ทีวีดิจิทัลในประเทศไทยตอนนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 3 กันแล้ว ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านไปแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาเนื้อหารายการออกมาได้ดีกว่าช่วงแรกเยอะ แต่ด้วยตอนนี้อะไรๆ ก็ออนไลน์ และการที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลอยากไปบ้างมันเป็นทางที่ถูกต้องหรือไม่
ถ้าจ่ายค่าสัมปทานได้ ก็ลงทุนแพลตฟอร์มตัวเองได้
ปัจจุบันผู้เล่นในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเริ่มนำรายการของตนเองขึ้นไปเผยแพร่บนช่องทางออนไลน์ทั้ง YouTube, Facebook รวมถึง Line TV เพื่อเพิ่มโอกาสการรับชมจากผู้บริโภคมากขึ้น โดยเนื้อหารายการก็มีทั้งแบบเทปรายการย้อนหลัง และเป็นรายการที่ถ่ายทอดสดแบบออกคู่ขนานกับช่องรายการปกติ แต่ก็ยังมีผู้เล่นบางรายเลือกใช้วิธีสร้างแพลตฟอร์มการรับชมออนไลน์ขึ้นมาเป็นของตนเอง เช่น Bugaboo.tv ของช่อง 7 และไม่มีการนำรายการย้อนหลัง หรือรายการสดที่ตนเองผลิตไปฝากไว้กับแพลตฟอร์มรับชมวีดีโอออนไลน์อื่นๆ เลย
รัฐกร สืบสุข Trading Partner ของ GroupM มองว่า สุดท้ายแล้วผู้เล่นในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลทุกรายต้องกลับมาสร้างแพลตฟอร์มการรับชมออนไลน์เป็นของตนเองคล้ายกับกรณีของช่อง 7 เพราะการลงทุนนั้นไม่สูง ประกอบกับถ้าทางช่องมีเนื้อหารายการที่ดีจริงๆ ผู้บริโภคก็จะหาทางเข้ามารับชมรายการเหล่านั้นด้วยตนเอง ที่สำคัญการทำแบบนี้ยังช่วยให้มีรายได้จากการขายโฆษณาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะไม่ต้องถูกแพลตฟอร์มฝากวีดีโออื่นๆ หักค่าใช้บริการ และสามารถควบคุมรูปแบบในการขึ้นโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ ได้ด้วย
“ถ้าผู้ให้บริการทีวีดิจิทัลมีเงินจ่ายค่าสัมปทานปีละเป็นหลายร้อยล้านบาท การลงทุนทำแพลตฟอร์มรับชมรายการออนไลน์ของตัวเองนั้นเรียกได้ว่าง่ายมาก เพราะใช้เงินเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ของค่าสัมปทาน และไม่ต้องกลัวว่าทำแพลตฟอร์มออนไลน์เองแล้วเอเยนซี่จะไม่สนใจ ถ้ามีผู้บริโภคเข้าไปรับชม พร้อมกับมีระบบวัดผลการรับชมที่ชัดเจน อย่างไรเอเยนซี่ก็เข้าไปซื้อพื้นที่โฆษณาให้กับแบรนด์ต่างๆ อยู่ดี แต่ถ้าทางช่องอยากขายโฆษณาได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การขายแบบแพ็คเกจ หรือผูกระหว่างช่องทีวีดิจิทัล กับช่องทางออนไลน์เข้าด้วยกัน จะช่วยสร้างมูลค่าช่องทางออนไลน์ให้มากขึันด้วย”
30-40% ดูผ่านจอ TV ส่วนที่เหลือดูย้อนหลัง
ขณะเดียวกันด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยจากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่ามีผู้บริโภค 30-40% จากทั้งหมด รับชมสดผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ส่วนที่เหลือรับชมย้อนหลังผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมนี้เป็นทั้งคนเมือง และต่างจังหวัด ประกอบเมื่อนำค่าโฆษณาของช่องทีวีดิจิทัลเล็กๆ ที่ขายหลักพันบาท มาเทียบกับช่องทางออนไลน์ก็แทบไม่ต่างกัน แถมออนไลน์ยังให้ผลลัพธ์ได้ดีกว่า ดังนั้นการเร่งสร้างทีมงานขึ้นมา และพยายามสร้างแพลตฟอร์มรับชมรายการย้อนหลังให้ได้ดีที่สุด โอกาสอยู่รอดในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลก็สูงขึ้น
“ถ้าเอาเคสตัวอย่าง Workpoint บางเทปที่อัพขึ้นไปบน YouTube มียอดชมกว่า 10 ล้านวิว ซึ่งเทียบเท่ากับเรตติ้ง 16 ของฝั่งโทรทัศน์ (นำจำนวนยอดชมตั้ง หารด้วยประชากรทั้งหมด และคูณด้วย 100 จะได้เป็นเปอร์เซนต์เรตติ้ง) ถือว่าเยอะเทียบเท่ากับละครดังๆ บางเรื่องเลยทีเดียว แต่เมื่อเขาเอาไปออกบน YouTube ก็ได้ความสะดวก แต่ค่าโฆษณาอาจได้ไม่เต็ม เพราะ YouTube ไม่ได้บอกนิว่ารับเงินมาเท่าไหร่ และจ่ายให้ Workpoint เท่าไหร่ ดังนั้นถ้าเขาทำแพลตฟอร์มเองขึ้นมา เงินจากการขายโฆษณาก็จะเข้าบริษัทเต็มๆ ซึ่งก็เหมือนกรณี Facebook Live ที่ออกอากาศแบบคู่ขนาน”
แต่ขึ้นออนไลน์ แล้วลืมคุณภาพเนื้อหาก็ไม่รอด
อย่างไรก็ตาม เรื่องเนื้อหายังเป็นจุดสำคัญในการดึงดูดผู้บริโภค รวมถึงเอเยนซี่ เพราะถึงจะลงทุนสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เอง แต่ไม่มีคนดู ธุรกิจก็เดินต่อไปไม่ได้ ดังนั้นการทำเนื้อหาออกมาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายทั้งเฉพาะกลุ่ม และวงกว้างก็น่าจะช่วยให้ช่องที่ยังไม่มีผู้ชมมากนัก สามารถมีพื้นที่ และขึ้นค่าโฆษณา 15% เหมือนที่ช่องใหญ่ๆ ทำกัน ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเห็นการปรับตัวด้านเนื้อหาของช่องต่างๆ บ้างแล้ว เช่นการช่องเกี่ยวกับข่าวเศรษฐกิจ หรือสารคดีอย่างเดียว ส่วนเรื่องรายการถ่ายทอดสดกีฬา ก็อาจเป็นอีกวิธีในการอยู่รอดของทีวีดิจิทัล แต่ต้องอย่าลืมว่าต้นทุนลิขสิทธิ์นั้นสูง และการปราบปรามการละเมิดนั้นยังทำไม่ได้ในไทย
สรุป
ถึงการสร้างแพลตฟอร์มการรับชมออนไลน์ของแต่ละช่องขึ้นมาเองจะดูง่าย แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการทำตลาด และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับรู้ และเข้ามารับชมในแพลตฟอร์มให้ได้มากที่สุด มิฉะนั้นก็คงกลายเป็นเว็บไซต์ที่ไม่มีคนเข้า และเสียการลงทุนโดยใช่เหตุ จนธุรกิจทีวีดิจิทัลก็อยู่ลำบากกันขึ้นไปอีก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา