ต่อไปนี้การเติมเงินและย้ายเบอร์ ไม่ต้องไปหน้าร้านหรือศูนย์บริการ เพราะสามารถทำได้กับพนักงานของ dtac ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งอะไร นี่คือไอเดียของทีม dtac One ที่ต้องการผลักดันให้ dtac ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว
แอพเดียวจบ dtac One | พนักงาน dtac ทุกคนคือ “ผู้ให้บริการ”
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่พลิกโฉมอย่างมาก สำหรับทีม dtac One ผู้ชนะจากเวที Flip it Challenge ที่ส่งแอพพลิเคชั่นเปลี่ยน “พนักงานธรรดา” ให้กลายเป็น “ศูนย์บริการเคลื่อนที่” ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด พนักงาน dtac สามารถให้บริการกับลูกค้าได้
- แนวคิดคือ : เปลี่ยนจากศูนย์บริการที่มีอยู่กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ เป็น พนักงาน dtac กว่า 5,000 คนทั่วประเทศที่สามารถให้บริการได้
พีรพัชร์ วงศ์กลธูต หัวหน้าทีม dtac One เล่าให้ฟังว่า “Pain Point ของการใช้บริการโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน คือความไม่สะดวกของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่ใช้บริการแบบเติมเงิน หลายคนยังต้องไปที่ร้านค้า” dtac ในฐานะที่ตั้งเป้าไปสู่ดิจิทัลทั้งในรูปแบบองค์กรและการทำงานจึงต้องการทำให้เกิดการให้บริการแบบดิจิทัล โดยเริ่มต้นจากพนักงานของตนเอง
“การให้พนักงานทุกคนสามารถลงไปให้บริการด้วยตัวเองเป็นความท้าทายที่ทำให้พนักงานเข้าใจปัญหาหน้างาน เป็นการพลิกความคิด”
หลังจากนี้พนักงานของ dtac จะมีแอพพลิเคชั่น dtac One อยู่ในเครื่องและสามารถให้บริการได้ดังนี้
- เติมเงินให้ลูกค้าแบบ Pre-Paid
- โอนย้ายเบอร์จากเครือข่ายอื่นมาเป็น dtac
- เปลี่ยนลูกค้าจาก Pre-Paid เป็น Post-Paid หรือรายเดือน
- แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นให้ลูกค้าได้ ในกรณีที่ใช้แบบรายเดือนยังต้องติดต่อไปยัง Call Center อยู่ เพราะขั้นตอนนี้มีความซับซ้อน เช่น โปรโมชั่นเดิมยังติดสัญญากับค่าเครื่องอยู่ เป็นต้น
หลังการทดลองใช้แอพพลิเคชั่น dtac One กับพนักงานมากว่า 4 เดือน ผลปรากฎว่า มีพนักงานที่เข้าร่วมใช้งานกว่า 50% มีเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 2 ล้านบาท
ผลตอบแทนที่พนักงาน dtac จะได้คือ ค่าคอมมิชชั่น 3.5% หรือคิดง่ายๆ คือ หากมีลูกค้ามาเติมเงินกับพนักงาน dtac จำนวน 100 บาท ผ่าน dtac One พนักงานของ dtac จะได้ค่าตอบแทน 3.5 บาท หรือตัดออกจากยอดเงินที่พนักงานต้องเติมไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อโอนเงิน 100 บาทไปยังลูกค้า พนักงานจะเสียเงินไปเพียง 96.5 บาท
ทีม dtac One ระบุว่า หลังจากนี้จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้พนักงานของ dtac มีสิทธิพิเศษในการเห็นโปรโมชั่นพิเศษ นอกเหนือไปจากร้านค้าหรือศูนย์บริการ เพราะต้องการผลักดันให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่พนักงานจะได้ขายสินค้าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“พนักงานที่ active ขณะนี้มีประมาณ 1,600 คน ในจำนวนนี้ไม่รวมทีมขาย (Sales Team) เพราะทำเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าดูจากที่บันทึกไว้ ตั้งแต่ dtac One ทดลองทำมา มีพนักงานหลายรายปิดยอดได้หลักหมื่นต่อเดือน ที่มากสุดเห็นจะมีรายหนึ่งที่ปิดยอดได้ที่ 5 หมื่นกว่าบาท แต่โดยส่วนใหญ่อยู่แถวๆ หลักพัน ประมาณ 6 พันบาท”
ทีม dtac One เน้นย้ำว่า เอาเข้าจริง เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องหลักในการส่งแอพพลิเคชั่น dtac One ออกมาลงสู่ตลาด แต่สิ่งสำคัญคือการทำให้เกิดการ disrupt ในธุรกิจของ dtac ที่ต้องการมุ่งหน้าไปสู่ Digital Transformation มากขึ้น ส่วนผลพลอยได้ที่สำคัญคือ ได้เห็นการปรับตัวของพนักงานมากกว่าการเห็นตัวเงินที่งอกเงย
อย่างไรก็ตาม ทีม dtac One เป็นอีกหนึ่งในผลผลิตของการปรับองค์กรของ dtac เพื่อทำให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา