เดือนที่ผ่านมา ประชาชนชาวเบลารุสออกมาประท้วงจากหลักพันขยายไปจนถึงกว่าสองแสนคนบนท้องถนน เจ้าหน้าที่จึงได้บล็อคการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ แม้เป้าหมายของการตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะพยายามระงับไม่ให้คนเข้าร่วมการประท้วง แต่ก็ต้องพบกับความล้มเหลว เนื่องจากคนจำนวนมากก็ยังไม่หยุดความพยายามที่จะออกมาประท้วงประธานาธิบดี Alexander Lukashenko ที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศและพยายามจะรักษาอำนาจให้อยู่คงเดิมต่อไป
Alexander Lukashenko ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำจอมเผด็จการแห่งเบลารุส ถูกเรียกขานว่าเป็นเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป (Europe’s last dictator) เนื่องจากการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่เคยมีมา ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมอย่างแท้จริง ฝ่ายตรงข้ามถูกกดปราบ สื่อไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร การประท้วงล่าสุดในเบลารุสเป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ Lukashenko ลงจากตำแหน่ง เพราะประชาชนมองว่าการเลือกตั้งไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม
Lukashenko ยังพ่วงข้อกล่าวหาฆาตกรรมนักการเมืองอย่างน้อย 4 คน จับกุมคุมขังผู้ต่อต้านทางการเมืองนับสิบรายและพยายามรักษา 3 หลักการที่เขายึดถือต่อไป อาทิ รื้อฟื้นระบบเศรษฐกิจแบบเก่าแบบสหภาพโซเวียต เพิ่มการกดปราบทางการเมืองและเป็นพันธมิตรอย่างใกล้ชิดกับรัสเซีย
ในทศวรรษที่ผ่านมา ทั่วโลกหันมาใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นทั้งการสื่อสารและการเคลื่อนไหว ซึ่ง Jan Rydzak นักวิเคราะห์จาก Ranking Digital Rights ทำงานวิจัยแบบไม่แสวงหากำไรเพื่อสนับสนุนเสรีภาพพลเมือง Rydzak ระบุว่า เขาและเพื่อนร่วมงานได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อประท้วงของประเทศต่างๆ ในแอฟริกา พบว่า เมื่อรัฐบาลพยายามจะปิดกั้นทางอินเทอร์เน็ตหรือเซ็นเซอร์การเข้าถึงเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย ผลของการตัดอินเทอร์เน็ตดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลกระทบให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อประท้วงลดลง
ตัวอย่างเช่น การตัดการเข้าถึงโซเชียลมีเดียในเอธิโอเปียเมื่อเดือนธันวาคม 2017 ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง การศึกษาดังกล่าวพิจารณาจากพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ประท้วง แม้การประท้วงต้องเผชิญกับการตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การแทรกแซงทางเทคโนโลยี แต่ก็ไม่สามารถทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวหยุดประท้วงได้ มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงความต้องการแบบถอนรากถอนโคนของกลุ่มผู้ต้องการประท้วง พวกเขาต้องการเปล่งเสียงของพวกเขาให้ได้ยิน พวกเขาไม่ได้ต้องการอยู่แค่ในบ้านเพียงเพราะสื่อสารไม่ได้
เป้าหมายของงานศึกษาเรื่อง Dissent Does Not Die in Darkness: Network Shutdowns and Collective Action in African Countries เพื่อศึกษาการตัดอินเทอร์เน็ตนั้น (Internet shutdown, blackout, network disruption, kill switch) เป็นเจตนาที่จะดิสรัปช่องทางทั้งหมดที่จะติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ภายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบซึ่งรวมถึงการปิดเครือข่ายสัญญาณ การแบนโซเชียลมีเดีย
ความพยายามปิดช่องทางการสื่อสาร ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ในแง่หนึ่งอาจรบกวนการสื่อสารของกลุ่มผู้ประท้วงอาจทำให้เกิดความกังวลใจ ไม่พอใจเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังช่วยเพิ่มจำนวนของกลุ่มให้มากขึ้นเพราะต้องการความชัดเจนจากความไม่รู้ดังกล่าว ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของรัฐว่าไม่สามารถจัดการดีลกับกลุ่มผู้ประท้วงได้
ภาพด้านบนจากงานศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความไม่เปลี่ยนแปลงจากการพยายามตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต สีดำ หมายถึงช่วงตัดสัญญาณ สีน้ำเงิน หมายถึงช่วงที่มีการประท้วงอย่างสงบ สันติ สีแดง หมายถึงช่วงที่เริ่มมีการประท้วงรุนแรง การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและการปิดช่องทางการสื่อสารในกลุ่มผู้ประท้วงถือเป็นแนวทางยอดนิยมในแอฟริกา ไล่มาตั้งแต่สมัยที่เกิดเหตุอาหรับสปริงจนถึงปัจจุบัน และกำลังขยายในพื้นที่ประท้วงหลายแห่งทั่วโลก งานศึกษาชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งพยายามตัดสัญญาณ ยิ่งสะท้อนความล้มเหลวจากความพยายามนั้น
ที่มา – VICE, Washington Post, International Journal of Communication, Atlantic Council, Euro News
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา