กักตัวบนเรือยอชต์ Digital Yacht Quarantine โอกาสฟื้นท่องเที่ยวภูเก็ต

ท่องเที่ยวภูเก็ตปรับตัว กักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ Digital Yacht Quarantine ครั้งแรกในไทย พร้อมด้วยสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพ (NB-IoT Wristband Tourist Tracking) สร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวภูเก็ตและภาคใต้ของไทยอีกครั้ง

yacht digital quarantine

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว โดยในปี 2563 ภูเก็ตสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า 320,000 ล้านบาท

ดีป้า จึงได้ร่วมมือกับ AIS, บริษัท พีเอ็มเอชโฮลดิ้ง จำกัด, กลุ่มผู้ประกอบการบริหารจัดการท่าเรือ และสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย จัดโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ Digital Yacht Quarantine ครั้งแรกในไทย ด้วยแพลตฟอร์มนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ ผ่านเทคโนโลยี NB-IoT (NB-IoT Wristband Tourist Tracking) เครื่องมือมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพ (Health Monitoring) ของนักท่องเที่ยวระหว่างกักตัว 14 วัน เป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาภูเก็ต

การกักตัวบนเรือยอชต์กลางทะเลก่อนเดินทางขึ้นบก มีการเชื่อมต่อสัญญาณผ่านอุปกรณ์ IoT ได้ไกลมากกว่า 10 กม. เพื่อมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพ (Health Monitoring) ของนักท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิร่างกาย, อัตราการเต้นของหัวใจ, สัญญาณชีพจร รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว และส่งข้อมูลต่อมายังแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวได้แบบเรียลไทม์ ในระหว่างกักตัว 14 วันบนเรือก่อนเดินทางขึ้นบกเพื่อท่องเที่ยวต่อไป

สำหรับขั้นตอนในการให้บริการคือ เมื่อมีนักท่องเที่ยวประสานเดินทางเข้ามาทางเรือ ทางสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย จะเป็นตัวแทนประสานงาน กับหน่วยงานทางการแพทย์เพื่อทำการตรวจโรคในครั้งแรก พร้อมให้นักท่องเที่ยวสวม สายรัดข้อมืออัจฉริยะ หรือ NB-IoT Wristband Tourist Tracking ที่จะส่งตัวเลขสุขภาพของนักท่องเที่ยวแต่ละท่านตลอด 14 วันของการกักตัวเข้ามาที่ Dash Board ณ ที่ทำการ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ซึ่งหลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงโควิด-19 มากน้อยเพียงใด เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนให้นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นฝั่งภูเก็ตต่อไป

อุปกร์ NB-IoT เลือกใช้ดีไวซ์ 2 รุ่นคือ Activ 10+ และ Smartwatch Active 30+ ที่เป็นทั้ง Tracker และ Health Device ให้นักท่องเที่ยวใส่ที่ข้อมือติดตัวตลอดเวลา สามารถแจ้งสัญญาณ SOS ได้ หากนักท่องเที่ยวเกิดเหตุต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะแสดงไปยัง Dashboard บนเว็บไซต์ แบบ Real time เพื่อให้ส่งต่อความช่วยเหลือ หรือ ให้คำแนะนำได้ได้ตลอดเวลา โดยรูปแบบของการให้บริการ Health Monitoring ผ่านนวัตกรรมสายรัดข้อมืออัจฉริยะนี้ เป็นรุ่นเดียวกันกับที่ใช้บนเกาะ Cayman สำหรับ Hotel bubble project ที่ได้ผลอย่างดีอีกด้วย

ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจเรือยอชต์ สูญเสียรายได้กว่า 50-60% โครงการกักตัวบนเรือยอชต์น่าจะเป็นโอกาสกลับมาสร้างรายได้ คาดการณ์ว่าภายในปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยเรือยอชต์ประมาณ 100 ลำ จำนวนนักท่องเที่ยว 300-500 คน

สรุป

เป็นความพยายามคิดโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวขึ้น สร้างความพิเศษด้วยการกักตัวบนเรือยอชต์ ไม่ต้องอยู่แต่ในพื้นที่พักเท่านั้น ถือเป็นโอกาสของกลุ่มธุรกิจเรือยอชต์ในประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา