ละคร – กีฬา พระเอกเรียกเรตติ้งทีวีดิจิทัล ช่อง 8 จัดรายการใหม่พร้อมลุย!

เวลานี้รายการที่สามารถเรียกเรตติ้งให้กับช่องทีวีดิจิทัลได้ดีที่สุดคือ ละคร และ กีฬา หลายช่องที่ทำละครหลังข่าวแล้วประสบความสำเร็จมีผู้ชมติดตามจำนวนไม่น้อย ถ้าไม่นับช่อง 3 ช่อง 7 แล้ว ก็มี ช่องโมโน, ช่อง 8, ช่องวัน เป็นต้น ขณะที่กีฬา ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ฟุตบอล ทั้งทีมชาติไทยและฟุตบอลต่างประเทศ ที่นอกจากเพย์ทีวีแล้ว ก็มีพีพีทีวี ที่ซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาถ่ายอย่างชัดเจน นอกจากนั้นก็จะเป็นรายการประเภทเกมโชว์ที่คนไทยนิยมอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งก็พอรู้กันว่าเจ้าพ่อรายการเกมโชว์อยู่ที่ช่องเวิร์คพอยท์

rating

ช่อง 8 ปรับรายการเพื่อความสดใหม่ เข้มและสดเหมือนเดิม

พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) บอกว่า ส่วนสำคัญของช่อง 8 คือ ต้องมีเนื้อหาเข้าถึงง่ายและดูสนุก สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว และการแข่งขันที่หนักหน่วง ซึ่งจุดแข็งของช่อง 8 คือ ละครที่มีความเข้มข้น ดังนั้นต้องทำให้เข้มข้นยิ่งกว่าเดิม

ส่วนแรกคือ early primtime หรือช่วงเวลาก่อนข่าว ตั้งแต่ 18.20 น. จะนำละครที่ไม่หนัก เน้นดราม่า, คอมเมดี้ มาสร้างสีสันให้กับกลุ่มคนที่กลับถึงบ้านเร็ว แทนที่รายการเสียงสวรรค์ ซึ่งรีรันมาจากช่วงบ่ายโมง ต่อด้วยเวลา 19.05 เป็นรายการประกวดร้องเพลงสนุกๆ ชื่อรายการ ลุ้นฝัน มันส์… ยกจอ

จากนั้นช่วงดึก 22.00 น. เป็นช่วงเวลา The 8pisode นำซีรีส์เกาหลี ที่ออกฉายใกล้เคียงกับที่ประเทศเกาหลีมานำเสนอ เพื่อสร้างกลุ่มผู้ชมใหม่ๆ ซึ่งถือว่าได้ผลเป็นอย่างดี

การเพิ่มรายการใหม่ทั้ง 2 ช่วงเวลา จะเป็นเหมือนการขยายเวลา primetime ให้ยาวกว่าเดิม เป็นทั้งการดึงให้คนดูอยู่กับช่อง 8 ต่อเนื่อง และดึงคนดูกลุ่มใหม่ๆ ไปพร้อมกัน

img_7369
พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

คอนเทนต์กีฬาโกยเรตติ้งได้ดี เมื่อฟุตบอลไม่ได้ ก็ “มวย” แล้วกัน

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า หนึ่งในคอนเทนต์ที่สร้างเรตติ้งได้สูงมากคือ กีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล แต่เมื่อติดเรื่องลิขสิทธิ์ อาร์เอส ไม่สามารถนำการแข่งขันฟุตบอลมาถ่ายทอดผ่านทีวีได้ แต่กีฬาอีกประเภทที่นิยมในไทยเช่นกันคือ มวย

มวย ถือเป็นกีฬาประเภทที่ 2 ที่คนไทยชอบดู ต้องยอมรับในอดีตอาจจะดูเพื่อการพนัน แต่ปัจจุบันเป็นการดูเพื่อความบันเทิง ดูศิลปะการป้องกันตัว และคอนเทนต์กีฬามวยนั้น อาร์เอส สามารถสร้างขึ้นได้เองเป็นการแข่งขันมวยในประเทศ และซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศเข้ามา รวม 6 รายการ คือ 8 แม็กซ์ มวยไทย, ศึกมวยโลก, UFC, เดอะ แชมเปี้ยน มวยไทยตัดเชือก, มวยไทย แบทเทิล ศึกค่ายชนค่าย และสังเวียนนักสู้ซึ่ง สามารถทำเรตติ้งได้ดี

และช่อง 8 เป็นทีวีดิจิทัลช่องแรก ที่สร้างสรรค์รายการกีฬา มวย อย่างชัดเจน จนมีช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ จัดตามมา

img-20160920-wa0013

img-20160920-wa0009

เรตติ้ง + คอนเทนต์เฉพาะ สร้างรายได้จากโฆษณา

ปัจจุบัน ช่อง 8 มีเรตติ้งทั่วประเทศเป็นอันดับ 5 มียอดคนดูประมาณ 360,000 คนต่อนาที และมีเป้าเพิ่มคนดูเป็น 400,000 คนต่อนาทีภายในปีนี้ ซึ่งการปรับรายการใหม่ เน้นละครและมวย เป็นส่วนหนึ่งที่จะเร่งให้ไตรมาสสุดท้ายทำได้ตามเป้า ท่ามกลางการแข่งขันที่หนักหน่วง

พรพรรณ บอกว่า เรตติ้ง ไม่ใช่สิ่งที่เดียวที่แบรนด์ต่างๆ จะตัดสินใจลงโฆษณา แต่ต้องดูคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องด้วย ช่อง 8 เห็นได้จากช่วงละคร จะมีสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค FMCG และสินค้าสำหรับผู้หญิงสนใจลงโฆษณา ขณะที่ช่วงกีฬามวย สินค้าสำหรับผู้ชายจะเข้ามาแทนที่ ดังนั้นต่อไปช่องทีวีดิจิทัล นอกจากจะเน้นคอนเทนต์ที่ตัวเองถนัด เพื่อสร้างคาร์แรกเตอร์แล้ว ยังต้องคิดถึงโฆษณาด้วย ว่าจะเป็นประเภทไหน

ล่าสุด ช่อง 8 มีค่าโฆษณาเฉลี่ย 30,000 บาทต่อนาที เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน และมีราคาขายสูงสุด 250,000 – 300,000 บาทต่อนาทีในช่วงละครเย็น และรายการ 8 แม็กซ์ มวยไทย และ เดอะ แชมเปี้ยน มวยไทยตัดเชือก จึงเชื่อว่า ช่อง 8 จะทำรายได้ 2,000 ล้านบาทได้ในปีนี้ จากเป้ารายได้รวมทั้งบริษัท 4,500 ล้านบาท

drama-83

drama-82

ทีวีดิจิทัล ใครอยู่ใครไป 3 ปีจากนี้ วัดดวง

พรพรรณ เล่าต่อไปว่า ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงและอัตราค่าโฆษณาที่ไม่เป็นเหมือนในอดีต และไม่คิดว่าจะมีการช่วยเหลืออะไรจากหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ต้องพยายามหาทางรอด สร้างจุดแข็ง และหารายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนตัวมองว่า ดูแค่จากนี้อีก 3 ปีซึ่งถึงเวลาที่จะจ่ายค่าใบอนุญาตครบตามเงื่อนไข จะมองเห็นแล้วว่า ใครที่จะอยู่รอดต่อไป

“หลังจากจ่ายค่าใบอนุญาตครบในปี 3 ปีข้างหน้า จะต้องให้บริการต่อไปอีก 9 ปี แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ต้องรอถึงตอนนั้น ผู้ประกอบการจะเริ่มพิจารณาแล้วว่า จะยอมจ่ายค่าใบอนุญาตที่เหลืออีก 3 ปีหรือไม่ ธุรกิจจะไปรอดหรือไม่ เพราะมีค่าใช้จ่ายด้านคอนเทนต์ 40 – 100 ล้านบาทต่อเดือน และยังมีค่าโครงข่าย 5 – 15 ล้านบาทต่อเดือน บอกเลยว่าไม่ง่าย”

ขณะที่การผสานกับช่องทางออนไลน์ เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ หลังจากที่คอนเทนต์ออกอากาศทีวีจบ ต้องสามารถดูทางออนไลน์ได้ทันที แต่ยังไม่สามารถทำให้ออกอากาศพร้อมกันได้ เพราะเมื่อเทียบรายได้แล้ว ออนไลน์ยังไม่สามารถเทียบกับทีวีได้เลย

ที่สำคัญคือ ช่องทีวีดิจิทัล สามารถบริหารจัดการโฆษณาได้ แต่ถ้าเป็นออนไลน์ การบริหารจัดการโฆษณาอยู่ที่เจ้าของแพลตฟอร์ม คือ Facebook และ Youtube

พฤติกรรมของคนไทย ไม่เสียเงินเพื่อดูออนไลน์ และค่าโฆษณาบนออนไลน์ก็น้อยเกินไป (ต้องแบ่งกับเจ้าของแพลฟอร์มด้วย) ผู้ประกอบการทีวีมีความพยายามสร้างช่องทางของตัวเองแต่สุดท้ายก็ไปไม่ไหว ต้องกลับมา Facebook และ Youtube ตามเดิม เป็นสิ่งที่ยังต้องหาคำตอบกันต่อไป

drama-85

สรุป

ธุรกิจทีวีดิจิทัลในไทย ก็อยู่ในช่วงเวลาที่ลำบากเช่นเดียวกับธุรกิจสื่ออื่นๆ แม้แต่ในกลุ่ม Top 5 ถือเป็นกลุ่มที่น่าจะอยู่รอดได้ ก็ต้องดิ้นรนหาจุดเด่นของตัวเอง ขณะที่อีกนับสิบช่อง คนดูยังจดจำคาร์แรกเตอร์ที่ชัดเจนไม่ออก โอกาสรอดก็ยากขึ้น ยิ่งในช่องข่าวยิ่งลำบาก เพราะพฤติกรรมของคนไทย ไม่ได้บริโภคข่าวสารเยอะขนาดนั้น แต่อย่างที่ทางช่อง 8 บอกไว้ จะหวังพึ่งพาหน่วยงานกำกับดูแล ก็คงไม่มีความช่วยเหลืออะไรออกมา ทางรอดคงเหมือนที่ช่อง 8 รวมถึงช่องอื่นๆ เช่น เวิร์คพอยท์, ช่องวัน, ช่องโมโน ที่ทำให้ผู้ชมนึกออกได้ว่า ถ้าเปิดมาแล้วจะเจออะไร แล้วก็ย้ำลงไปหนักๆ พร้อมกับขยายส่วนอื่นๆ เรียกเงินโฆษณาเข้ามา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา