วันนี้ 10 พ.ย. 2023 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลสรุปการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่าเตรียมจ่ายให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป รายได้ไม่ถึง 70,000 บาท/เดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท เริ่มจ่ายเดือน พ.ค. 2024
เงิน Digital Wallet เตรียมจ่ายแล้ว
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลสรุปการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2566 ว่า นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล คือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ให้เข้าถึงทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
การอัดฉีดครั้งแรกมีระยะเวลา 6 เดือนเพื่อให้เงินมีการหมุนเวียน ก่อให้เกิดการลงทุนในภาคประชาชน ทั้งการรวมเงินในครัวเรือนเพื่อประกอบอาชีพ การซื้อ-ขายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า ไปจนถึงการสั่งผลิตสินค้าในโรงงาน SME ไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่
“เงินดิจิทัลวอลเล็ตก้อนนี้ไม่ได้มาจากการเสกเงิน สร้างเงิน พิมพ์เงิน หรือออกเหรียญผ่าน Initial Coin Offering แต่อย่างใด พูดให้ชัด ๆ ว่า ไม่ได้มีการเขียนโปรแกรมสร้างเงินเหมือน Cryptocurrency ต่าง ๆ และไม่ได้เป็นการนำเงินไปซื้อเหรียญมาแจก และนำไปเทรด แลกเปลี่ยน โอนให้กันและกัน เก็งกำไรไม่ได้”
ซื้ออะไรได้ และไม่ได้บ้าง
ทั้งนี้เงินดังกล่าวจะมีที่มาจากเงินบาท และมีมูลค่าเป็นเงินบาท โดยมีเงื่อนไขในการใช้งาน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจสูงกว่าอัดฉีดที่ผ่านมา และโครงการนี้ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ ทั้งร้านค้า และยืนยันรับสิทธิโดยประชาชน โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ซื้อได้ และไม่ได้ดังนี้
- ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภค บริโภคได้เท่านั้น
- ไม่สามารถใช้กับบริการได้ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม
- ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้
- ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้
- ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอมได้
- ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติได้
- แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่าง ๆ ไม่ได้ และใช้ได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชนเท่านั้น
ทั้งนี้ประชาชนที่ได้สิทธิ์สามารถใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี ไม่จำเป็นต้องจด VAT แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น โดยผู้ที่เข้าเกณฑ์รับสิทธิ์จะมีราว 50 ล้านคน
ชี้แจงที่มาของเงินโครงการนี้
สำหรับรายละเอียดที่มาของงบประมาณโครงการนี้ รัฐบาลจะออก พ.ร.บ. เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท โดยต้องได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่ง พ.ร.บ. การกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลา แผนงาน และวงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้
“รัฐบาลจะทำการกู้เงิน ก็ต่อเมื่อมีการนำเงินไปใช้ และนำมาขึ้นเป็นเงินสด ซึ่งนี่จะเป็นการทำให้เงินในระบบทั้งหมดใหญ่ขึ้นกว่า 5 แสนล้านบาท ผสมกับงบประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการที่กล่าวไปทั้งหมด ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน”
นอกจากนี้รัฐบาลยังส่งอีก 2 นโยบาย คือ นโยบาย e-refund เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายร้านค้าออนไลน์ และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อนำมาต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ๆของประเทศ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นต้น
อ้างอิง // ภาพ และเนื้อหาจากรัฐบาลไทย 1, 2
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา