วิเคราะห์โอกาสที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะถูกถอดถอน Impeachment

ข่าวใหญ่ของวงการการเมืองสหรัฐ (และการเมืองโลก) ช่วงปลายปี 2019 คือการที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ (สภาคองเกรส) ลงมติเสนอถอดถอน (impeachment) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในข้อหาใช้อำนาจในทางที่ผิด (abuse of power) จากกรณียูเครน และขัดขวางการสอบสวนของสภาคองเกรส

การลงมติของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ทำให้ทรัมป์กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่ถูกอิมพีชเมนต์ (ต่อจาก Andrew Johnson ในปี 1868 และ Bill Clinton ในปี 1998 จากคดี Monica Lewinsky ซึ่งทั้งสองกรณีถอดถอนไม่สำเร็จ) แต่คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ทรัมป์จะถูกถอดถอนได้จริงๆ หรือไม่

ภาพที่ทรัมป์ โพสต์เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ช่วงระหว่างการ impeachment ที่เข้มข้น

อธิบายกระบวนการ Impeachment คืออะไร?

กระบวนการอิมพีชเมนต์เป็นสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา โดยให้อำนาจรัฐสภาสหรัฐ (สภาสูง+สภาล่าง)  สามารถถอดถอน “เจ้าหน้าที่รัฐ” (ไม่จำกัดแค่ประธานาธิบดี) ออกจากตำแหน่งได้ หากประพฤติตัวไม่เหมาะสมหรือก่ออาชญากรรม

ในอดีตเคยมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับรองๆ หลายคน เช่น วุฒิสมาชิก หรือ ผู้พิพากษา ถูกถอดถอนสำเร็จจากกระบวนการนี้ แต่ยังไม่เคยเกิดขึ้นกับประธานาธิบดีเลยสักครั้ง กรณีที่ใกล้เคียงที่สุดคือ Richard Nixon จากความผิดคดี Watergate ช่วงปี 1974 แต่ Nixon ชิงลาออกก่อน (เชื่อกันว่าถ้าเขาไม่ยอมลาออก เขาน่าจะเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกถอดถอนสำเร็จ)

กระบวนการอิมพีชเมนต์ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ ต้องอาศัยการทำงานของสภาล่าง (ส.ส.) และสภาสูง (ส.ว.) ร่วมกัน เพราะรัฐธรรมนูญพยายามถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน โดยให้สภาล่างเป็นผู้เสนอการถอดถอน แต่ให้สภาสูงเป็นผู้ลงมติชี้ขาด

แต่การอิมพีชเมนต์ก็ไม่ได้ทำสำเร็จง่ายๆ เพราะต้องอาศัยเสียงโหวตในสภา การเสนอถอดถอนต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง (1/2) ของสภาล่าง แต่การโหวตตัดสินว่าผิดจริงหรือไม่ จำเป็นต้องใช้เสียงถึง 2/3 ของสภาสูง (หรือเรียกว่า supermajority) ซึ่งการจะให้สภาสูงเห็นชอบด้วยคะแนนระดับนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต้องเป็นความผิดร้ายแรงจริงๆ ถึงจะทำได้

ความยากของการอิมพีชเมนต์ ทำให้มันถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อทำให้ประธานาธิบดีเสียสมาธิหรือเสียความนิยมมากกว่าการตั้งใจถอดถอนจริงๆ ซึ่งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงหลังอย่าง George W. Bush และ Barack Obama ก็เคยถูกเสนอยื่นถอดถอนมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จตั้งแต่ชั้นของสภาล่าง

Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจากฝั่งพรรคเดโมแครต หัวหอกในการอิมพีชเมนต์ทรัมป์ 

ทรัมป์ทำอะไรผิด จึงถูกอิมพีชเมนต์

ต้องบอกว่า ตั้งแต่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในปี 2016 ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ก็มีความพยายามจะถอดถอนเขามาตั้งแต่ปีแรกๆ ด้วยข้อหาที่แตกต่างกันไป

ความพยายามเอาผิดในช่วงแรกโฟกัสไปที่ผลประโยชน์ทับซ้อนของทรัมป์กับรัฐบาลรัสเซีย ผ่านคณะกรรมการสอบสวนของ Robert Mueller อดีตผู้อำนวยการ FBI แต่ความพยายามก็ไม่เป็นผลมากนัก ทั้งจากปัจจัยเรื่องความผิดที่ไม่ชัดเจน การสอบสวนที่ล่าช้า และเสียงของพรรคเดโมแครต (ในตอนนั้น) ที่ไม่ถึงครึ่งของสภาล่าง

แต่ช่วงกลางปี 2019 ก็เกิดเหตุแทรกซ้อน เมื่อมีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐที่ไม่ระบุชื่อ (ที่เรียกกันว่า whistleblower ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของสหรัฐไม่ให้เปิดเผยตัวตน) ยื่นคำร้องเรียนว่าทรัมป์ใช้อำนาจไม่ถูกต้อง โดยทรัมป์และทนายความส่วนตัว Rudy Giuliani (อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก) ติดต่อกับประธานาธิบดียูเครน Volodymyr Zelensky เพื่อให้สอบสวนธุรกิจในยูเครนของ Hunter Biden ลูกชายของอดีตรองประธานาธิบดี Joe Biden ที่ลงสมัครเลือกตั้งปี 2020 และเป็นคู่แข่งคนสำคัญของทรัมป์ โดยฝ่ายของทรัมป์ขู่ว่าจะตัดความช่วยเหลือทางทหารกับยูเครน หากรัฐบาลยูเครนไม่ให้ความร่วมมือ

ข้อมูลนี้ทำให้ ส.ส. พรรคเดโมแครต (ที่ครองเสียงข้างมากในสภาล่าง หลังการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2018) รับลูกต่อทันที ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ในเดือนกันยายน 2019 และลงมติถอดถอนทรัมป์ด้วย 2 ข้อหาคือ ใช้อำนาจประธานาธิบดีในทางที่ผิด (abuse of power) และ ขัดขวางการทำงานของสภาล่าง (obstruction of Congress) เพื่อปิดบังหลักฐานหรือบีบบังคับพยานระหว่างการสอบสวนกรณียูเครน

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2019 สภาล่างลงมติเห็นชอบอิมพีชเมนต์ด้วยคะแนน 230:197 (ข้อหา abuse of power) และ 229:198 (ข้อหา obstruction of Congress) โดยพรรคเดโมแครตมี ส.ส. จำนวน 232 เสียง (โหวตเห็นชอบเกือบหมด) ส่วนพรรครีพับลิกันมี ส.ส. จำนวน 195 เสียง (ทุกคนโหวตคัดค้าน)

ปฏิกิริยาของทรัมป์หลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐโหวตอิมพีชเมนต์

ทรัมป์จะถูกถอดถอนสำเร็จหรือไม่

หลังทรัมป์ถูกสภาล่างยื่นถอดถอนแล้ว ขั้นต่อไปคือการไต่สวน (trial) ในสภาสูง โดยฝั่งของผู้เสนอถอดถอน (ส.ส. ฝั่งเดโมแครต) จะต้องนำเสนอหลักฐานต่างๆ ต่อหน้าสภาสูง และฝั่งของผู้ถูกกล่าวหา (ทีมทนายของทรัมป์) จะต้องยื่นหลักฐานหักล้างกลับ ต่อหน้าวุฒิสภาสหรัฐ

เรียกง่ายๆ ว่าเหมือนการขึ้นศาลปกติ เพียงแต่ทำต่อหน้าวุฒิสภาแทน (โดยมีผู้พิพากษาสูงสุดของสหรัฐ Chief Justice of the United States เป็นผู้ดูแลและดำเนินการไต่สวน)

เมื่อไต่สวนเสร็จแล้ว วุฒิสภาต้องลงมติว่าทรัมป์ผิดจริงหรือไม่ ซึ่งต้องใช้คะแนนมากถึง 2 ใน 3 ของทั้งสภาจำนวน 100 ที่นั่ง หรือเท่ากับ 67 เสียงขึ้นไป

ปัจจุบัน พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาสูงคือ 53 เสียง พรรคเดโมแครตมี 45 เสียง และวุฒิสมาชิกอิสระอีก 2 เสียง (หนึ่งในนั้นคือ Bernie Sanders ที่สถานะเป็นวุฒิสมาชิกอิสระ แต่จะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในฐานะของพรรคเดโมแครต)

นั่นแปลว่า พรรคฝ่ายค้านที่รวมกันได้ 47 เสียง จำเป็นต้องได้เสียงจาก ส.ว. พรรครีพับลิกันมาอีกถึง 20 เสียงเพื่อโหวตเอาผิดทรัมป์ ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การเมืองอเมริกันแยกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน เรียกง่ายๆ ว่า ส.ว. รีพับลิกันจะทำทุกทางเพื่อไม่ให้ประธานาธิบดีฝ่ายตนถูกถอดถอน ดังจะเห็นได้จากการโหวตของ ส.ส. ในสภาล่าง ที่โหวตคัดค้านการอิมพีชเมนต์กันเป็นเอกฉันท์นั่นเอง

ในกรณีที่ว่าทรัมป์ถูกถอดถอนสำเร็จขึ้นมาจริงๆ อำนาจฝ่ายบริหารประเทศจะยังเป็นของรัฐบาลพรรครีพับลิกันต่อไป โดยรองประธานาธิบดี Mike Pence จะขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีแทน

เมื่อพิจารณาเสียงในสภาสูงของสหรัฐ บวกกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบใหม่ปี 2020 ที่กำลังจะมาถึง (เลือกตั้งกันในเดือนพฤศจิกายน) ทำให้การอิมพีชเมนต์ทรัมป์เป็นแทคติกทางการเมืองที่ทำให้ทรัมป์และฝ่ายรีพับลิกันเสียสมาธิ เพราะช่วงต้นปี 2020 ต้องเข้ากระบวนการไต่สวนที่ต้องใช้พลังในการต่อสู้อย่างมาก ไม่มีเวลาไปโฟกัสกับการเลือกตั้งช่วงปลายปีเท่าที่ควร

ในด้านกลับ ภายใต้การเมืองอเมริกันที่แตกออกเป็นสองขั้วอย่างแรง การเสนออิมพีชเมนต์ทรัมป์อาจสร้างแนวร่วมด้านกลับให้กับทรัมป์ด้วย หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ถึงกับเสนอบทวิเคราะห์ว่า การอิมพีชเมนต์ทรัมป์อาจกลายเป็นการันตีว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งด้วยซ้ำ (The Democrats Could Re-Elect Trump in 2020)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา