Digital TV ต้องแตกต่าง เพราะ Content is King ถ้ายังทำเหมือนๆ กัน คนที่อ่อนแอกว่าก็แพ้ไป

เมื่อปี 2557 คือช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ เพราะจากเดิมที่มีเพียง 6 ช่อง ก็กลายเป็น 22 ช่องบนแพลตฟอร์ม Digital TV ทำให้การแข่งขันสูงกว่าเดิม และความหมายของ Content is King ยิ่งชัดเจนขึ้น

หน้าใหม่ก็แกร่งได้ถ้าเนื้อหาโดนใจ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ในอุตสาหกรรมสื่อนั้น Content หรือเนื้อหารายการ เป็นทั้ง King และ Key เพราะมันคือหัวใจในการดึงดูดผู้บริโภคเข้ามารับสื่อ และกลายเป็นเป้าหมายของแบรนด์สินค้า กับเอเยนซี่ในการมาลงโฆษณาเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสองเรื่องนี้สามารถสร้างธุรกิจสื่อเหล่านั้นให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

สินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการธุรกิจมีเดีย นีลเส็น (ประเทศไทย) เล่าให้ฟังว่า ถึงกลุ่มช่อง Analog TV เดิม เช่น 7 กับ 3 จะครองความนิยมไว้เหมือนเดิม ผ่านเรตติ้ง 2.171 และ 1.411 ในไตรมาสแรกของปี 2560 ตามลำดับ แต่ด้วยช่อง Digital TV เริ่มจับทิศทางของตนเองได้แล้ว ทำให้พวกเขาไล่จี้กลุ่มผู้นำ และพิสูจน์เรื่อง Content is King ได้เป็นอย่างดี

สินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการธุรกิจมีเดีย นีลเส็น (ประเทศไทย)

“ทีวีมันไม่ได้มี 6 ช่องวาไรตี้เหมือนเดิมแล้ว พอมีตัวเลือกถึง 22 ช่อง ผู้เล่นหน้าใหม่ก็พยายามสร้างความเป็นตัวเองออกมา และออกแบบเนื้อหาให้ตอบโจทย์แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้สูงที่สุด ซึ่งช่อง Workpoint ก็ทำได้ดี เพราะเมื่อเขาถนัดทำโชว์ รายการประเภท Talent Contest, Perform Show และ Game Show ก็ดึงผู้ชมมาได้จำนวนมาก”

ไม่ได้มีแค่ละครที่ดึงคนดูตลอดไป

ขณะเดียวกันช่องอื่นๆ เช่น Mono 29 ที่ฉายแต่ภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว, ช่องวัน ที่เน้นมินิซีรีส์ และช่อง 8 ที่เน้นรายการกีฬา รวมถึงช่องอมรินทร์ ที่นำรายการข่าวกลับมาเป็นแม่เหล็ก ก็แสดงให้เห็นถึงการทำเนื้อหารายการที่ดี ที่ไม่ต้องเป็นละครหลังข่าว ก็ทำให้ผู้บริโภคเข้ามารับชมรายการ และสร้างเรตติ้งติด 1 ใน 10 ของ Digital TV ทั้ง 24 ช่องได้

อย่างไรก็ตาม ช่องกลุ่มเรตติ้ง 10 อันดับแรกที่ทำเนื้อหาออกมาดี ทำช่องในกลุ่มนี้เอง และช่องที่มีเรตติ้งต่ำกว่า 10 อันดับแรก ต่างเลียนแบบเนื้อหารายการ เพียงหวังเกาะกระแส โดยเฉพาะรายการประเภท Talent Contest ที่มีเกือบทุกช่อง จนสถานการณ์กลับมาสู่ยุค Analog TV ที่มีรายการเหมือนๆ กันอีกครั้ง และช่องที่ทำได้แย่กว่า ก็เสียโอกาสการสร้างเรตติ้งทันที

สำหรับภาพรวมมูลค่าโฆษณาในปีนี้ดีที่สุดคือเติบโต 1-2% ของมูลค่า 1.15 แสนล้านในปี 2559 แย่ที่สุดคือติดลบ 4-5% โดยสื่อโทรทัศน์ทั้ง Analog TV, Digital TV และ Cable กับ Satellite TV ยังกินสัดส่วนมากที่สุด และตัวสื่อดิจิทัลน่าจะขึ้นเป็นสัดส่วน 10% ของมูลค่าโฆษณาปีนี้

ออนไลน์คือทางออก และปัญหาใหม่

ทั้งนี้ช่องทางออนไลน์ยังเป็นอีกทางออกของ Digital TV ที่มีเรตติ้ง 10 อันดับแรก รวมถึงกลุ่มที่ต่ำกว่านั้น เพราะปัจจุบันผู้บริโภคใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์กันมากขึ้น และรับชมรายการโทรทัศน์ต่างๆ กว่า 3 ชม. อ้างอิงจากผลสำรวจของนีลเส็นที่ร่วมกับ 3 ช่องทีวีดิจิทัลในการร่วมจับข้อมูลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ น้อยกว่าการรับชมโทรทัศน์ที่อยู่ 4 ชม. 10 นาทีเพียง 1 ชม.

แต่ใช่ว่าการนำเนื้อหารายการขึ้นออนไลน์จะเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ที่ดี เพราะในระยะสั้น ส่วนใหญ่ช่องต่างๆ จะฝากรายการไว้ใน YouTube หรือแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งในระยะยาวไม่เป็นผลดีแน่ เพราะรายได้จากโฆษณาที่เกิดขึ้นจะถูกแบ่งไปให้เจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านั้น ทำให้การสร้างแพลตฟอร์มขึ้นเอง เหมือน Bugaboo TV ของช่อง 7 น่าจะเป็นทางออกที่ดี

สรุป

เมื่อคนกินมีมากขึ้น แต่เค้กยังก้อนเท่าเดิม ดังนั้นคงไม่แปลกที่ช่อง Analog TV และ Digital TV ต่างเหนื่อยในสงครามนี้ไปตามๆ กัน ผ่านเรื่อง Content ใครดีกว่าก็เป็นผู้ชนะในสงครามนี้ไป ขณะเดียวกันจากการหดตัวของภาพรวมเม็ดเงินโฆษณา ก็แสดงให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร เพราะแบรนด์ต่างๆ จะลดต้นทุนเรื่องแรกก็คือเงินโฆษณานั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา