ศึกษาตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไปกับ “ดีแทค” ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมที่อาสาพลิกโฉมภาพรวมอุตสาหกรรมนี้

“มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย เพราะมีบางบริษัทนำเข้าจากจีนมาขายเป็น 10 แล้ว แต่มันกลับไม่เป็นที่นิยมนัก ผ่านความไม่พร้อมในหลายจุด ซึ่งจากนี้ไปมันจะไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว หลัง ดีแทค ประกาศรุกตลาดนี้เต็มที่

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

เริ่มจากความอยาก Go Beyond Connectivity

เรียกว่าสร้างความตื่นเต้นให้กับวงการโทรคมนาคม และตลาดมอเตอร์ไซค์เป็นอย่างมาก หลังดีแทคประกาศพัฒนา Electric Vehicle Connectivity Platform หรือตัวกลางเชื่อมต่อยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า โดยเริ่มต้นที่กลุ่มมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าก่อน เพราะมันเป็นการก้าวข้ามบริการเดิมๆ ที่ดีแทคเคยทำมาก่อนหน้านี้

พิพัฒน์ ศรีมัธยกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรของดีแทค เล่าให้ฟังว่า ด้วยตัวองค์กรอยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากว่า 30 ปี และต้องการเป็นมากกว่าแค่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ จึงเริ่มพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ผ่านการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ และผลสรุปล่าสุดคือการทำแพลตฟอร์มสำหรับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

“ดีแทคต้องการ Go Beyond Connectivity ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ทำมาแล้ว เช่นโครงการ Smart Farming และเราก็อยากประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิด Smart City เหมือนกัน แต่ด้วยมันเป็นภาพใหญ่ ดีแทคจึงมองเรื่องย่อยๆ ผลจึงออกมาที่แพลตฟอร์มเชื่อมต่อยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และเริ่มด้วยมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าก่อน”

สำหรับ Electric Vehicle Connectivity Platform ของดีแทคนั้นจะเริ่มให้บริการในเดือนมิ.ย. โดยช่วงเวลานั้นจะมีตู้สลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าราว 10 จุดกรุงเทพ ก่อนขยายเป็น 100 จุดในช่วงปลายปี 2562 ผ่านการมีมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเข้าร่วมในแพลตฟอร์มนี้ 3 แบรนด์ ก่อนขยายเป็น 10 แบรนด์ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งช่วงเดียวกันนั้นจะมีการให้บริการสินเชื่อจากธนาคารต่างๆ เช่นเดียวกัน

ได้พาร์ทเนอร์ช่วยขับเคลื่อนตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตามการที่ดีแทคเริ่มต้นกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าก่อนก็เพราะมีพาร์ทเนอร์ทั้งบมจ.เอ็มวิชั่น ที่ช่วยดูแลเกี่ยวกับการหาแบรนด์มอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาด และบมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส หรือเจ้าของ “ตู้บุญเติม” ช่วยดูแลระบบสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มีความจำเป็นอย่างมากหากต้องการให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเป็นที่นิยม

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

“ดีแทคคงไม่นำเข้ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาขายเอง รวมถึงโรงงานมอเตอร์ไซค์ และการปล่อยสินเชื่อด้วย เพราะไม่ใช่จุดแข็งของเรา แต่ดีแทคจะพัฒนาแอปพลิเคชั่น และแพลตฟอร์มให้ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อ และยกระดับอุตสาหกรรมนี้ไปพร้อมๆ กับพาร์ทเนอร์รายอื่น”

ขณะเดียวกันดีแทคยังต้องการหาพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มากกว่าเดิมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลการจัดการแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า, ผู้นำเข้ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และธนาคารต่างๆ ส่วนที่เลือกมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าก่อนรถยนต์ไฟฟ้า เพราะมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามีราคาที่ต่ำกว่าทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ยังไม่คาดหวังรายได้ แต่มันคือธุรกิจที่มีอนาคตไกล

“ตอนนี้ตัวแพลตฟอร์มนี้อยู่ระหว่างทำตัว Business Model อยู่ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันอาจเปลี่ยนจากตอนนี้ที่ผมบอกก็ได้ และที่สำคัญคือมันต้องมีรายได้ แต่ อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทคยังบอกกับทีมผมที่มีไม่ถึง 10 คนว่าอยากให้จริงจังเรื่องประสบการณ์ใช้งานก่อน เพราะถ้าทำได้ดี อีก 3-5 รายได้มันก็จะเกิดขึ้นเอง”

ทั้งนี้ตัวโมเดลการสร้างรายได้จะไม่ใช่คิดค่าบริการวอยซ์ และดาต้าเหมือนกับโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นการนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจที่ดีแทค และพาร์ทเนอร์ทำอยู่มากกว่า เช่นการนำระบบ GPS ที่อยู่ในแพลตฟอร์มมาใช้กับร้านค้าในดีแทค รีวอร์ด หรือการวิเคราะห์การขับขี่เพื่อใช้กับธุรกิจประกันภัยเป็นต้น

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ส่วนมุมมองตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้านั้นดีแทคคิดว่า ภายใน 5 ปีน่าจะได้รับความนิยมมากกว่าเดิมแน่นอน เพราะรัฐบาลเริ่มใส่ใจกับเรื่องมลภาวะ และการหาเสียงของพรรคการเมืองเกือบทุกรายก็มีเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาก็จะช่วยให้ดีแทคสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตได้

ฝั่งผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าต่างเร่งเกมทำตลาด

แม้ Electric Vehicle Connectivity Platform ของ dtac จะเริ่มให้บริการได้ในช่วงเดือนมิ.ย. 2562 แถมมีแผนพัฒนาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย แต่ฝั่งผู้ผลิต และจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าก็เตรียมความพร้อมที่จะทำตลาดอย่างเต็มที่

อารีรัตน์ ศรีประทาย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พาวเวอร์สตาเลียน จำกัด เล่าให้ฟังว่า ในฐานะที่บริษัทมีโรงงานผลิตมอเตอร์ไซค์ และมีไลน์ผลิตที่ว่างอยู่ จึงพร้อมรับข้อเสนอจากแบรนด์ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าหน้าใหม่ในไทยเพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ให้เดินหน้าได้อย่างเต็มที่

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน ณัฐพัชร เลิศวิริยะสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท เอดิสัน มอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์ Edison เล่าให้ฟังว่า การมีแพลตฟอร์มของดีแทคช่วยให้การทำตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าง่ายขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ผู้ซื้อค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับการใช้งาน และประสิทธิภาพของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

“Edison มองข้ามคู่แข่งจากจีนที่พัฒนามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้ไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ามอเตอร์ไซค์ที่ใช้น้ำมัน ผ่านการพัฒนาให้มันมีประสิทธิภาพเทียบเท่า ยิ่งการมีแพลตฟอร์มของดีแทคก็ทำให้รถของเรามันฉลาดมากขึ้น เพราะหลังจากนี้ยานพาหนะมันไม่ใช่ใช้เพื่อพาเราเดินทางจากจุด A ไปจุด B แต่มันคืออุปกรณ์อัจฉริยะอีกชิ้นหนึ่ง”

สรุป

การเกิดขึ้นของ Electric Vehicle Connectivity Platform ที่ดีแทคพัฒนาขึ้น ก็ช่วยยกระดับตลาดยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในประเทศไทยไปอีกขั้น และมันก็แก้ปัญหาฝุ่นพิษที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคงต้องจับตาดูต่อไปว่าเมื่อแพลตฟอร์มนี้เสร็จแล้ว ตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทยจะพลิกโฉมไปขนาดไหน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Branded Content เป็นบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์