวลา 8 ปี และจ่ายค่าบริการให้บมจ.ทีโอที 4,510 ล้านบาท
สนใจประมูลคลื่นใหม่แน่นอน
ขณะเดียวกัน dtac ยังมีความสนใจประมูลคลื่นความถี่ของบริษัท และคู่แข่งที่กำลังจะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2561 เพื่อมาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง และรับกับนโยบายของรัฐบาลที่กำลังเดินหน้า Thailand 4.0 ตามแผนของบริษัทที่ต้องการติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุม 80% ของประชากร
มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เล่าให้ฟังว่า บริษัทมีแผนนำความจุคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่เหลืออีก 40% มาใช้งานเป็น Fixed Wireless Broadband เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล และนำมาพัฒนาธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างละเท่าๆ กัน
สรุป
การมีคลื่นเยอะขนาดนี้ในมือของ dtac จะสามารถดึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่า นอกจากคลื่นแล้ว คงต้องมีอะไรที่พิเศษมากกว่านั้น แปลว่านอกจาก 2300 MHz ที่ dtac จะนำมาให้บริการจะเดินบนเทคโนโลยีล่าสุด 4G-LTE-TDD ที่วิ่งได้เร็วกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันด้วย คงยังไม่เพียงพอ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา