ชื่อของ Blockchain เทคโนโลยีใหม่ที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องทางการเงิน แต่ความจริงแล้ว Blockchain จะเข้ามาจัดการกับ “ข้อมูล” ในทุกๆ เรื่องในชีวิตประจำวันอย่างคาดไม่ถึง ล่าสุด dtac ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลเองก็สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี Blockchain เต็มตัว เพื่อให้สอดคล้องกับแผน digital brand 2020
ลาร์ส นอร์ลิ่ง CEO ของ dtac บอกว่า รายงานการใช้งานดาต้าผ่านอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยบนมือถือโครงข่ายดีแทคต่อคนต่อเดือนจากตุลาคม พ.ศ. 2557 เทียบกับ ตุลาคม พ.ศ. 2559 เพิ่มเกือบ 200% ในขณะที่ข้อมูลจาก www.internetworldstats.com ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 รายงานการจัดอันดับ 20 ประเทศที่มีผู้ใช้งานการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสูงสุด มีประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 19 ของโลก โดยไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 41 ล้านคน จากประชากรไทยประมาณ 68.2 ล้านคน โดยเพิ่มสูงถึง 1682.6% เมื่อเทียบกับการใช้งานปี พ.ศ. 2543-2559 แสดงว่าประเทศไทยมีการพัฒนาสู่ดิจิทัลอย่างเร็วและน่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยกำลังประสบและเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมเทคโนโลยีในอนาคต คือ “กรอบนโยบายที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในอนาคต” เพื่อรองรับต่อปริมาณการใช้ข้อมูลมหาศาลหรือ “บิ๊กดาต้า (Big Data)” อันเกิดจากเทคโนโลยีการสื่อสารในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น 5G และ Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า
dtac คาดว่า ด้วยการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่สูงมาก และการใช้ IoT ในไทย Blockchain จะมีบทบาทอย่างมาก และเข้ามาเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจในทุกภาคส่วนของไทย สร้างการเติบโตให้แก่ประเทศผ่านเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลการพัฒนาของประเทศ Thailand 4.0 ที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อยกระดับรายได้ประชาชนและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
Alex Tapscott ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัทกองทุน นอร์ธเวสต์ พาสสาจ (Venture Capital) กูรูด้าน Blockchain ที่ลงทุนในบล็อกเชน ตลอดระยะเวลา 7 ปี ในตลาดทุนแคนาดาและสหรัฐอเมริกา โดยเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบล็อกเชนที่ได้รับการยอมรับและพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ยืนยันว่า Blockchain จะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกยุคปัจจุบัน เหมือนที่ครั้งหนึ่ง Internet เคยทำให้เกิดขึ้นมาแล้ว
ดังนั้น องค์กรของไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องปรับปรุงกฎระเบียบ และสร้าง ecosystem ให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง
Blockchain เป็นนวัตกรรมที่มาจัดการ “ข้อมูล” ให้มีความปลอดภัย โดยใช้แนวคิดว่า ให้ทุกฝ่ายรับรู้ข้อมูลร่วมกัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางในการส่งข้อมูล ซึ่งทั้งหมดไม่ได้จำกัดอยู่ในโลกการเงินแต่ครอบคลุมถึงส่วนอื่นๆ เช่น การโอนเงิน, การโอนที่ดิน, การซื้อขายเพชร กล่าวได้ว่า Blockchain เข้ามาช่วยจัดการเรื่องของข้อมูล
Blockchain ได้แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มในอนาคต ทุกอย่างจะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความน่าเชื่อถือ
เป้าหมายของการส่งเสริมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ มาขับเคลื่อนและสนับสนุนสู่ศักยภาพการแข่งขัน โดยเฉพาะภาครัฐที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ กรอบแผนงานเหล่านี้ควรมุ่งเน้นให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาของภาคธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ และขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่างๆ จะได้มุ่งสู่ประชาชนในการเข้าถึงการใช้งานอย่างแท้จริง รวมถึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และความถี่ต่างๆ เพื่อนำมาใช้งานในประเทศไทยด้วยศักยภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา