สหรัฐฯ ติดเชื้อโควิดอันดับ 1 ของโลก ถอนตัวจาก WHO อย่างเป็นทางการแล้ว

สหรัฐอเมริกาติดอันดับ 1 ของประเทศที่ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในโลก ปัจจุบันมีคนในอเมริกาติดเชื้อรวม 2,993,760 คน เสียชีวิตรวม 131,457 คน ราว 24.18% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดรวมทั้งโลก รักษาหายแล้ว 936,476 คน จำนวนคนติดเชื้อรายวันอยู่ที่ 45,000 คน

จำนวนคนติดเชื้อรายวันอยู่ที่ 45,000 คน ภาพจาก JHU

ขณะนี้ สภาคองเกรสได้รับเรื่องการถอนชื่อสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างเป็นทางการแล้ว Bob Menendez วุฒิสภาสมาชิกทวีตข้อความถึงแผนดังกล่าว เขาเรียกร้องให้ทรัมป์รับผิดชอบต่อความต้องการนี้ เพราะการถอนตัวไม่ได้ช่วยปกป้องผลประโยชน์หรือทำให้ชีวิตของคนอเมริกันปลอดภัยขึ้นเลย แต่ยิ่งทำให้เห็นว่าเป็นการทิ้งให้คนอเมริกันป่วยอยู่ลำพังเสียมากกว่า

ก่อนหน้าที่จะตัดความสัมพันธ์กับ WHO ทรัมป์ได้ออกมาต่อว่า โจมตี WHO อย่างหนักเรื่องการจัดการโรคระบาดโควิด-19 และท่าทีที่ดูเข้าข้างฝ่ายจีนหรือถูกจีนครอบงำมากเกินไป

ด้าน Lamar Alexander วุฒิสภาสมาชิกอีกราย ระบุว่าเขาเองก็ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของทรัมป์ มันอาจจะเป็นเรื่องดีที่เราจำเป็นต้องมาพิจารณาบทบาทของ WHO จริงจังว่ามีความผิดพลาดตรงไหนบ้าง แต่ไม่ใช่ช่วงเวลานี้ ควรจะให้วิกฤตมันผ่านพ้นไปก่อนต่างหาก ขณะที่ Eric Swalwell สมาชิกสภาผู้ทนราษฎร มองว่าการตัดสินใจของทรัมป์ดังกล่าวนั้น ไร้ซึ่งความรับผิดชอบ ประมาท การกระทำเช่นนี้ในช่วงวิกฤตเช่นนี้รังแต่จะสร้างความเสียหาย

Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ภาพจาก The White House

สหรัฐฯ​ เป็นผู้บริจาครายใหญ่ของ WHO โดยจ่ายเงินสนับสนุนรายปีราว 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.25 หมื่นล้านบาท การตัดงบสนับสนุนและการถอนตัวดังกล่าว อาจจะทำให้สหรัฐฯ ลดค่าใช้จ่ายด้านนี้ลง แต่ก็อาจไม่ได้ทำให้สถานการณ์ด้านสาธารณสุขภายในประเทศดีขึ้น และยังสร้างผลกระทบต่อ WHO อีกด้วย

แน่นอนว่า มันส่งผลกระทบโดยรวมต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลกในมิติด้านสาธารณสุขเพราะมันเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กร การออกมาประกาศกร้าวว่าจะถอนตัวออกจากองค์กรก็ไม่ต่างอะไรกับการประกาศตัดงบสนับสนุน ไม่ต่างอะไรกับการเอาชีวิตของผู้คนทั่วโลกรวมทั้งคนอเมริกันเองด้วยเป็นตัวประกัน

มิหนำซ้ำยังเป็นการพยายามถ่วงดุลอำนาจจีนอย่างไร้เหตุผล ทั้งที่ทรัมป์อ้างว่า WHO มีจีนเป็นศูนย์กลาง ทรัมป์ก็ควรให้เวลากับการตรวจสอบการทำงานของ WHO และปล่อยให้ WHO ได้พิสูจน์บทบาทและจุดยืนขององค์กรเองแทนที่จะเรียกร้องความสนใจจากชาวโลกหรือทำโทษ WHO โดยปราศจากหลักฐาน และแทนที่การตัดสินใจด้วยสมมติฐานผ่านการตัดงบสนับสนุน

Donald Trump ภาพจาก White House
  • เมษายน โดนัลด์ ทรัมป์เริ่มทวีตข้อความโจมตี WHO ว่า ทำงานแบบยึดจีนเป็นศูนย์กลางจนเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 แบบผิดๆ
  • ตามด้วยระงับเงินบริจาค 5% จากเดิมที่บริจาคราว 20%
  • พฤษภาคม ทรัมป์ประกาศจะถอนตัวจาก WHO

อย่างไรก็ดี สำนักวิจัย Pew Research สรุปปัจจัยสำคัญของ WHO และได้ทำผลสำรวจทัศนคติของคนอเมริกันจำนวน 10,957 คน ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา

Donald Trump ภาพจาก The White House

โดยผลสำรวจจาก Pew Research ระบุว่า WHO มีปัจจัยสำคัญหลายด้านและชาวอเมริกันมีความเห็นต่อ WHO ดังนี้ ประการแรก WHO ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติที่จัดสรรให้ โดยปี 2018 นั้น ราว 51% เป็นทุนสนับสนุนจาก 194 ประเทศสมาชิก บริจาคให้ด้วยความสมัครใจ ระหว่างปี 2020-2021 นี้ งบประมาณสำหรับ WHO อยู่ที่ 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.5 แสนล้านบาท

ประการที่สอง สหรัฐฯ เป็นผู้บริจาคทุนสนับสนุนรายใหญ่ที่สุดในปี 2018-2019 ราว 20% ของงบประมาณทั้งหมด หรือประมาณ 893 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.79 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้บริจาครายใหญ่เป็นอันดับ 2 คือมูลนิธิบิล เกตส์ (Bill and Melinda Gates Foundation) อยู่ที่ 12%

ตามด้วยอังกฤษ 10%, Gavi Alliance 8%, เยอรมนี 7%, ญี่ปุ่น 5%, UNOCHA 4%, Rotary International 3%, World Bank 3%, European Commission 3% และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจถอนสหรัฐฯ ออกจาก WHO ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นการตัดสินใจแบบลำพังของทรัมป์หรือไม่ (unilateral authority)

USA

ประการที่สาม คนอเมริกันมีมุมมองบวกต่อ WHO น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (หรือประมาณ 46% จากผลสำรวจ) หากดูตามผลสำรวจจะพบว่า มุมมองของรีพับลิกันและเดโมแครตนั้นแบ่งขั้วชัดเจน ฝั่งเดโมแครต (ซึ่งไม่ใช่ฝั่งเดียวกับทรัมป์ แต่มีแนวคิดเสรีนิยมกว่า) เห็นด้วยกับการจัดการของ WHO มองว่ามีการจัดการโรคระบาดได้ดี ขณะที่ฝั่งเดียวกับทรัมป์หรือรีพับลิกันซึ่งมีมุมมองอนุรักษ์นิยมกว่า มองว่า WHO มีการจัดการที่แย่

ประการที่สี่ โดยรวมแล้ว คนอเมริกันราว 59%ให้ความศรัทธาในข้อมูลข่าวสารของ WHO มาก คนที่เชื่อมั่นต่อ WHO มากส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวและมีการศึกษาสูงกว่าฝ่ายที่ศรัทธาต่อ WHO น้อย

อย่างไรก็ตาม การถอนตัวออกจาก WHO ดังกล่าว กว่าจะมีผลบังคับจริงก็ใช้เวลายาวนาน 1 ปี หรือภายใน 6 กรกฎาคม 2021 ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า กว่าจะถึงเวลานั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกได้

ที่มา – The Hill, Forbes, Pew Research

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา