Dow Jones ทะลุ 28,000 จุดได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ | BI Opinion

คอลัมน์: Wealth Insight
โดย คุณสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

ดัชนี Dow Jones เป็นดัชนีที่รวมเอาหุ้นขนาดใหญ่ 30 บริษัทจากอุตสาหกรรมต่างๆ มารวมไว้ด้วยกัน การคำนวณของดัชนีจะเป็นแบบ Price-weighted การที่หุ้นตัวหนึ่งในดัชนีเปลี่ยนแปลง 1 เหรียญ จะมีผลต่อดัชนี 6.782 จุด ไม่เหมือนกับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ที่ใช้วิธี Value-weighted ที่การเปลี่ยนแปลงของหุ้นขนาดใหญ่จะมีผลต่อดัชนีสูงกว่าหุ้นที่มีขนาดเล็กกว่า

Dow Jones ปิดตัวไปเมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2019 ที่ระดับ 28,004.89 จุด เป็นการปิดที่ระดับเหนือ 28,000 จุดได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่การก่อตั้งดัชนีตัวนี้ขึ้นมา ทำให้ตั้งแต่ต้นปี ดัชนี Dow Jones ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้กว่า 20% แล้ว ไม่เพียงแต่ดัชนี Dow Jones เท่านั้น ดัชนีอื่นๆ ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำ New High กันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น S&P 500 Nasdaq 100 รวมไปถึง Wilshire 5000 ที่เป็นภาพรวมขนาดใหญ่ของหุ้นทั้งหมดในตลาดสหรัฐฯ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้เช่นกัน

หุ้น 3 อันดับแรกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในดัชนี Dow Jones ในปี 2019 คือ Apple ปรับตัวเพิ่มขึ้น +68.48% Microsoft +47.65% และ United Technologies +40.27% เรียกได้ว่าหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นหุ้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีทั้งหมด

ภาพจาก Shutterstock

มาดูหุ้นที่ underperform หรือปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดกันบ้างครับ Pfizer -14.59% 3M -9.79% Walgreen -9.06% เป็นการกระจายตัวของหุ้นเฮลท์แคร์ ผู้ผลิตสินค้าด้านอุตสาหกรรม และค้าปลีก

ปี 2019 ถือว่าเป็นปีที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนค่อนข้างสูง เนื่องจากความขัดแย้งทางการค้าได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ การประท้วงที่รุนแรงในฮ่องกง รวมไปถึง Inverted Yield Curve ที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ตลาดมีความกังวลว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession

การยกระดับของสงครามการค้าขึ้นมาสามารถส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจจีนได้จริง ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวอ่อนแอลง แต่ผลกระทบไม่ได้มาที่ประเทศจีนเพียงอย่างเดียว ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็อ่อนแอลงมากเช่นกันไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการขยายตัวของภาคบริการ ตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และยอดค้าปลีก ซึ่งตัวเลขเหล่านี้มีความสำคัญสูงมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องพักรบชั่วคราวหันเข้าสู่โต๊ะเจรจา  Fed ก็ช่วยลดดอกเบี้ยในปีนี้ไปแล้ว 3 ครั้งรวมถึงมีการทำ QE 3.9 เพื่อฉีดสภาพคล่องเข้าระบบผ่านการซื้อพันธบัตรระยะสั้นเดือนละ 60,000 ล้านเหรียญ ทำให้ภาวะตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นมาก ความผันผวนก็ลดลงไปมากเช่นกัน

ภาพจาก Shutterstock

มาดูกันครับว่านับจากนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นจนถึงสิ้นปี 2019 และยาวไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2020

  1. การอัดฉีดสภาพคล่องของ Fed ผ่านการซื้อพันธบัตรระยะสั้นอาจจะลากยาวไปมากกว่าที่วางแผนไว้ว่าจะสิ้นสุดตอนเดือนมีนาคม 2019 เนื่องจากการฉีดสภาพคล่องเข้าระบบทำให้ความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลกลดน้อยลงไปมาก ถึงแม้ว่าข่าวข้อตกลงทางการค้าจะยังมีความคลุมเครืออยู่
  2. ภายในปี 2019 Fed คงจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยลงมาอีกแล้ว ในปี 2020 มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะลดดอกเบี้ยลง 1–2 ครั้ง โดยระดับต่ำสุดของดอกเบี้ยในปี 2020 น่าจะอยู่ที่ 1.00 – 1.25%
  3. ข้อตกลงทางการค้า น่าจะมีการลงนามกันภายในเดือนธันวาคมปีนี้หรืออย่างน้อย ในวันที่ 15 ธันวาคม ทางสหรัฐฯ จะเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่เลื่อนมาจากช่วงปลายเดือนกันยายนออกไปก่อน และจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ปธน.ทรัมป์คงจะมีการกดดันประเทศจีนเป็นระยะๆ ทั้งในเรื่องการเมืองและการค้า แต่จะไม่รุนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา เพราะถ้าไปกดดันแรงและส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอลงมาอีก จะส่งผลให้คะแนนความนิยมในตัวเขาอาจจะลดลงได้
  4. จับตาดูว่าตัวแทนที่จะมาชิงตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ กับทางปธน.ทรัมป์จากพรรคเดโมแครตจะเป็นใคร เนื่องจากทางพรรคมีผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นมาคือ คุณ Michael Bloomberg จากเดิมที่มีเพียง Joe Biden, Elizabeth Warren และ Bernie Sanders ซึ่งไม่ว่าใครจะเป็นตัวแทนของพรรค เชื่อว่านโยบายกดดันจีนก็อาจจะเป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาใช้หาเสียงอีกครั้งโดยเฉพาะคุณ Elizabeth Warren และ Bernie Sanders เหมือนเมื่อครั้งการเลือกตั้งในปี 2016 ที่ชูประเด็นเรื่องค่ารักษาพยาบาลมาเป็นนโยบายหาเสียงของ 2 พรรคการเมือง
  5. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งในปลายปีหน้าน่าจะยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ แต่คงไม่ดีเหมือนในปี 2019 ที่มีฐานที่ต่ำจากช่วงปลายปี 2018 ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในตอนนี้ได้เปลี่ยนจากช่วงก่อนหน้าไปพอสมควร Fed มีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้นมาก มีการลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2019 แต่เมื่อปี 2018 มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นถึง 4 ครั้ง การลดสภาพคล่องถูกหยุดก่อนกำหนดและมีการเพิ่มสภาพคล่องกลับเข้าไปเดือนละ 60,000 ล้านเหรียญ
Donald Trump โดนัลด์ ทรัมป์
ภาพจาก Shutterstock

กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีน่าจะยังได้รับความนิยมจากนักลงทุนอยู่เช่นเคย กลุ่มเฮลท์แคร์น่าจะได้รับความนิยมจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ค่อนข้างเงียบในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์จากการที่โลกกำลังเข้าสู่ยุค 5G

ด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้นรวมไปถึงการเพิ่มสภาพคล่องเข้ามาในระบบ เชื่อว่าจะได้เห็นดัชนี Dow Jones ที่ระดับ 30,000 จุดได้ก่อนการเลือกตั้งในปลายปีหน้า ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้เป็นเป้าหมายที่สูงมากเกินไป ประมาณ 7% จากดัชนีบริเวณนี้เท่านั้น

ด้วยสภาพคล่องที่มีอยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ บริษัทใหญ่ๆ ที่มีเงินสดในมือมากอย่าง Apple และ Microsoft ยังคงเดินหน้าซื้อหุ้นคืนอยู่เพื่อทำให้ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น และกำไรต่อหุ้นสูงขึ้น ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กำไรของบริษัท Apple แทบไม่มีการเติบโตขึ้นเลย แต่กำไรของหุ้นยังสามารถเติบโตได้อยู่เนื่องมาจากการซื้อหุ้นคืนของบริษัทที่ทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ ปัจจัยการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนก็จะเป็นอีกปัจจัยที่จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นในระยะต่อไปได้

ความผันผวนคงจะเป็นสิ่งที่คู่กับตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะ Low Rate, Low Growth แบบนี้ เชื่อว่าหุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูงจะสามารถก้าวฝ่าความผันผวนที่จะเกิดขึ้นได้ แต่การลงทุนก็ยังคงต้องมีการกระจายไปในสินทรัพย์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของเราเหมือนเดิม อย่างหุ้น Apple ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ คงจะส่งผลบวกให้กับพอร์ตของคุณปู่ Warren Buffett ได้อย่างมากมาย แต่การปรับตัวลดลงอย่างแรงของหุ้น Kraft Heinz ก็ส่งผลลบต่อพอร์ตได้เช่นกัน

ดังนั้น การลงทุนต้องมีการกระจายความเสี่ยงออกไป นอกจากหุ้นสหรัฐฯ แล้ว หุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่หรือ Emerging Market ในปีหน้าก็น่าจะมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ค่อนข้างเงียบมาแล้ว 2 ปี แต่สุดท้ายแล้ว ถ้ามองว่าการแบ่งเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างๆ เป็นเรื่องยากเกินไป การลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกหรือ Global Equity Fund ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เพราะทางทีมผู้จัดการกองทุนจะแบ่งสินทรัพย์ไปลงทุนในตลาดต่างๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงเวลาให้นักลงทุนเอง

พบกันใหม่เดือนหน้า เดือนสุดท้ายของปี 2019 ปีที่ตลาดการเงินมีความ Low Rate, Low Growth และ High Volatility, High Return ครับ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา