แม้ True จะยังไม่ประกาศผลประกอบการปี 2563 แต่เชื่อว่า dtac ยังมีฐานลูกค้าเป็นอันดับที่ 3 ของตลาดในปีดังกล่าว แล้วอย่างนี้ dtac จะทวงคืนเบอร์ 2 หรือเพิ่มฐานลูกค้าในปี 2564 ได้หรือไม่ ลองมาดูแผนต่างๆ ในปีนี้กัน
dtac กับคลื่นความถี่ครบมือเหมือนคู่แข่ง
ในวันที่เขียนบทความเป็นวันที่ 22 ก.พ. ซึ่งกลุ่ม True ยังไม่แถลงผลประกอบการของปี 2563 เพราะทางกลุ่มจะชี้แจงในวันที่ 25 ก.พ. แต่ด้วยตัวเลขในสิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 กลุ่มทรูมีฐานลูกค้าในธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่ 30.1 ล้านเลขหมาย ไม่น่าจะมีน้อยกว่าที่แจ้งผลประกอบการปี 2563 ไปแล้วว่ามีลูกค้าทั้งหมด 18.9 ล้านเลขหมาย
อย่างไรก็ตาม dtac ได้แถลงแผนธุรกิจประจำปี 2564 มาแล้ว และถึงจะไม่ได้ย้ำว่าต้องการชิงเบอร์สองกลับมา แต่ ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac ก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อดึงความเชื่อมั่นของลูกค้ากลับมาด้วยวิธีต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการถือคลื่นความถี่ครบมือเหมือนที่คู่แข่งมี
“เรามีคลื่นความถี่ครอบคลุมตั้งแต่คลื่นความถี่ต่ำ-กลาง-สูง ทำให้การให้บริการหลังจากนี้จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 5G, การให้บริการอินเทอร์เน็ตกับผู้ใช้งานทั่วไทย รวมถึงการตอบโจทย์การใช้งานรูปแบบใหม่ เช่นการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ผ่านคลื่น 700, 900, 1800, 2100, 2300 และ 26000 MHz” ชารัด กล่าว
5G คือการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่เร่งขยาย
ขณะเดียวกันทาง dtac ยังยืนยันว่า 5G เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญในตอนนี้ แต่การขยายการใช้งาน 5G ต้องทำแบบมาราธอน หรือทำงานสะสมอย่างมั่นคง เพื่อให้การใช้งาน 5G เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งปัจจุบัน dtac มีการขยายโครงข่าย 5G บนคลื่น 700 MHz แล้วกว่า 3,000 สถานีฐาน สิ้นไตรมาส 1 ปี นี้ จะเป็น 4,000 สถานีฐาน
“เราเร่งมือขยาย 5G และ 4G เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานทุกคนในไทย โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่มีการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นกว่ากรุงเทพ 9 เท่า dtac ตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ดีด้วยคลื่นความถี่ต่ำ 700 และ 900 MHz ที่ส่งได้ไกลกว่าคลื่นความถี่กลาง และสูง” ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี dtac กล่าว
นอกจากนี้คลื่นความถี่สูงอย่าง 26000 MHz ทาง dtac มีการเจรจาร่วมกับพาร์ทเนอร์หลายรายเพื่อนำเทคโนโลยี 5G ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะจุดเด่นของคลื่นความถี่สูงคือการส่งข้อมูลที่เร็ว และเสถียร ส่วนคลื่นความถี่กลางอย่าง 1800, 2100 และ 2300 MHz ทางบริษัทมีการพัฒนาอยู่ตลอดเพื่อให้บริการ 4G เป็นหลัก
ยกระดับดิจิทัลเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต
ในทางกลับกัน dtac เตรียมติดอาวุธการตลาดด้วยการยกระดับการใช้ชีวิตให้กับลูกค้า dtac ด้วยบริการดิจิทัลหลากหลายรูปแบบ ไล่ตั้งแต่การนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยออกแบบแพ็กเกจให้ตรงกับการใช้งานของลูกค้า, การตอบโจทย์ลูกค้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกช่องทาง และการสร้างบริการดิจิทัลใหม่ๆ เช่นบริการทางการเงิน และอื่นๆ
“dtac จะสร้างแบรนด์ที่มีความจริงใจ, ซื่อสัตย์ และไว้ใจได้ เพื่อให้เกิดความสบายใจสำหรับผู้ใช้งานดิจิทัล พร้อมกับร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมกรรมต่างๆ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ใหม่ เช่นการนำเสนอประกันสุขภาพ, ส่วนลดร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต หรือการโอนเงิน” ฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ดีแทค
สำหรับในปี 2564 ทาง dtac มีแผนยกระดับผู้ค้ารายย่อยให้มีพื้นที่ค้าขายบนโลกออนไลน์ รวมถึงการดำเนินโครงการ Safe Internet เพื่อยกระดับการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 50% ภายในปี 2573
สรุป
ถือเป็นอีกปีที่ dtac ต้องพยายามอย่างหนักเพื่อซื้อความเชื่อใจของผู้บริโภคให้กลับมา เพราะก่อนหน้านี้สูญเสียเรื่องนี้ไปมาก แต่การสื่อสารว่ามีคลื่นครบ หรือการยกระดับการใช้งานด้วยดิจิทัลอาจไม่เพียงพอ และยากต่อความเข้าใจของลูกค้า ดังนั้นต้องดูกันว่า dtac จะมีอะไรมากระตุ้นตลาดหลังจากนี้หรือไม่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา