อ่านเกมการตลาดของ dtac ในยุค 5G หลังเป็นผู้ชนะประมูลใบอนุญาตน้อยที่สุด

หลังจากนี้แผนการตลาดของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจะดุเดือดขึ้นอีกครั้ง เพราะผู้เล่นทุกรายต่างได้คลื่นที่รองรับเทคโนโลยี 5G แต่ด้วย dtac เป็นผู้ชนะประมูลใบอนุญาตน้อยที่สุด ก็ยิ่งน่าสนใจว่า dtac จะทำอย่างไร

dtac
ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ dtac

กำหนดมาแล้วไม่ใช่ไม่สู้

แม้ระยะหลังภาพลักษณ์แบรนด์ของ dtac จะดีขึ้นมาบ้าง ผ่านโครงข่ายให้บริการที่ดีขึ้น รวมถึงบริการเสริมต่างๆ ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้าในระบบได้ดีกว่าเดิม แต่สุดท้ายภาพลักษณ์ของ dtac ก็แย่ลงอีก เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นข่าวว่า dtac เป็นผู้ชนะประมูลใบอนุญาต 5G ได้น้อยที่สุด ความเชื่อมั่นในแบรนด์ของพวกเขาก็ลดลงทันที

แต่ถึงสถานการณ์จะเป็นแบบนี้อยู่ ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ dtac ก็พยายามสื่อสารเรื่องความครบถ้วนของคลื่นความถี่ รวมถึงกลยุทธ์ของ dtac ที่อาจจะแตกต่างกับผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าในระบบนั้นทำได้ดีกว่าเดิม

dtac

“ในเกมกีฬา ผู้เล่น หรือทีมต่างๆ ก็มีกลยุทธ์ของตัวเอง จึงเป็นปกติที่ในแต่ละการแข่งขัน คนนอกก็จะเห็นหลากหลายกลยุทธ์ เหมือนกับครั้งนี้ที่ dtac ก็มีกลยุทธ์ของตัวเอง และเชื่อว่าการที่ผลประมูลออกมาแบบนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสมกับทั้งบริษัท และลูกค้าในระบบ ที่สำคัญ dtac ก็พร้อมลุยผ่านกลยุทธ์นี้ด้วย” ชารัด เมห์โรทรา กล่าว

26 GHz คือคำตอบสุดท้าย

การประมูล 5G ที่เพิ่งเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2563 นั้น dtac ชนะเพียง 2 ใบอนุญาต นั่นคือใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 26 GHz จำนวนใบอนุญาตละ 100 MHz รวม 200 MHz ถือว่าเป็นผู้ชนะที่ได้รับใบอนุญาตน้อยที่สุด เท่ากับบมจ.กสท โทรคมนาคม ที่ได้ใบอนุญาต 2 ใบเช่นกัน โดยอันดับสูงกว่านั้นคือบมจ.ทีโอที ที่ได้ 4 ใบอนุญาต

5G

“เมื่อดูตอนนี้ dtac ขาดคลื่นความถี่สูง เพราะมีคลื่นความถี่ต่ำ 700 กับ 900 MHz และคลื่นความถี่กลาง 1800, 2100 และ 2300 MHz ซึ่งในการประมูล 5G ครั้งที่ผ่านมามันมีคลื่นความถี่สูงแค่ 26 GHz ทาง dtac จึงเลือกแค่คลื่นนี้ เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของคลื่นความถี่ในมือ และให้บริการได้ดีที่สุด” ชารัต เสริม

ขณะเดียวกันที่ dtac เลือกคลื่น 26 GHz เพียงคลื่นเดียวก็มาจากตอนนี้คลื่นความถี่ 28 GHz ถูกใช้ทดสอบ 5G ทั้งในกลุ่มยุโรป และเกาหลีใต้ ต่างกับ 26 GHz ที่ยังไม่แพร่หลาย จึงมีความเป็นไปได้ที่คลื่น 28 GHz จะได้รับความนิยมกว่า และช่วงคลื่น 26 GHz ที่ dtac ชนะประมูลนั้นตัวเทคโนโลยีก็ประยุกต์ใช้กับคลื่น 28 GHz ได้ด้วย

dtac

เริ่มเห็น 5G ได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้

สำหรับการให้บริการ 5G ของ dtac ผู้บริโภคจะได้เห็นภายในไตรมาส 2 ของปี 2563 เบื้องต้นจะให้บริการบนคลื่น 26 GHz ส่วนตัวอย่างการใช้งานจะเป็นการยกระดับบริการ dtac@Home (บริการอินเทอร์เน็ตบ้านด้วยสัญญาณโทรศัพท์มือถือ) ผ่านความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่มากกว่าเดิมที่ให้บริการผ่านคลื่น 2300 MHz ในปัจจุบัน

“หลังจากนี้ dtac มีแผนลงทุน 13,000-14,000 ล้านบาทในเบื้องต้น เพื่อยกระดับงานบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงข่าย 5G ความสะดวก รวมถึงประสิทธิภาพในการใช้งานของผู้บริโภค ซึ่งที่จะได้เห็นแน่นอนคือ สถานีฐานที่ให้บริการ 4G บนคลื่น 2300 MHz จะเพิ่มจาก 17,000 แห่ง เป็น 20,000 แห่งภายในปีนี้” ชารัต กล่าว

dtac

นอกจากนี้เพื่อการสื่อสารข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ dtac จึงสร้างสมาชิกใหม่ (มาสคอต) ปัจจุบันยังไม่มีชื่อ โดยมสมาชิกใหม่นี้จะคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับ 5G และบริการต่างๆ ของ dtac รวมถึงจัดทำภาพยนตร์โฆษณาเกี่ยวกับการบริการ 5G ของ dtac เช่นเดียวกัน

สรุป

ก่อนหน้านี้ dtac เคยประสบปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ที่ดูไม่ดีนักในสายตาผู้บริโภคหลังไม่สามารถชนะประมูลคลื่นเพื่อนำไปใช้ทำ 4G ได้ แต่สุดท้ายก็สามารถกู้วิกฤติ และดึงลูกค้ากลับมาได้ แต่คราวนี้ dtac จะฝ่าวิกฤติภาพลักษณ์แบรนด์หลังการประมูลได้อีกครั้งหรือไม่ อันนี้ก็อยู่ที่ผู้บริโภคเป็นคนตัดสิน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา