หลัง dtac และโอเปอเรเตอร์รายอื่นเห็นตรงกันว่าไม่เข้าประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz กสทช. ก็ต้องกลับไปแก้กฎเกณฑ์ใหม่ แต่สุดท้ายแล้วหนังสือชี้ชวนการลงทุนประมูลคลื่นดังกล่าวก็ไม่ดึงดูดค่ายใบพัดสีฟ้าอยู่ดี
ถึงจะซอยย่อย-ไม่มี n-1 แต่ก็ยังไม่โดนใจ
ปัจจุบันกสทช. มีการปรับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz โดยซอยย่อยคลื่นความถี่ออกมาเป็นช่วงละ 5 MHz จากเดิมที่ต้องประมูลเป็นก้อนใหญ่ รวมถึงยกเลิกเรื่อง N-1 หรือจำนวนผู้ชนะประมูลต้องน้อยกว่าผู้เข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 1 รายเสมอ เพื่อจูงใจให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือเข้าร่วมประมูล
โดยเฉพาะกับ dtac ที่กำลังจะเหลือแค่คลื่นความถี่สูงคือ 2100 กับ 2300 MHz เพราะคลื่น 850 กับ 1800 MHz กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานแล้ว แต่สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมันก็ไม่ได้จูงใจให้ผู้ให้บริการรายนี้ร่วมประมูลอยู่ดี ผ่านข้อบังคับที่ไม่สมเหตุผลกับผู้ที่ชนะการประมูลครั้งนี้
ราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ dtac ยอมรับว่า ตัวคลื่น 1800 MHz นั้นทางบริษัทกำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจ ส่วนคลื่น 900 MHz เมื่ออ่านโดยละเอียดแล้วมันค่อนข้างสร้างความลำบากให้ผู้ชนะการประมูลเป็นอย่างมาก
ลงุทนติดเครื่องป้องกันการรบกวนสัญญาณไม่คุ้มแน่
เรื่องแรกคือหาก dtac ชนะประมูลก็ต้องลงทุนเรื่องอุปกรณ์ใหม่ เพราะปัจจุบันบริษัทให้บริการอยู่บนคลื่นความถี่ 850 MHz แต่คลื่นใหม่ที่ประมูลได้คือคลื่น 900 MHz และเรื่องถัดมาคือ ผู้ชนะประมูลคลื่นนี้ต้องลงทุนติดตั้งเครื่องป้องกันการรบกวนของสัญญาณเพื่อไม่ให้ไปกวนกับคลื่นที่ True, การรถไฟ และ AIS ใช้งานอยู่
“แม้กสทช. จะระบุในเอกสารว่าจะปรับราคาขั้นต่ำลง 2,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่าการลงทุนติดตั้งตัวป้องกันการรบกวนของสัญญาณมันต้องมีมูลค่ามากกว่านั้นแน่ ไหนจะ True ที่มีกว่า 13,000 ไซต์ ไหนจะ AIS อีก รวมถึงการรถไฟที่เรา และกสทช. เองก็ไม่รู้ว่ามีจำนวนกี่ไซต์ ดังนั้นมันต้องมากกว่าราคาที่กสทช. ให้มาแน่ๆ”
สำหรับอุปกรณ์ป้องกันการรบกวนของสัญญาณเบื้องต้นมีน้ำหนักราว 60 กก. ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเปิดประตูเข้าไปติดตามไซต์ต่างๆ และอาจไปสร้างความรบกวนแก่เจ้าของพื้นที่ ที่สำคัญการระบุออกมาแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้กสทช. ถูกฟ้องร้องจากผู้ใช้คลื่นความถี่ที่ใกล้กับคลื่นใหม่ที่จะประมูล
สลับคลื่นเมื่อไรก็ได้หากยังมีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวน
และเรื่องสุดท้ายที่ dtac กังวลคือการมีโอกาสสลับช่วงใช้คลื่นความถี่ได้ทุกเมื่อหากยังเกิดการรบกวนอยู่ ไล่ตั้งแต่การสลับช่วงกับคลื่น 900 MHz ของการรถไฟกับคลื่นที่ประมูล จนไปถึงการนำคลื่นที่ประมูลได้ไปอยู่ในช่วงความถี่อื่นๆ ที่ยังไม่กำหนดชัดเจนในตอนนี้
“ตัวข้อกำหนดที่เรากังวลมันไล่ตั้งแต่ข้อ 16, 17 และ 18 ในเอกสารประมูลคลื่น เพราะสมมติเราติดตั้งตัวป้องกันคลื่นรบกวนไปแล้วถูกสลับคลื่น ก็เท่ากับว่าการลงทุนนั้นเสียเปล่าไปเลย ยิ่งกสทช. บอกว่าต้องรอเวลา 1 ปีถึงจะรู้ว่ามันกวนหรือไม่ เราก็มองว่ามันช้าไปแล้ว และกลายเป็นปัญหาอีกครั้งของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม”
อย่างไรก็ตามหาก dtac ชนะประมูลคลื่น 900 MHz จริง ก็จะขอให้ใช้มาตรการเยียวยากับลูกค้าที่ใช้บริการคลื่น 850 MHz เป็นระยะเวลา 24 เดือน เพราะการจะไล่ปรับอุปกรณ์กว่า 13,000 ไซต์นั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่เพื่อยกระดับการให้บริการก็เตรียมขยายไซต์คลื่น 2100 กับ 2300 MHz รวมกว่า 13,000 แห่ง
สรุป
เรียกว่าเป็นเรื่องน่าปวดหัวของ dtac กับคลื่นในมือที่กำลังจะหายไปจริงๆ เพราะสมมติว่าคลื่น 850 นั้นถูกผู้ให้บริการรายอื่นประมูลไป แล้ว dtac ไม่สามารถย้ายฐานลูกค้าได้ทัน เท่ากับว่าลูกค้าก็หายไปเลย ดังนั้นคงต้องดูยาวๆ ว่าข้อเรียกร้องของ dtac จะสำเร็จหรือไม่ เพราะตอนนี้หลักเกณฑ์การประมูลได้ประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา