ร้าน Don Quijote ที่คนไทยคุ้นเคยกำลังจะมียอดขายกว่า 3 แสนล้านบาทภายในปี 2562

ทุกครั้งที่ไปเที่ยวญี่ปุ่น ห้าง Don Quijote หรือ Donki คืออีกเป้าหมายของหลายคน เพราะมันคือสวรรค์ของนักช้อปที่มีทุกอย่างให้เลือกสรร และเงินที่เราจ่ายๆ ไปก็จะทำให้ห้างนี้กำลังจะมียอดขายเกิน ราว 3 แสนล้านบาทแล้ว

ห้าง Don Quijote // ภาพจาก Facebook ของ Don Quijote

1 ล้านล้านเยน กับยอดขายที่เทียบเท่ายักษ์ใหญ่

กว่าจะมาถึงจุดนี้ห้าง Don Quijote หรือ Donki ต้องรอถึงเกือบ 4 ทศวรรษ เพราะใครจะไปเชื่อว่าจากร้านขายของเล็กๆ จะเติบโตมาถึงขนาดนี้ได้ และล่าสุดทางกลุ่มบริษัทนี้ก็ตั้งเป้ายอดขายถึง 1 ล้านล้านเยน (ราว 3 แสนล้านบาท) ภายในปีปฏิทินหน้า (ก.ค. 2561-มิ.ย. 2562)

หลังยอดขายปีนี้น่าจะปิดที่ 9.35 แสนล้านเยน (ราว 2.78 แสนล้านบาท) เติบโต 13% จากปีปฏิทินก่อน และเป็นการเติบโตในแง่ยอดขายที่ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 29 แล้วอีกด้วย ยิ่งกระแสการท่องเที่ยวญี่ปุ่นบูมจนมีนักท่องเที่ยวกว่า 28.7 ล้านคนเข้าประเทศ ก็ทำให้เงินสะพัดในร้าน Donki เข้าไปใหญ่

เรื่องปกติที่จะเห็นป้ายลดราคาในร้าน Don Quijote // ภาพจาก Facebook ของ Don Quijote

Mitsuo Takahashi ประธานเจ้าหน้าที่การเงินของ Don Quijote Holdings เล่าให้ฟังว่า ในปีปฏิทินที่กำลังจะจบในเดือนมิ.ย. นี้ ทางบริษัทได้ปรับเป้ายอดขายเพิ่มขึ้นถึง 3 ครั้ง ผ่านปัจจัยบวกมากมาย และยิ่งปีปฏิทินหน้าทิศทางปัจจัยบวกน่าจะยังเป็นเช่นเดิมอยู่ จึงไม่แปลกที่บริษัทจะตั้งเป้ายอดขายแตะ 1 ล้านล้านเยน

สำหรับร้าน Donki ในปัจจุบันมีทั้งหมด 416 สาขาทั่วโลก และปีปฏิทินหน้ามีเป้าหมายขยายสาขานอกประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปัจจุบันมีสาขาในประเทศสิงคโปร์แล้ว 2 แห่ง เนื่องจากเตรียมเปิดสาขาในประเทศไทย 1 แห่งในช่วงสิ้นปี และมีแผนขยายหน้าร้านในพื้นที่นี้ 1-2 สาขา/ปี อีกด้วย

บรรยากาศภายในร้าน Don Don Donki ที่สิงคโปร์ // ภาพจาก Facebook ของ Don Don Donki

“ภายในปีปฏิทินหน้าที่จะสิ้นสุดเดือนมิ.ย. 2562 ทางกลุ่ม Donki จะมีหน้าร้านทั่วโลก 470 สาขา และเราคาดว่าในประเทศสิงคโปร์จะมีหน้าร้านถึง 10 สาขาในอีกไม่กี่ปีจากนี้ ประกอบกับความแข็งแกร่งเรื่องยอดขายในประเทศญี่ปุ่น ก็ทำให้ Donki กลายเป็นค้าปลีกระดับต้นๆ ของประเทศได้”

ทั้งนี้การทำยอดขายได้ถึง 1 ล้านล้านเยนของ Don Quijote Holdings ก็ทำให้ค้าปลีกรายนี้อยู่ระดับเดียวกับค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในประเทศทันที ไม่ว่าจะเป็นร้าน Uniqlo ของกลุ่ม Fast Retailing รวมถึงผู้ให้บริการร้าน 7-Eleven อย่างกลุ่ม Seven & i เป็นต้น

สรุป

ค้าปลีกจะยั่งยืนได้ต้องมีแนวทางที่ชัดเจน อย่างเช่น Don Quijote ที่เน้นจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด และมีทุกอย่างให้เลือกซื้อจริงๆ ซึ่งพอทำอย่างนี้มานาน Branding ก็ชัดเจน แถมยังโด่งดังไปยังต่างประเทศอีกด้วย ดังนั้นต้องรอดูให้ดีว่าหากมาเปิดสาขาในประเทศไทยแล้วจะได้รับความนิยมขนาดไหน

อ้างอิง // Japan Today

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา