ไขข้อเท็จจริง พร้อมวิเคราะห์กรณี dtac ฟ้องศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราวหลังหมดสัมปทาน 15 ก.ย. นี้

ถือเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจอยู่ไม่น้อยว่า ทำไม dtac ต้องยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนมติ กสทช. และขอคุ้มครองลูกค้าชั่วคราว เพื่อให้ผู้ใช้บริการ dtac สามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือต่อไปได้ หลังสัญญาสัมปทานกับ บริษัท กสท​ โทรคมนาคม หรือ CAT จะหมดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561

Brand Inside ขอสรุปข้อเท็จจริง และวิเคราะห์ทีละประเด็นให้ง่ายต่อความเข้าใจมากที่สุด

  • ข้อมูลพื้นฐานอันดับแรกคือ ใน dtac มี 2 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ dtac ในฐานะผู้รับสัมปทานจาก CAT มีคลื่น 850MHz และ 1800MHz มีอายุสัมปทานรวม 27 ปี และจะหมดอายุสัมปทาน (ต้องคืนคลื่นความถี่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว) วันที่ 15 ก.ย. 2561
  • อีกบริษัทคือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN เป็นบริษัทในเครือ dtac แต่ให้บริการภายใต้ใบอนุญาต ของ กสทช. มีคลื่น 2100MHz ให้บริการ และมีความร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำคลื่น 2300MHz มาให้บริการ
  • ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ของ dtac บอกว่า ก่อนที่สัญญาสัมปทาน จะสิ้นสุด dtac และ CAT ได้ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้ากรณีสิ้นสุดสัมปทาน ต่อ กสทช. ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช. ได้เคยอนุมัติการเยียวยาแก่ผู้ให้บริการรายอื่นที่เป็นคู่แข่งของ dtac เป็นระยะเวลา 9 เดือน (AIS) และ 26 เดือน (True) แต่จนวันนี้ (9 ก.ย. 61) กสทช.​ ก็ยังไม่มีมติเรื่องการเยียวยา ขณะที่ใกล้วันหมดสัมปทานมากแล้ว หากรอ กสทช.​ประชุมอีกครั้งอาจไม่ทันการณ์
  • dtac มองว่าเป็นความเสี่ยงที่ หลังวันที่ 15 ก.ย. 61 จะเกิด “ซิมดับ”​ ดังนั้นการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง จึงเป็นไปเพื่อคุ้มครองและให้ลูกค้าของ dtac สามารถใช้งานต่อไปได้ จนกว่าจะมีการโอนย้ายลูกค้าจนหมด และมีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมการใช้บริการ
  • dtac ระบุว่า หากมีการเยียวยา ให้ใช้คลื่นความถี่ ทั้ง 1800 และ 850 รายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่าย จะนำส่ง กสทช.​ เพื่อส่งเข้าเป็นเงินของรัฐทั้งหมด ไม่ใช่การใช้คลื่นความถี่ฟรีๆ ผู้ใช้บริการก็ได้รับการคุ้มครองให้ใช้งานได้ตามปกติ และคลื่นความถี่ก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์ตามสมควร

วิเคราะห์ หากมี หรือ ไม่มีมาตรการเยียวยา จะเกิดอะไรขึ้น

  • กรณีคลื่นความถี่ 1800MHz มีลูกค้าจาก dtac (ในระบบสัมปทาน)​ ประมาณ 340,000 รายใช้งานอยู่ และยังไม่มีการโอนย้ายไปอยู่ในระบบใหม่ แบ่งเป็น 250,000 รายบนคลื่น 1800 และ 90,000 รายบนคลื่น 850
  • กรณีคลื่นความถี่ 850MHz ใช้เพื่อให้บริการ 3G ทั่วประเทศ มีลูกค้าจาก DTN ใช้งานมากกว่า 1 ล้านราย ซึ่ง dtac ขอให้มีการเยียวยาช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ dtac ขยายโครงข่ายไปรองรับการให้บริการให้ครอบคลุมเพียงพอต่อการให้บริการ
  • หาก ไม่มีมาตรการเยียวยา ลูกค้าที่ใช้ซิม dtac (340,000 ราย) จะใช้งานต่อไม่ได้ทันที (ซิมดับ) หลังจากวันที่ 15 ก.ย. 61 ส่วนลูกค้าที่อยู่ในระบบ DTN สามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่อาจมีบางพื้นที่ที่สัญญาณไม่ครอบคลุม สามารถเช็คได้ที่*777 โทรออก(เริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 13 ..2561)
  • แต่ถ้ามีมาตรการเยียวยา ลูกค้าที่ใช้ซิม dtac (340,000 ราย) ยังใช้งานได้ แต่ควรรีบย้ายมาอยู่ในระบบ DTN โดยสามารถกด *444# โทรออก เพื่อตรวจสอบ

เกิดอะไรขึ้น ทำไม dtac อาจไม่ได้รับการเยียวยาจาก กสทช.

  • ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ของ dtac บอกว่า มีเงื่อนไขจาก กสทช.​ ระบุว่า ผู้ที่จะได้รับการพิจารณาตามมาตรการเยียวยา ต้องเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ (ทั้งกรณี 1800 และ 850) ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีเงื่อนไขนี้มาก่อน
  • อย่างไรก็ตาม dtac เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 และได้มา 1slot (5MHz) จึงมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการอนุมัติเยียวยาคลื่น 1800 จาก กสทช.
  • แต่ในการประมูลคลื่น 900MHz (กสทช​. ทำการจัดระเบียบหรือ Reband คลื่นใหม่จาก 850 เป็น 900) dtac ไม่ได้เข้าร่วมการประมูลด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
  • อุปกรณ์ที่ dtac ใช้งานเป็นสำหรับคลื่น 850 แต่การ Reband ใหม่ ทำให้กลายเป็นคลื่น 900 ซึ่ง dtac ได้มาก็ไม่สามารถใช้งานได้ ต้องติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด และยังมีเงื่อนไขว่า ผู้ชนะประมูลคลื่น 900 ต้องทำ Filter ป้องกันการรบกวนคลื่นรอบข้าง ซึ่งเป็นต้นทุนกว่า 2,000 ล้านบาท รวมถึงสุดท้ายหากพอบว่า คลื่นที่ได้ไป ใช้แล้วมีปัญหา กสทช.​ สามารถโยกสลับช่วงคลื่นความถี่ได้ ปิดท้ายด้วยราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 900 ที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะใช้ราคาสุดท้ายจากการประมูลครั้งก่อน ไม่ได้มีการศึกษาใหม่
  • เงื่อนไขทั้งหมด dtac มองว่า ไม่เอื้อต่อการส่งเสริมการแข่งขันและการให้บริการ จึงไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่น แต่ dtac ก็มองว่า ไม่ใช่เหตุผลที่ กสทช.​ จะไม่อนุมัติมาตรการเยียวยา
  • dtac ยังมองด้วยว่า คลื่นความถี่ 850 (หรือ 900) และ 1800 ที่ dtac ขอทำการเยียวยาเพื่อมาให้บริการ เป็นคลื่นที่ไม่มีผู้รับไปใช้งานต่อ จนกว่าจะมีการจัดสรรใหม่อีกครั้ง ดังนั้นการที่ dtac ขอให้มีการเยียวยา จะเกิดประโยชน์กับผู้ใช้ และ กสทช.​จะได้รับเงินจากรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายด้วย

สรุป

  • กสทช.​คือ หน่วยงานกำกับดูแล มีหน้าที่หลักๆ คือ คุ้มครองผู้บริโภค,​ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน และจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • การคุ้มครองผู้บริโภค อาจหมายรวมถึง การอนุมัติมาตรการเยียวยาครั้งนี้ด้วย เมื่อมีลูกค้าตกค้างอยู่ 340,000 ราย ก็เป็นหน้าที่ทั้ง dtac และ กสทช.​ ต้องจัดให้มีบริการต่อเนื่องไป
  • การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อยังไม่มีผู้มารับช่วงต่อคลื่นไปใช้งาน การอนุมัติให้เยียวยาต่อไปได้ระยะเวลาหนึ่ง โดยที่ กสทช.​และ รัฐได้รับเงินจากรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด ก็เป็นเรื่องที่ดูสมเหตุสมผล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา