การใช้งาน 5G ในระดับโลกกำลังจะเริ่มต้นในปี 2020 อย่างเป็นทางการ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องผ่านการเตรียมพร้อมทั้งเรื่องคลื่นความถี่, อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ และการประยุกต์ใช้ ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยการวางแผน และการร่วมมือกันทุกภาคส่วน ที่สำคัญ 5G ต้องทำการทดสอบทดลองก่อนนำไปใช้จริง และนั่นคือสิ่งที่ “ดีแทค” ต้องการจะเดินหน้า
5G กับฟันเฟืองในการขับเคลื่อนไทยด้วยนวัตกรรม
เชื่อว่ามีหลายคนที่ยังเข้าใจเรื่อง 5G ว่ามันการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือที่เร็วขึ้นเพียงแค่นั้น แต่จริงๆ แล้ว 5G มันสามารถสร้างประโยชน์ให้กับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ผ่านจุดเด่นเรื่องความเสถียรในการรับส่งสัญญาณ รวมถึงความหน่วงที่มีน้อยทำให้การสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ทำได้รวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามที่ว่ามาทั้งหมดนี้ 5G ยังไม่ได้มีบริการเป็นสูตรสำเร็จ ถ้าเปรียบ 5G เป็นหนังสือวันนี้โลกเรายังอยู่กับ 5G แค่คำนำ ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาการบริการ เราคงต้องทดสอบทดลองใช้ในบทแรก ก่อนจะเข้าสู่บทต่อไปเพื่อรู้จักกับบริการ 5G ทำอะไรได้ แล้วค่อยไปสู่การใช้งานอย่างแพร่หลาย ซึ่งวันนี้เป็นยุคต้นๆ ของ 5G ก็ว่าได้ เพราะมีไม่ถึง 10 ประเทศที่เตรียมจะให้บริการในเชิงพาณิชย์ และถึงให้บริการแล้วก็ยังไม่ได้ครอบคลุมทั้งประเทศ จึงเรียกว่า 5G ส่วนใหญ่ที่เห็นๆ กันมันคือการทดลองมากกว่า
สำหรับในประเทศไทยนั้นสำนักงาน กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE ก็มีการทดสอบในแง่มุมต่างๆ ผ่านการร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการทดสอบ 5G EEC ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา โดยมีจุดประสงค์หลักคือหาตัวอย่างการใช้งาน หรือ Use Case ที่น่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ในการยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศด้วยนวัตกรรมการสื่อสารใหม่อย่าง 5G
การทดลอง 5G คือเรื่องจำเป็นก่อนนำไปใช้จริง
“กระทรวงมองการประยุกต์ใช้ 5G กับ National Single Window หรือการควบคุมท่าเรือเข้าออกอย่างแม่นยำ รวมถึงการนำไปใช้ทางการแพทย์ และการคุยกับไปรษณีย์ไทยเพื่อใช้โดรนในการส่งพัสดุต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้มันอยู่บนการเชื่อมต่อ 5G และทำให้เกิด Smart City ได้จริง” วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวง DE กล่าว
แต่การทดสอบ 5G เพื่อหา Use Case ที่ใช้ได้จริงนั้นไม่ใช่ให้ฝ่ายใด รับผิดชอบเพียงอย่างเดียว จะต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน คือฝั่งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หรือโอเปอเรเตอร์ทั้งหมดทุกรายต้องช่วยเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ซึ่ง “ดีแทค” ก็เป็นอีกรายที่สนับสนุนและเตรียมเริ่มทดลองในพื้นที่ที่กำหนดทดสอบ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชานั่นเอง
ขณะเดียวกันการทดสอบนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ด้วย และเป็นบมจ.กสท โทรคมนาคม หรือ CAT กับบมจ.ทีโอที มาช่วยกันทดสอบ 5G ผ่านการติดตั้งตัวเซ็นเซอร์จับค่าฝุ่น PM 2.5 และ Smart Pole หรือเสาอัจฉริยะที่ตอบโจทย์เรื่อง Infrastructure Sharing หรือการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันเพื่อประหยัดต้นทุน
มากกว่าทดลองคือข้อกฎหมาย และ Spectrum Roadmap
ในทางกลับกันถึงจะทดลองจนได้ Use Case ที่มีประสิทธิภาพแล้ว ในฝั่งกำกับกิจการโทรคมนาคมก็ต้องมีส่วนร่วมที่มากกว่าการกำกับพื้นที่ทดลองเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเรื่องข้อกฎหมายในการกำกับ รวมถึงการออกแผนจัดสรรคลื่นความถี่ หรือ Spectrum Roadmap ที่ชัดเจนด้วย
“การให้บริการ 5G ต้องการใช้คลื่นทั้งย่านความถี่สูง-กลาง-ต่ำ ดังนั้นการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างที่ชัดเจน และกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่ให้เหมาะสมก็จำเป็น นอกจากนี้การใช้ Infrastructure Sharing รวมถึงการมีความร่วมมือจากภาครัฐก็สำคัญเช่นกัน” อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทค กล่าว
ดังนั้นหากปัจจัยต่างๆ ข้างต้นสามารถเกิดขึ้นจริง อนาคตของ 5G ในไทยก็คงไม่ไกลเกินฝัน แต่ด้วยสถานการณ์ที่หน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคมก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องคลื่นความถี่ ที่เรียกว่าแผนการจัดสรร หรือ Spectrum roadmap และไหนจะติดล็อคเรื่องวิธีการการจัดสรรคลื่นเดิม ต่อด้วยกฎระเบียบอะไรอีกมาก ก็ไม่แปลกที่การให้บริการ 5G นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐอีกมาก 5G จึงไม่น่าใช่เรื่องง่ายๆ
สรุป
เมื่อ 5G คืออนาคต และอีกฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนหลากหลายอุตสาหกรรมผ่านการเชื่อมต่อที่รวดเร็ว และแม่นยำ ซึ่งมันคงจะดีถ้าทุกปัจจัยข้างต้นมันสามารถสรุปออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สุดท้ายแล้ว 5G ของไทยจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องติดตามกันต่อไป และเชื่อว่าคงไม่ใช่การนำสูตรสำเร็จ Use Case จากต่างประเทศมาใช้งานตรงๆ แน่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา