การแถลงปรับแบรนด์แพลตฟอร์มของ dtac ผู้ให้บริการมือถือของไทย ที่มีแนวโน้มว่าจะขยับลงไปเป็นอันดับ 3 ของตลาด ซึ่งเป็นผลมาจากการรุกทำตลาดอย่างหนักหน่วงของอันดับ 3 ปัจจุบันอย่าง True และการสร้าง Digital Content เต็มสูบของพี่ใหญ่ AIS ส่งผลต่อ dtac พอสมควร และการปรับแบรนด์ครั้งนี้จะชัดเจนมากขนาดไหน หลายคนอาจยังไม่เข้าใจ Brand Inside สรุปมาให้แบบเข้าใจง่าย
- สิทธิโชค นพชินบุตร แม่ทัพการตลาด CMO ของ dtac บอกว่า ด้วยความเคารพคู่แข่งแต่ dtac เห็นต่างจาก AIS และ True และมองว่าการทุ่มแข่งขันโดยการซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศไม่ใช่ทางออก ผู้บริโภคไม่ได้รับประโยชน์ แต่เป็นการขนเงินออกไปจ่ายให้เจ้าของลิขสิทธิ์นอกประเทศ ประโยคนี้ถือเป็นคีย์แมสเสจแรก ที่ dtac ต้องการบอกว่า แม้จะไม่มีคอนเทนต์ต่างประเทศหวือหวา แต่ dtac ขอย้อนกลับมาสู้ศึกที่จุดเริ่มต้นง่ายๆ
- เริ่มจาก dtac ต้องกล้าเปลี่ยน โดยทำลายความกังวลใจว่า ถ้าเอาระบบ FUP ออกแล้ว จะส่งผลเสียต่อการใช้งานโครงข่าย รายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตจะลดลง ต้องเอาแนวคิดเหล่านี้ออกไป แล้วยกเลิกระบบ FUP พร้อมกับเปิดให้ผู้ใช้บริการโทรหากันได้แบบไม่อั้น
- สำหรับคนที่ไม่เข้าใจ FUP คือ Fair Usage Policy แปลเป็นภาษาง่ายๆ ว่า ถ้าใช้เน็ต เช่น 3G, 4G จนถึงที่กำหนด ความเร็วที่ได้จะลดลงเหลือความเร็วขั้นต่ำแต่ยังสามารถใช้งานต่อได้ (แบบช้าๆ)
- ประโยคสำคัญต่อมา สิทธิโชค บอกว่า ผู้บริโภคไม่เข้าใจเงื่อนไขที่ผู้ให้บริการมือถือกำหนดขึ้น เช่น unlimited ใช้ได้ไม่จำกัด แต่ปรับลดความเร็วลงตาม FUP รวมถึงการโทรหากันฟรีไม่จำกัด แต่กำหนดเวลาในการใช้งาน แบบนี้สร้างความสับสน ดังนั้น dtac จึงจัดแพ็คเกจให้สอดคล้องกับแนวคิดการ FLIP IT – แค่พลิก ชีวิตก็ง่าย ไม่ต้องคิดมาก อธิบายกันให้ชัด
- เริ่มจากแพ็คเกจ GO โนลิมิต ทั้งรายเดือนและเติมเงิน ใช้เน็ตได้ไม่จำกัด โทรหากันในเครือข่าย dtac เฉพาะในประเทศก็ไม่จำกัด แต่แตกต่างกัน โดย dtac รายเดือน ราคาเริ่มต้น 499 บาทต่อเดือน ความเร็ว 1Mbps และความเร็วจะเพิ่มขึ้นตามแพ็คเกจที่ราคาสูงขึ้น ส่วน dtac เติมเงิน ราคาเริ่มต้น 15 บาท ความเร็ว 256Kbps และความเร็วจะเพิ่มขึ้นตามแพ็คเกจราคาที่เติมเงิน ไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม
- สำหรับ Go โนลิมิต เหมาะมากสำหรับคนที่ชอบใช้เน็ตแต่ไม่ชอบให้ความเร็วลดลง แต่ต้องดูพฤติกรรมตัวเองว่าชอบใช้งานอะไรเป็นหลัก และเลือกแพ็คเกจราคาที่ตรงกับความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ต้องการ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย และยังโทรหาในเครือข่าย dtac ได้แบบไม่อั้นตลอดเวลา
- แต่ไม่ต้องห่วง สำหรับการนำแพ็คเกจเน็ตไม่จำกัดไปใช้ผิดวิธี เช่น โหลดบิท, ปล่อยไวไฟ หรือใช้เชิงพาณิชย์ dtac จะมีมาตรการป้องกันออกมาแน่นอน
- สิ่งใหม่ต่อมาคือ ซิม Go เพลิน หลักการง่ายๆ คือ สำหรับคนที่มีรายได้น้อย หรือยังไม่มีรายได้ (เช่น นักเรียน) ซิม Go เพลิน คิดค่าโทร 55 สตางค์/นาที ทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เน็ตได้ไม่จำกัดที่ความเร็ว 64Kbps สามารถแชทหากันได้ตลอดเวลา
- ประเทศ ตันกุรานันท์ CTO ของ dtac บอกว่า แม้ dtac จะจัดแพ็คเกจที่ทำลาย FUP เพื่อให้ลูกค้าใช้ได้แบบไม่ต้องกลัวความเร็วเน็ตลดลง แต่ต้องรู้ว่าคือค่าเฉลี่ยในเวลาปกติเท่านั้น เพราะไม่มีผู้ให้บริการมือถือรายใดในโลกนี้ ที่การันตีความเร็วขั้นต่ำได้ เนื่องจากมีหลายปัจจัย เช่น ประเภทการใช้งาน (แชท ไม่จำเป็นต้องใช้ 4G), อุปกรณ์ไม่รองรับ, พื้นที่มีการใช้งานหนาแน่นมาก (คอนเสิร์ต) แต่โดยพื้นฐานแล้วผู้ใช้จะได้ความเร็วเน็ตตามที่ระบุ
- อีกหนึ่งส่วนคือ บริการเสริม หรือ dtac reward ที่เริ่มทำอย่างต่อเนื่องมากขึ้น มีสิทธิพิเศษต่างๆ มาให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์ แต่สิ่งที่ dtac ต้องเร่งสร้างคือ เอกลักษณ์ของบริการเสริมพิเศษ เพื่อสร้างการจดจำ และยกระดับในสไตล์ของ dtac ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย
- อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า แพ็คเกจนี้จะเป็นตัวจุดชนวนสงครามราคาอีกรอบ จากเดิมปีที่ผ่านมามีสงครามแจกเครื่อง และสงครามให้ปริมาณอินเทอร์เน็ตมากเป็นพิเศษ ซึ่งการยกเลิกระบบ FUP ของ dtac นั้น ถ้าได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เชื่อว่า ผู้เล่นอีก 2 รายอาจจัดแพ็คเกจลักษณะคล้ายๆ กันออกมาแข่งขัน
- ส่วนหนึ่งการจัดแพ็คเกจบริการที่ยกเลิก FUP เพราะ dtac คือผู้ให้บริการรายเดียวที่มีเพียงโครงข่ายไร้สายเท่านั้น True มี True Online และ TrueVisions ส่วน AIS กำลังเร่งเครื่อง AIS Fibre อยู่ ดังนั้นทางสู้ศึกนี้ของ dtac คือจัดบริการที่ดึงดูดใจให้ใช้เน็ตไร้สายทั้งในบ้าน และนอกบ้าน (เช่น อยู่บ้านก็ปล่อยสัญญาณไวไฟจากมือถือได้เลย)
- สิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่บ้าง คือ การยกเลิก FUP อาจเป็นการปฏิวัติวงการให้บริการอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องมีการลดความเร็วอีก แต่โครงข่ายของ dtac จะสามารถรองรับการใช้งานหนักได้มากแค่ไหน และถ้าผู้เล่นรายอื่นจัดแพ็คเกจมาสู้ (ซึ่งปัจจุบันก็พอมีอยู่บ้างแล้ว) อาจทำให้ปริมาณการใช้เน็ตพุ่งสูงขึ้นเกินจริง
- สุดท้ายแล้วแนวคิด FLIP IT จะพลิกสถานการณ์ธุรกิจของ dtac ได้หรือไม่ เรื่องทั้งหมดยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา