ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ญี่ปุ่นเดือด เมื่อ DoorDash เบอร์ 1 จากสหรัฐบุกตลาดญี่ปุ่นแล้ว

ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่อันดับ 1 ของอเมริกา เริ่มให้บริการในประเทศญี่ปุ่นในต้นเดือนมิถุนายน 2021 ถือเป็นการเปิดตัวอีกหนึ่งผู้เล่นใหม่ในตลาดอาหารของญี่ปุ่นที่มีการแข่งขันสูงมากอยู่แล้ว

คำถามคือ อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้ DoorDash กล้าบุกญี่ปุ่น?

DoorDash เปิดตัวที่เมืองเซนได มหานครแห่งภูมิภาคโทโฮคุ

DoorDash เป็นแอพเดลิเวอรี่ที่ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 56% ในสหรัฐอเมริกา มีผู้สนับสนุนรายใหญ่เป็นบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นอย่าง SoftBank ก่อนหน้านี้เริ่มให้บริการในแคนาดาและออสเตรเลียไปแล้ว การลงทุนในประเทศญี่ปุ่นจึงถือเป็นก้าวแรกของ DoorDash ในเอเซีย

ถึงแม้ว่าขั้นแรกของการเปิดตัว จะมีพาร์ทเนอร์เป็นร้านอาหารท้องถิ่นและแฟรนไชส์ต่างๆ เพียงร้อยกว่าร้านเท่านั้น แต่ทางบริษัทมองว่าเซนได เมืองที่มีประชากรกว่า 1 ล้านคน เปรียบเสมือน “พิภพเล็กๆ” ของญี่ปุ่น

การเลือกเซนไดจึงคล้ายๆ การทดลองระดับเล็ก เพื่อหาวิธีขยายไปทั่วประเทศได้ในอนาคต

Tony Xu ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร DoorDash กล่าวว่า “ร้านค้าขนาดเล็กส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นยังคงออฟไลน์กันอยู่ และยังคงมีอีกหลายเมืองใหญ่ๆ ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการเดลิเวอรี่ พวกเราคิดว่าเมืองเซนไดเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าตื่นเต้นมาก”

ฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศญี่ปุ่น: โอกาสและวัฒนธรรม

Tony Xu อธิบายว่า “ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในตลาดเดลิเวอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่บริษัทต่างๆ ยังเข้าถึงตัวผู้บริโภคได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรและขนาดเศรษฐกิจ”

ตัวบริษัทมองว่าการลงทุนครั้งนี้ จะดำเนินต่อเนื่องไปมากกว่า 10 ปี แน่นอน เนื่องจากการสำรวจตลาดชี้ว่าจะมีพาร์ทเนอร์ที่สมัครเข้าร่วมให้บริการบทแพลทฟอร์มเพียง 10% เท่านั้น ยังไม่รวมพฤติกรรมของชาวญี่ปุ่นที่ไม่นิยมการสั่งอาหารอีกด้วย เนื่องจากนิยมทานข้าวกับเพื่อนร่วมงานหลังเลิกงาน หรือทำอาหารกินที่บ้านมากกว่า

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่บีบบังคับให้ร้านอาหารต่างๆ ไม่มีทางเลือกนอกจากการปิดกิจการ (สำหรับบางร้าน ถึงอยากจะปิด ก็ไม่มีแม้แต่เงินปิดร้าน) โดยเฉพาะร้านที่เปิดเฉพาะตอนกลางคืออย่าง อิซากายะ หรือไม่ก็ต้องให้บริการแบบกลับบ้านเท่านั้น แต่นี่ถือเป็นโอกาสของผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ เพราะมีเพียง 5% ของร้านอาหารในญี่ปุ่นที่มีพนักงานส่งของของตัวเอง และกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนที่เกษียณแล้ว และครอบครัวที่ผู้ปกครองทำงานทั้งสองคน

ในด้านของผู้จัดการ DoorDash ประเทศญี่ปุ่น Ryoma Yamamoto ให้ข้อมูลว่า “DoorDash มีการตอบรับที่เยี่ยมยอดจากทั้งพาร์ทเนอร์และไรเดอร์ (Dasher) ที่สมัครเข้ามา พวกเรากำลังตั้งตารอการได้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของเมืองเซนได”

ตลาดใหม่ แต่คู่แข่งหน้าเก่า เสริมทัพด้วยบริษัทท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง

Uber Eats Japan และ Damae-can คือ ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่สองรายที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น แต่โดยรวมแล้วส่วนแบ่งตลาดก็ยังต่ำอยู่ในระดับประเทศ

ในปีที่แล้ว Delivery Hero แอพฟู้ดเดลิเวอรี่รายใหญ่จากเยอรมัน และ Didi Chuxing จากประเทศจีนก็ได้บุกตลาดญี่ปุ่นแล้วเช่นเดียวกัน อีกทั้ง KDDI บริษัทเทเลคอมแนวหน้าของญี่ปุ่น ก็วางแผนจะลงทุนในบริษัท Menu ผู้เล่นอันดับสามในตลาดอีกด้วย

ในปี 2020 ที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ได้กระตุ้นตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในญี่ปุ่นให้เติบโตถึง 50% ซึ่งรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 4.2 แสนล้านเยน (ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท) ในปี 2019 เป็น 6.3 แสนล้านเยน (ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท) ในปี 2020 ซึ่งในปีก่อนหน้า อัตราการเติบโตของตลาดอยู่ที่ 5% เท่านั้น

ถึงแม้ว่า DoorDash จะมีคู่แข่งอย่าง Damae-can ที่ให้บริการส่งพัสดุและการซื้อของในตลาด หรือจะบริษัทขนส่งคู่แข่งท้องถิ่นอย่าง Sagawa และ Yamato ก็ตาม แต่ Tony Xu ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “พวกเราจะเริ่มจากการคลาน เดิน แล้วค่อยวิ่ง” เขาเสริมว่า “บริษัทจะไม่ทำพลาด พวกเราจะไม่ลอกความสำเร็จของบริการในประเทศอื่นๆ มาใช้ที่นี่อย่างดื้อๆ ผมคิดว่าเราจะสร้างบริการที่เหมาะกับญี่ปุ่นที่สุดได้แน่นอน”

สรุป

การลงทุนครั้งนี้ของ DoorDash เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของการเติบโตที่รวดเร็วของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ทั่วโลก การแข่งขันในแต่ละตลาดเข้มข้น ทั้งระดับพื้นที่ ประเทศ และโลก 

น่าจับตามองว่าเมื่อไหร่อุตสาหกรรมนี้จะเริ่มมีกำไรได้ ในฐานะหนึ่งในเซอร์วิสที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของหลายๆ คนไปแล้ว

ที่มา – Asia Nikkei, Financial Times, Japan Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา