การเที่ยวเมืองรอง หรือจังหวัดที่อาจจะดูไม่โดดเด่นเท่าเมืองหลัก แต่แท้จริงมีสิ่งน่าสนใจแอบซ่อนจากการรับรู้ของคนทั่วไป คือสิ่งที่ประเทศไทยพูดถึงมาหลายปีแล้ว เพราะต้องการกระจายการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายมากขึ้น สร้างเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวไปในท้องถิ่นต่างๆ แต่ในอดีตเป็นเรื่องไม่ง่ายในการวัดผล ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะได้ข้อสรุป
แนวทางหนึ่งที่มีการใช้งานในหลายประเทศ คือเรื่องการใช้ Mobility Data มาเป็นตัวช่วยในการวางแนวนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริม สนับสนุน ซึ่งประเทศไทยเองก็สามารถนำบิ๊กดาต้าเรื่องนี้มาใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน
Mobility Data ข้อมูลสำคัญเพื่อการวิเคราะห์
ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บอกว่า Mobility Data สามารถใช้ประโยชน์ในกระบวนการออกแบบนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะทำให้เห็นข้อมูลเชิงพฤติกรรม นำมาวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์การเดินทางและการกระจุกตัวของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ได้หลากหลายระดับ
การท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มเปิดแล้ว แต่การท่องเที่ยวในประเทศก็ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มากขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งภาครัฐและผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถใช้โอกาสนี้เป็นจุดเปลี่ยนนำ Mobility Data มาช่วยกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น
เบื้องต้นที่สุด Mobility Data ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของประชากรขนาดใหญ่ เห็นการกระจุกตัวในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในด้านการท่องเที่ยวสามารถดูได้ว่า คนเดินทางไปที่ไหน ใช้เวลานานแค่ไหน แปลเป็นการท่องเที่ยวคือ นักท่องเที่ยวอยู่ที่ไหนมาก มีกิจกรรมหรือสถานที่อะไรน่าสนใจ ใช้เวลานานแค่ไหน พักค้างแรมหรือไม่ หรือแค่ผ่านไป สามารถต่อยอดทำโปรโมชั่นได้หรือไม่
ขณะที่ในต่างประเทศกลุ่มเทเลนอร์ ก็มีการนำ Mobility Data มาใช้ประโยชน์ เช่น ปากีสถาน นำมาช่วยเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก เป็นต้น
ใหญ่กว่า เร็วกว่า ต้นทุนต่ำกว่า
ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ต่างประเทศมีการใช้ Mobility Data เป็นแนวทางในการพัฒนานโยบาย เช่น ในนอร์เวย์ สวีเดน ฝรั่งเศส สโลวาเกีย มีการวิเคราะห์รูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยวเพื่อออกแบบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว
ดังนั้นความร่วมมือระหว่างดีแทค คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บ จะใช้ความได้เปรียบด้านขนาดข้อมูล ความรวดเร็วในการรวบรวม ต้นทุนที่น้อยกว่าเทียบกับการสำรวจ นำมาใช้ออกแบบนโยบายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การผนึกกำลังทำงานวิจัยระหว่าง ดีแทค-สดช.-สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บ ทำให้เห็น 3 แนวทางสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองในประเทศไทย เชื่อว่าจะผลักดันการท่องเที่ยวเมืองรองได้รับความนิยมมากขึ้นได้ ได้แก่
- การดึงดูดการท่องเที่ยวระยะใกล้หรือ Micro-tourism
- การส่งเสริมการค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่
- การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด
เวลา: ตัวแปรสำคัญของการพัฒนา
ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ซีอีโอของ Boonmee Lab บอกว่า โครงการนี้เป็นการนำ Mobility Data มาวิเคราะห์และนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายครั้งแรกของไทย และสามารถต่อยอดไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะเพิ่มเติม นำมาพลิกแพลงได้หลายอย่างจนนำไปสู่ข้อสรุปใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
การออกนโยบายต่างๆ ต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วขึ้นตามความต้องการของสังคม จะทำนโยบายในรูปแบบเดิมๆ ที่ใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ถือว่าช้าเกินไป เพราะเวลาคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด และ Mobility Data สามารถช่วยเป็นฐานในการกำหนดนโยบายได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว แต่รวมถึงกรณีอื่นๆ ด้วย เช่น การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ กำหนดเส้นทางเดินรถประจำทางให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นต้น
ก้าวสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ดีแทค บอกว่า โครงการนี้คือก้าวแรก โดยดีแทคในฐานะบริษัทเอกชน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม สามารถนำข้อมูลด้าน Mobility Data เข้ามาช่วยพัฒนาการออกแบบนโยบายผ่านความร่วมมือกับภาครัฐ และสถาบันการศึกษา ถือเป็นส่วนสำคัญที่เห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม
สำหรับก้าวต่อไป คาดหวังจะเห็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากงานวิจัยไปปรับใช้ มีการใช้ข้อมูลและวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาสังคม สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการท่องเที่ยว ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมขององค์กรส่วนท้องถิ่น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา