หายนะจากโควิด-19 อาจวิกฤตถึงขั้นสายการบิน Low cost ล่มสลายเพราะชีวิตแบบ New Normal

การใช้ชีวิตแบบ New normal ถ้าโชคดี ก็คงเป็นชั่วระยะเวลาหนึ่งขณะที่โควิด-19 ยังไม่หยุดแพร่ระบาด แต่ถ้าโชคร้าย ก็อาจทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล หรือจนกว่าโรคระบาดจะถูกลบเลือนไป ไม่ว่าจะเกิดจากผลิตวัคซีนได้ หรือสามารถกำจัดโรคโควิด-19 ไปได้ ซึ่งก็ยังไม่มีใครรู้เวลาที่แน่นอนว่าโควิด-19 จะจบลงเมื่อไร แต่ที่รู้แน่ๆ คือวัคซีนอาจจะมาถึงมือผู้คนได้ภายใน 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง ตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่คาดการณ์

Photo by Marvin Meyer on Unsplash

หนึ่งในความโชคร้ายที่เราต้องพบเจอก็คือ สายการบิน Low cost ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบินระดับที่ใครๆ ก็บินได้ อาจจะกลายเป็นไม่ใช่ทุกคนที่บินได้แทน เนื่องจาก มาตรการ Social Distancing ที่ทำให้คนต้องเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลกระทบต่อสายการบินแน่นอน ลองจินตนาการว่า หากวันหยุดที่มีการท่องเที่ยวหนาแน่นตามเทศกาลต่างๆ แต่ที่นั่งของเครื่องบินสามารถบรรจุคนได้เพียงครึ่งหนึ่ง จะเป็นอย่างไร..?

การใส่หน้ากากไม่ว่าจะกับผู้โดยสารหรือผู้ให้บริการ ในแง่หนึ่งก็สร้างความปลอดภัยต่อกันได้ดี แต่เรื่องการบรรจุคนได้เพียงครึ่งเดียวนั้นหมายความว่ารายได้ของสายการบินจะต้องลดลงครึ่งหนึ่งด้วย ?

New Normal ของสายการบิน คือการนำ Social Distancing มาปรับใช้

New normal ที่กำลังเกิดขึ้นกับสายการบินต่างๆ คือการเริ่มนำมาตรการ Social Distancing มาใช้ นักวิเคราะห์ด้านการบินได้พูดถึงสายการบิน Low cost อย่าง Jetstar Asia ที่ได้กลับมาปฏิบัติการแล้วบางส่วนเมื่อวันอังคารที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า ทั้งเที่ยวบินจะมีผู้โดยสารไม่เกิน 112 ที่นั่ง หรือมีผู้โดยสารเพียง 60% เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการ Distancing คือการเว้นที่นั่งหนึ่งที่ให้ผู้โดยสารนั่งโดยมีระยะห่างจากกัน

ขณะที่บินอยู่จะไม่มีการให้บริการอาหาร แต่จะมีเพียงน้ำดื่มเท่านั้น หลายสายการบินเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Air New Zealand, KLM และ United Airlines ล้วนปฏิบัติแบบเดียวกัน เพื่อความปลอดภัย เรื่องนี้ Brendan Sobie นักวิเคราะห์ด้านการบินระบุว่า มันอาจจะเร็วเกินไปสำหรับสายการบินที่จะต้องมีการจัดธรรมเนียมปฏิบัติแบบใหม่ ซึ่งการบล็อคที่นั่งในเครื่องบินจะส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อรายได้ของสายการบิน เพราะสายการบินส่วนใหญ่มีคาร์โกเป็นรายได้หลัก

ภาพโดย StockSnap จาก Pixabay

แต่สถานการณ์เช่นนี้อาจส่งผลให้การท่องเที่ยวราคาถูกที่ผู้คนมักนิยมเดินทางท่องเที่ยวกันจะต้องล่มสลายไป ซึ่ง Alexandre de Juniac ผู้อำนวยการ IATA (สมาคมขนส่งทางอากาศยานระหว่างประเทศ) กำหนดให้มีการ safe distancing หรือการเว้นระยะห่างในเครื่องบิน อย่างน้อย 1 ใน 3 ของเครื่องจะต้องว่างเปล่า ด้วยเหตุนี้ ก็อาจทำให้สายการบินต่างๆ จำเป็นต้องขึ้นราคาค่าตั๋วเครื่องบินอย่างน้อย 50% เพื่อให้ได้กำไรขั้นต่ำ

หมายความว่า ทางหนึ่ง ลูกค้าอาจจะบินได้ในราคาเดิม จากการขายตั๋วราคาเดิมเหมือนกับราคาก่อนหน้านี้ที่เคยจ่าย แต่เรื่องนี้ดูจะเป็นไปได้ยากเพราะสูญเสียเงินเยอะ อีกทางหนึ่งคือ เพิ่มราคาค่าตั๋วอย่างน้อย 50% เพื่อที่จะสามารถบินได้โดยมีกำไรขั้นต่ำประคองอยู่

ลูกค้า Low-cost จะบินได้ในราคาถูกอยู่ไหม ถ้าต้องลดคนนั่งลงครึ่งหนึ่ง?

ทั้งนี้ Mr.Shukor Yusof ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านการบิน Endau Analytics ให้สัมภาษณ์กับ CNA ว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคาต้นทุนจะต้องเพิ่มขึ้น เหมือนกับช่วงหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ใหม่ๆ ที่ผู้คนต้องการความปลอดภัย ความมั่นคงมากขึ้น ตอนนั้น ต้นทุนต่างๆ ก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน เมื่อธุรกิจแบบสายการบิน Low-cost ทำเงินไม่ได้ ก็เป็นไปได้ที่สายการบินจะไม่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ Terence Fan นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมแห่งมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ระบุว่า สายการบินคงจะเสนอตั๋วราคาถูกลงหลังจากที่วิกฤตโควิด-19 เริ่มซาๆ ลงไปบ้างแล้ว เพื่อให้คนอยากบินมากขึ้น นอกจากนี้ การเว้นระยะห่างบนเครื่องบินนั้นคงจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่ใช่มาตรการระยะยาว เพราะแต่ละสายการบินก็อยากให้คนบินมากขึ้นอยู่แล้ว

ภาพโดย MichaelGaida จาก Pixabay

มองอีกมุมหนึ่งก็คือ ช่วงนี้คือช่วงที่สายการบินต่างๆ กำลังรู้สึกหมดหวัง การใช้มาตรการ social distancing อาจจะทำให้คนมีความรู้สึกอยากบินมากขึ้นก็ได้ ซึ่งก็ควรจะสำรวจคู่แข่งด้วยว่าเขามีมาตรการดึงดูดลูกค้าอย่างไร เพื่อจะได้รับมือกับภาวะแข่งขันเช่นนี้ได้ ซึ่งเรื่องนี้สายการบินเอมิเรตส์ถือว่ามีบทบาทนำในเรื่องนี้ เพราะมีการตรวจโควิด-19 ก่อนขึ้นเครื่อง

สนามบินนาริตะและฮ่องกงก็เริ่มตรวจโควิด-19 กับผู้โดยสารที่มาจากพื้นที่เสี่ยงติดโควิดสูงเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เรียกว่าอาจจะเป็น New Normal ในระยะเวลาอันใกล้ แต่ก็ไม่แน่ว่าจะทำไปยาวนานเพียงใด ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก ในไทยก็เช่นกัน

แนวทาง Social Distancing ทั่วโลกก็ต้องทำ ในไทยก็ร่วมด้วย

สำหรับประเทศไทยเอง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้กำหนดแนวปฏิบัติการให้บริการผู้โดยสารเส้นทางบินภายในประเทศช่วงที่โควิด-19 ระบาดด้วย โดยข่าวจากกระทรวงคมนาคมฉบับที่ 442/2563 พูดถึงประกาศฉบับนี้ว่า ผู้ดำเนินการเดินอากาศต้องดำเนินมาตรการ อาทิ

  • จำกัดจำนวนที่นั่งที่จะให้บริการ จำหน่ายบัตรโดยสารโดยจัดที่นั่งที่เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 ที่นั่งโดยสารระหว่างผู้โดยสารแต่ละคน (เว้นแต่ สภาพกายภาพของที่นั่งมีระยะห่างเพียงพอ, เป็นอากาศยานขนาดเล็ก ที่นั่งไม่เกิน 19 ที่นั่งแบบบินแบบเช่าเหมาลำ, เป็นอากาศยานที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน 90 ที่นั่ง ให้จำหน่ายบัตรโดยสารได้ไม่เกิน 70% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมดของอากาศยาน)
  • ถ้าท่าอากาศยานต้นทางไม่ตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการ ให้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายโดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด และหากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส มีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที หากพบว่ามีความเสี่ยง งดออกบัตรขึ้นเครื่องให้ผู้โดยสารนั้น

  • มีมาตรการเว้นระยะห่างของผู้โดยสารตลอดระยะเวลาการเดินทาง
  • ให้สวมหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ตลอดเวลาตั้งแต่ขึ้นเครื่องจนกว่าจะออกจากเครื่อง หากไม่มีและไม่สามารถจัดหาได้ ให้งดออกบัตรขึ้นเครื่องผู้โดยสารนั้น
  • งดให้บริการอาหารและเครื่องดื่มขณะปฏิบัติการบิน ห้ามผู้โดยสารรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่นำติดตัวมา
  • หากการบินใช้ระยะเวลามากกว่า 90 นาที ให้สำรองที่นั่ง 2 แถวหลังสุดด้านใดด้านหนึ่งของอากาศยาน สำหรับแยกกักผู้โดยสารที่ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเพื่อสังเกตอาการ
ภาาพจาก CAAT

กรณีที่พบผู้โดยสารหรือลูกเรือมีอาการป่วยที่สงสัยว่าจะป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 ขณะอยู่บนอากาศยาน

  • ให้แยกกักผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าจะป่วยนั่งที่นั่งริมหน้าต่างด้านขวาแถวหลังสุดให้ห่างไกลจากผู้โดยสารคนอื่นมากที่สุด
  • ให้กันห้องน้ำห้องหลังสุดไว้ใช้สำหรับกรณีการกักกันโรคโดยเฉพาะ
  • ให้มอบหน้าที่ให้ลูกเรือคนหนึ่งทำหน้าที่ในพื้นที่แยกกัก และให้ลูกเรือที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับลูกเรือคนอื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร
  • ให้นักบินผู้ควบคุมอากาศยานแจ้งข้อมูลการตรวจพบผู้โดยสารหรือลูกเรือที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยให้เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศเพื่อรายงานแก่ผู้ดำเนินการสนามบิน ณ ท่าอากาศยานปลายทาง

ที่มา – CNA, กระทรวงคมนาคม, CAAT

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์