ลาคลอดได้ 6 เดือน สะท้อนความหลากหลายและเท่าเทียมกันในองค์กร

หลายองค์กรธุรกิจในต่างประเทศประกาศเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมกันทางสังคมเป็นนโยบายหลักสำคัญที่ทุกคนในบริษัทต้องปฏิบัติตาม หมายถึง เรื่องเพศ, อายุ, เชื้อชาติ, ความคิด และสิ่งที่บ่งบอกลักษณะความเป็นบุคคลทั้งหมด ต้องได้รับการยอมรับระหว่างกัน

จึงไม่แปลกที่ก่อนหน้านี้ Google จะประกาศไล่วิศวกรชายคนหนึ่งที่กล่าวว่า วิศวกรชายมีคุณภาพมากกว่าวิศวกรหญิง ซึ่งถือเป็นการดูถูกทางเพศอย่างรุนแรง ซึ่งนี่เป็นเพียงมิติส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความหลากหลายและเท่าเทียมกันเท่านั้น

ภาพจาก Pixabay.com

ลาคลอดบุตรได้ 6 เดือน ดูแลลูกได้ใกล้ชิด

จริงๆ แล้วเรื่องที่ง่ายที่สุดประการหนึ่งที่ถือเป็นการส่งเสริมความหลากหลายและเท่าเทียมเช่นเดียวกัน คือ การให้ลาคลอดบุตรได้ เพื่อให้ผู้หญิงได้มีสิทธิ์ที่จะทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ พร้อมกับสามารถเป็นคุณแม่ที่มีคุณภาพ ดูแลลูกได้อย่างเต็มที่

dtac จึงเป็นบริษัทแรกในไทยที่ประกาศนโยบายให้ผู้หญิงสามารถ ลาคลอดบุตรได้ 6 เดือน ซึ่งเป็นเวลาสำคัญที่แม่จะได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ด้วยผลวิจัยที่ระบุว่า เด็กแรกเกิดจะได้รับพัฒนาการที่ดีหากได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแม่ในช่วง 6 เดือนแรก โดย dtac จะจ่ายค่าจ้างอัตราปกติ โดยมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2559

นี่เป็นนโยบายที่มาจาก Telenor Group โดยตรง ซึ่งบริษัทในเครือทั้งหมดได้ใช้สิทธิ์ลาคลอด 6 เดือนเช่นเดียวกันหมด สิ่งสำคัญคือ หลังจาก 6 เดือนผ่านไป พนักงานสามารถกลับมาทำงานได้ มีตำแหน่งงานรออยู่

ภาพจาก Pixabay.com

Work-Life-Balance สร้างสมดุลแห่งชีวิต

พนักงาน dtac ประมาณ 5,000 คน มี 60% เป็นผู้หญิง ในปีแรกที่นโยบายนี้ประกาศใช้ (2559) มีผู้ใช้สิทธิ์ 91 คน ขณะ ม.ค. – ก.ค. 60 มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 109 คน แปลว่าปีนี้คนใช้สิทธิ์จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา

เรื่องนี้ไม่ได้ดีแค่กับครอบครัวเท่านั้น แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในที่ทำงาน ตัวพนักงานที่ลาคลอดเอง ได้ใช้เวลา 6 เดือนในการดูแลลูกอย่างเต็มที่ และเริ่มคิดถึงการกลับมาทำงาน เมื่อครบกำหนดจึงสามารถกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

นโยบายนี้ ยังช่วยดึงดูดและพัฒนาพนักงานที่มีความเป็นเลิศให้อยู่กับบริษัท ส่งเสริมความหลากหลายในการทำงาน สร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างเพื่อนรวมงาน ให้สามารถดูแลกันและทดแทนกันได้ นำไปสู่การสร้างการเติบโตของบริษัทที่ยังยืนและมั่นคง

ภาพจาก Pixabay.com

สรุป

ตามกฎหมายแรงงาน พนักงานสามารถลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 เดือน บริษัท องค์กรธุรกิจสามารถให้วันลาได้ 3 เดือน แต่เด็กแรกเกิด 6 เดือนคือช่วงเวลาสำคัญที่ต้องการการดูแล และเสริมพัฒนาการของเด็ก การให้สิทธิ์ลาได้ 6 เดือน มีส่วนช่วยคุณแม่มือใหม่ได้อย่างมาก และ Telenor Group ก็สนับสนุนให้องค์กรอื่นๆ ในไทยและทุกประเทศ ขยายวันลาคลอด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพนักงาน

สำหรับคุณผู้ชายที่ dtac สามารถลางานได้ 7 วันเพื่อดูแลภรรยา แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีการขยายวันลา (ภรรยา) คลอดให้คุณผู้ชายมากขึ้น เหมือน Facebook ที่ให้ผู้ชายลา (ภรรยา) คลอดได้ 30 วัน (แต่อาจต้องช่วย work at home แทน)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา