ดีแทคเสนอแก้ 3 ประเด็น ร่างกฎหมายจัดสรรคลื่นความถี่ฯ

logo dtac

ประเด็นเรื่องของคลื่นความถี่ ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติของชาติยังมีเรื่องต้องถกเถียงกันอยู่พอสมควร ยิ่งในช่วงที่ ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่…) พ.ศ. … อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ และเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็น

ภารไดย ธีระธาดา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร ของ ดีแทค บอกว่า ดีแทคได้ทำข้อเสนอต่อง กมธ. ใน 3 ประเด็นซึ่งเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมเป็นหลัก ดังนี้

pexels-photo-58625
Credit Image: pexels

1. การประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า (Early Auction) ดีแทคเสนอให้มีการประมูลคลื่นความถี่ก่อนที่ใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง โดยให้ใบอนุญาตใหม่มีผลเริ่มต้นในวันที่ใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจว่าจะสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดความกังวลเรื่องซิมดับ

หากไม่มีการประมูลใบอนุญาตก่อนที่ใบอนุญาตเดิมจะสิ้นสุดลง การให้บริการลูกค้าที่ยังตกค้างในโครงข่ายจะเป็นการให้บริการตามมาตรการเยียวยาซึ่งไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด และก่อให้เกิดปัญหาด้านการจัดการคลื่นความถี่ โครงข่าย และเกิดการฟ้องร้องต่างๆ ตามมาดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

ดังนั้น หากมีการจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า รัฐก็จะได้รับเงินจากการประมูลคลื่นความถี่เร็วขึ้นซึ่งหมายถึงรายได้และดอกผลจำนวนมหาศาลที่รัฐจะได้รับจากเงินดังกล่าว

hands-coffee-smartphone-technology
Credit Image: pexels

2. สนับสนุนให้มีการระบุชัดเจนว่าผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สามารถโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Trading) ได้เหมือนกับหลักเกณฑ์สากล เนื่องจากร่าง พรบ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในขณะนี้กล่าวถึงเฉพาะการให้ร่วมใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Sharing) หรือให้เช่าใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Leasing) เท่านั้น

การเพิ่มเรื่องการโอนใบอนุญาตจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาแข่งขันในตลาดสามารถเข้ามาได้ทันที ไม่ต้องรอให้มีการจัดประมูลที่นานๆ จะเกิดขึ้น และยังลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการรายใหม่ในการทดลองเข้ามาแข่งขัน เพราะหากไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังโอนขายใบอนุญาตได้ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ และยังทำให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการอยู่ต้องให้บริการที่ดีในราคาที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่มั่นใจว่าทำได้ดีกว่าเข้ามาแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี การให้โอนใบอนุญาตก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขว่าเมื่อไหร่โอนได้โอนไม่ได้ โดยเงื่อนไขต้องรัดกุม เช่น ต้องกำหนดเงื่อนไขป้องกันไม่ให้เกิดการเข้ามาขอรับใบอนุญาตเพื่อนำไปโอนขายหากำไรโดยไม่มีเจตนาประกอบการจริง เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันได้โดยอ้างอิงตามหลักเกณฑ์สากล

pexels-photo
Credit Image: pexels

3. กฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการจัดสรรคลื่นความถี่แต่ละคลื่น หรือที่เรียกว่าแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) ต้องประกาศใช้แผนดังกล่าวให้เร็วที่สุดภายหลังที่กฎหมายใหม่ประกาศใช้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีความต้องการคลื่นความถี่อีกจำนวนมากเพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ

นอกเหนือจากคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ในการประมูลที่ผ่านมา โดยจากการศึกษาของ ITU พบว่าความต้องการจำนวนคลื่นความถี่ของแต่ละประเทศในการใช้งานจะเพิ่มเป็นจำนวน 1340 MHz ถึง 1960 MHz ในปี พ.ศ. 2563 ขณะที่วันนี้ประเทศไทยมีจำนวนคลื่นความถี่ในการใช้งานเพียง 320 MHz เท่านั้น

ดังนั้น จึงควรมีการจัดทำแผนแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) เพื่อเอาคลื่นความถี่มาประมูลให้มากขึ้น โดยควรกำหนดแผนไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับพัฒนาการของเทคโนโลยีและความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ

dtac_3188

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา