ถือเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจอยู่ไม่น้อยว่า ทำไม dtac ต้องยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนมติ กสทช. และขอคุ้มครองลูกค้าชั่วคราว เพื่อให้ผู้ใช้บริการ dtac สามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือต่อไปได้ หลังสัญญาสัมปทานกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ CAT จะหมดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561
Brand Inside ขอสรุปข้อเท็จจริง และวิเคราะห์ทีละประเด็นให้ง่ายต่อความเข้าใจมากที่สุด
- ข้อมูลพื้นฐานอันดับแรกคือ ใน dtac มี 2 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ dtac ในฐานะผู้รับสัมปทานจาก CAT มีคลื่น 850MHz และ 1800MHz มีอายุสัมปทานรวม 27 ปี และจะหมดอายุสัมปทาน (ต้องคืนคลื่นความถี่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว) วันที่ 15 ก.ย. 2561
- อีกบริษัทคือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN เป็นบริษัทในเครือ dtac แต่ให้บริการภายใต้ใบอนุญาต ของ กสทช. มีคลื่น 2100MHz ให้บริการ และมีความร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำคลื่น 2300MHz มาให้บริการ
- ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ของ dtac บอกว่า ก่อนที่สัญญาสัมปทาน จะสิ้นสุด dtac และ CAT ได้ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้ากรณีสิ้นสุดสัมปทาน ต่อ กสทช. ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช. ได้เคยอนุมัติการเยียวยาแก่ผู้ให้บริการรายอื่นที่เป็นคู่แข่งของ dtac เป็นระยะเวลา 9 เดือน (AIS) และ 26 เดือน (True) แต่จนวันนี้ (9 ก.ย. 61) กสทช. ก็ยังไม่มีมติเรื่องการเยียวยา ขณะที่ใกล้วันหมดสัมปทานมากแล้ว หากรอ กสทช.ประชุมอีกครั้งอาจไม่ทันการณ์
- dtac มองว่าเป็นความเสี่ยงที่ หลังวันที่ 15 ก.ย. 61 จะเกิด “ซิมดับ” ดังนั้นการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง จึงเป็นไปเพื่อคุ้มครองและให้ลูกค้าของ dtac สามารถใช้งานต่อไปได้ จนกว่าจะมีการโอนย้ายลูกค้าจนหมด และมีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมการใช้บริการ
- dtac ระบุว่า หากมีการเยียวยา ให้ใช้คลื่นความถี่ ทั้ง 1800 และ 850 รายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่าย จะนำส่ง กสทช. เพื่อส่งเข้าเป็นเงินของรัฐทั้งหมด ไม่ใช่การใช้คลื่นความถี่ฟรีๆ ผู้ใช้บริการก็ได้รับการคุ้มครองให้ใช้งานได้ตามปกติ และคลื่นความถี่ก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์ตามสมควร
วิเคราะห์ หากมี หรือ ไม่มีมาตรการเยียวยา จะเกิดอะไรขึ้น
- กรณีคลื่นความถี่ 1800MHz มีลูกค้าจาก dtac (ในระบบสัมปทาน) ประมาณ 340,000 รายใช้งานอยู่ และยังไม่มีการโอนย้ายไปอยู่ในระบบใหม่ แบ่งเป็น 250,000 รายบนคลื่น 1800 และ 90,000 รายบนคลื่น 850
- กรณีคลื่นความถี่ 850MHz ใช้เพื่อให้บริการ 3G ทั่วประเทศ มีลูกค้าจาก DTN ใช้งานมากกว่า 1 ล้านราย ซึ่ง dtac ขอให้มีการเยียวยาช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ dtac ขยายโครงข่ายไปรองรับการให้บริการให้ครอบคลุมเพียงพอต่อการให้บริการ
- หาก ไม่มีมาตรการเยียวยา ลูกค้าที่ใช้ซิม dtac (340,000 ราย) จะใช้งานต่อไม่ได้ทันที (ซิมดับ) หลังจากวันที่ 15 ก.ย. 61 ส่วนลูกค้าที่อยู่ในระบบ DTN สามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่อาจมีบางพื้นที่ที่สัญญาณไม่ครอบคลุม สามารถเช็คได้ที่*777 โทรออก(เริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.2561)
- แต่ถ้ามีมาตรการเยียวยา ลูกค้าที่ใช้ซิม dtac (340,000 ราย) ยังใช้งานได้ แต่ควรรีบย้ายมาอยู่ในระบบ DTN โดยสามารถกด *444# โทรออก เพื่อตรวจสอบ
เกิดอะไรขึ้น ทำไม dtac อาจไม่ได้รับการเยียวยาจาก กสทช.
- ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ของ dtac บอกว่า มีเงื่อนไขจาก กสทช. ระบุว่า ผู้ที่จะได้รับการพิจารณาตามมาตรการเยียวยา ต้องเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ (ทั้งกรณี 1800 และ 850) ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีเงื่อนไขนี้มาก่อน
- อย่างไรก็ตาม dtac เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 และได้มา 1slot (5MHz) จึงมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการอนุมัติเยียวยาคลื่น 1800 จาก กสทช.
- แต่ในการประมูลคลื่น 900MHz (กสทช. ทำการจัดระเบียบหรือ Reband คลื่นใหม่จาก 850 เป็น 900) dtac ไม่ได้เข้าร่วมการประมูลด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
- อุปกรณ์ที่ dtac ใช้งานเป็นสำหรับคลื่น 850 แต่การ Reband ใหม่ ทำให้กลายเป็นคลื่น 900 ซึ่ง dtac ได้มาก็ไม่สามารถใช้งานได้ ต้องติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด และยังมีเงื่อนไขว่า ผู้ชนะประมูลคลื่น 900 ต้องทำ Filter ป้องกันการรบกวนคลื่นรอบข้าง ซึ่งเป็นต้นทุนกว่า 2,000 ล้านบาท รวมถึงสุดท้ายหากพอบว่า คลื่นที่ได้ไป ใช้แล้วมีปัญหา กสทช. สามารถโยกสลับช่วงคลื่นความถี่ได้ ปิดท้ายด้วยราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 900 ที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะใช้ราคาสุดท้ายจากการประมูลครั้งก่อน ไม่ได้มีการศึกษาใหม่
- เงื่อนไขทั้งหมด dtac มองว่า ไม่เอื้อต่อการส่งเสริมการแข่งขันและการให้บริการ จึงไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่น แต่ dtac ก็มองว่า ไม่ใช่เหตุผลที่ กสทช. จะไม่อนุมัติมาตรการเยียวยา
- dtac ยังมองด้วยว่า คลื่นความถี่ 850 (หรือ 900) และ 1800 ที่ dtac ขอทำการเยียวยาเพื่อมาให้บริการ เป็นคลื่นที่ไม่มีผู้รับไปใช้งานต่อ จนกว่าจะมีการจัดสรรใหม่อีกครั้ง ดังนั้นการที่ dtac ขอให้มีการเยียวยา จะเกิดประโยชน์กับผู้ใช้ และ กสทช.จะได้รับเงินจากรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายด้วย
สรุป
- กสทช.คือ หน่วยงานกำกับดูแล มีหน้าที่หลักๆ คือ คุ้มครองผู้บริโภค, ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน และจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- การคุ้มครองผู้บริโภค อาจหมายรวมถึง การอนุมัติมาตรการเยียวยาครั้งนี้ด้วย เมื่อมีลูกค้าตกค้างอยู่ 340,000 ราย ก็เป็นหน้าที่ทั้ง dtac และ กสทช. ต้องจัดให้มีบริการต่อเนื่องไป
- การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อยังไม่มีผู้มารับช่วงต่อคลื่นไปใช้งาน การอนุมัติให้เยียวยาต่อไปได้ระยะเวลาหนึ่ง โดยที่ กสทช.และ รัฐได้รับเงินจากรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด ก็เป็นเรื่องที่ดูสมเหตุสมผล
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา