ทำไมเกษตรกรไทยต้องใช้ IoTs? หาคำตอบได้ที่ “ดีแทค ฟาร์มแม่นยำ”

  • พาไปสัมผัสฟาร์มมะเขือเทศเชอรี่-เมล่อน ต้นแบบ Smart Farmer ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน

แม้โลกจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม แต่การเกษตรก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญ เพราะทุกคนอยากกินอาหารที่สะอาด ปราศจากสารเคมี รู้แหล่งผลิต รู้ชื่อเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม และรู้กระบวนการผลิต เพื่อให้มั่นใจว่า วัตถุดิบที่จะนำมาปรุงอาหารนั้นมีคุณภาพและได้มาตรฐานจริงๆ

การจะให้ขั้นตอนทั้งหมดสมบูรณ์ จุดเริ่มต้นคือ เกษตรกรต้องสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดก่อน จึงเกิดแนวคิดการพัฒนาฟาร์มต้นแบบที่นำเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoTs มาใช้งาน จากที่เคยได้ยินว่า IoTs กันมาตลอด จากนี้จะเกิดการใช้งานจริง

พัฒนา Young Smart Farmer ด้วยเทคโนโลยี ทดแทนภาคเกษตรที่กำลังหายไป

ภาครัฐมีเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็น Young Smart Farmer เพื่อรองรับแรงงานภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเสริมศักยภาพ เพื่อสร้างผลิตผลที่มีมูลค่าสูง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการมาเกือบ 10 ปี จนปัจจุบันมี Young Smart Farmer แล้วจำนวน 5,500 คนที่จะช่วยเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรคนอื่นๆ

และเพื่อต่อยอด ได้มีการคัดเลือก Young Smart Farmer กว่า 30 คน มาเข้าร่วมโครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” ที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แบบเข้มข้นยิ่งขึ้น เช่น ระบบอินเทอร์เน็ต, ระบบเซ็นเซอร์ เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, ความชื้น ซึ่งจะใช้ IoTs มาตรวจสอบแทนคน

IoTs มีความแม่นยำ เก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา ช่วยให้สามารถวางแผนการผลิต ลดความเสี่ยง และเพิ่มคุณภาพ 

ในโครงการ ดีแทคฟาร์มแม่นยำ ได้ร่วมมือกับ เนคเทค พัฒนาเซนเซอร์ตรวจจับ และ ระบบควบคุมการเพาะปลูกแบบเครือข่ายเกษตรกร จำเพาะเจาะจงตามชนิดของพืช ในระยะแรกจะเน้นการติดตามและเก็บบันทึกปัจจัยการเพาะปลูก เช่น ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ อุณหภูมิในอากาศ และปริมาณแสงในโรงเรือน ระบบจะช่วยเก็บข้อมูล มาวิเคราะห์เพื่อหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

เริ่มต้นจากเทคโนโลยี สู่การพัฒนาการเกษตรทั้งระบบ

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ ดีแทค บอกว่า ความตั้งใจขอดีแทคคือ นำเอาอินเทอร์เน็ตให้เข้าถึงประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งปัจจุบันพบว่า ยังมีคนไทยที่รอการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตประมาณ 40% โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ซึ่งการทำ Young Smart Farmer จะไม่ได้มีแค่อินเทอร์เน็ต แต่ต้องมาพร้อมกับเทคโนโลยีอื่นๆ

“ดีแทค ฟาร์มแม่นยำ” เป็นโครงการทดลองและวิจัย หวังผลในการเพิ่มผลผลิต ควบคุมคุณภาพ และลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ซึ่ง ดีแทคและเนคเทค – สวทช. ร่วมกันพัฒนาโซลูชั่น IoTs ตรวจสอบสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยเนคเทคดูแลการวิจัยและผลิตอุปกรณ์ระบบเซ็นเซอร์ ขณะที่ดีแทค ดูแลการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและวิเคราะห์ข้อมูลผ่าน dtac Cloud Intelligence เพราะรู้ว่านี่คือปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพาะปลูก โดยจะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นในการแสดงผล ตั้งค่า เก็บข้อมูลและวิเคราะห์

การสนับสนุนไม่ได้มีแค่เพียงกระบวนการผลิต แต่ยังรวมถึงการขายผ่านโครงการเกษตรเชิงพาณิชย์ และการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคผ่าน Freshket สตาร์ทอัพจากโครงการ dtac Accelerate ที่จะส่งผ่านผลิตผลการเกษตรจากฟาร์มไปถึงร้านอาหารชั้นนำ

ไม่ใช่เป็นแค่โครงการลอยๆ แต่มีเกษตรกรที่ใช้งานจริงแล้ว

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า มีเกษตรกร Young Smart Farmer จำนวน 30 ฟาร์มที่ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้เข้าร่วม โดยมีเงื่อนไขว่า มีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี ต้องทำการเกษตรในโรงเรือน เป็นการเกษตรแบบปลอดสารเคมี  อยู่ในรัศมี 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพเพื่อความสะดวกในการวิจัย และต้องสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนได้

การคัดเลือกฟาร์มและประเภทของพืช เริ่มต้นจากพืชที่มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด 3 ชนิด คือ มะเขือเทศเชอรี่, เมล่อน และผักปลอดสารพิษ โดยหนึ่งในฟาร์มนำร่อง คือ ฟาร์มแตะขอบฟ้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี โดยมีการติดตั้งระบบดังนี้

– ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ  อุปกรณ์จะช่วยสังเกต และติดตามการเปลี่ยนแปลงปัจจัยในการเพาะปลูก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของเกษตรกรแม่นยำ จากปกติที่ขึ้นกับความรู้สึกและความชำนาญของเกษตรเอง

Real – time tracking ระบบจะส่งข้อมูลที่ได้ เข้าสู่ระบบหลังบ้านของดีแทค ทั้งความชื้น แสง และอุณหภูมิ ทำให้ได้ข้อมูลแบบ real – time

– วิเคาะห์อย่างชาญฉลาด ระบบจะทำการประมวล และวิเคราะห์ข้อมูลผ่าน dtac Intelligence farm และแสดงผลผ่านแอปพลิเคชั่นแบบ real – time ทำให้เห็นประวัติ และแนวโน้มของปัจจัยทางการเกษตรได้อย่างแม่นยำ

– ชีวิตง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก หลังได้ข้อมูล เกษตรกรสามารถปรับปรุงปัจจัย ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันเหตุการณ์ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต

สำหรับโครงการระยะที่ 2 จะติดตั้งอุปกรณ์ฤดูการเก็บเกี่ยวครั้งที่ 1 มิ.ย. – พ.ย.60 ครั้งที่ 2 พ.ย.60 – เม.ย.61 และ ระยะที่ 3 สรุปผลดำเนินการแก้ไข นำผลการเก็บเกี่ยวข้อมูลทั้ง 30 ฟาร์มมาทำวิจัย หาสูตรที่ดีที่สุดในการปลูกของพืชแต่ละชนิด ในพื้นที่ และสภาพแวดล้อมเฉพาะ

ใช้ความแม่นยำเทคโนโลยี บริหารเวลา ลดความเสี่ยง เพิ่มผลผลิต

ปิยะ กิจประสงค์ เจ้าของฟาร์มมะเขือเทศเชอรี่ แตะขอบฟ้า อ.ศรีประจัน จ.สุพรรณบุรี บอกว่า มะเขือเทศ ไม่สามารถปลูกในหน้าร้อนได้ เพราะนิยมอากาศหนาว ทำให้ผลผลิตลดลง เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำในช่วงหน้าร้อน จึงทดลองใช้ระบบเซ็นเซอร์ ติดตั้งในฟาร์มของตน แต่ยังเป็นแค่การทดลองเก็บข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น แต่เริ่มมีข้อมูลแล้ว่าช่วงที่ผลผลิตดี อุณหภูมิและความชื้นในดินควรเป็นเท่าไร รอบการผลิตครั้งต่อไป จะใช้ข้อมูลเหล่านี้เข้ามาแก้ปัญหาในหน้าร้อน เพื่อช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มผลผลิต

การเข้ามาของ IoTs ทำให้เกษตรกร ลดภาระจากหน้าฟาร์ม ไม่จำเป็นต้องนั่งเฝ้า เปิด – ปิดน้ำ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถสั่งการทำงานผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้มีเวลาทำอย่างอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเดินทางไปประชุม หรือเผยแพร่ความรู้กับเครือข่ายเกษตรกร ไม่อยากให้มองว่าเทคโนโลยีมีราคาแพง หรือใช้งานแค่ 1-2 ปี แต่ให้มองประโยชน์ในระยะยาว ขณะที่การอบรมโครงการเกษตรเชิงพาณิชย์ ได้เรียนรู้การขายผลผลิตทางออนไลน์ ตอนนี้มะเขือเทศขายดีมาก ไม่พอจำหน่าย ซึ่งการทำเกษตรไม่จำเป็นต้องผลิตเยอะ ทำน้อย แต่เน้นคุณภาพความปลอดภัย เพื่อทำให้ผู้บริโภคมั่นใจ ก็สามารถอยู่ได้

ณัฐ มั่นคง เจ้าของโคโค่ เมล่อนฟาร์ม (CoCo Melon Farm) บอกว่า เมล่อนชอบความชื้นในดินสูง เมื่อก่อนจะเดาอุณหภูมิความชื้นในโรงเรือนด้วยวิธีการใช้มือล้วงเข้าไปในดิน เพื่อคำนวณ เป็นเรื่องความรู้สึกจึงไม่แม่นยำ และไม่รู้ว่าความชื้นอยู่ที่เท่าไร ภายหลังได้ทดลองใช้ระบบเซ็นเซอร์ ทำให้ผลที่ออกมาแม่นยำมากขึ้น ข้อดีคือ สามารถคำนวณปริมาณน้ำที่เหมาะสม ผลผลิตได้ตรงตามความต้องการ คุณภาพคงที่ วางแผนระบบการตลาดดีขึ้น ถ้ามองว่าเกษตรกรคือ นักธุรกิจ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อทดแทนประสบการณ์ องค์ความรู้แบบเก่า เพื่อเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา