“พิเชฐ” บัญญัติ “SIGMA” เป็นคัมภีร์ดิจิทัลเปลี่ยนประเทศ ชี้ไม่เกินสองปีไทยพลิกโฉม

“Digital Thailand Big Bang 2017” โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี จัดขึ้นเพื่อเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมงานเสวนา “ทิศทางการปรับเปลี่ยนประเทศในยุค Digital Transformation” นำโดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี และ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มาร่วมแชร์มุมมอง แนวคิดในการยกระดับ ขับเคลื่อนประเทศไทยให้พร้อมรับกับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตอันใกล้

​ดร.พิเชฐ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไม่ใช่แค่การเปลี่ยนทีละเล็กละน้อย แต่มันคือการเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดอย่างเต็มรูปแบบ และปีหน้าคือ Digital Transformation ก็คือช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศ เมื่อเปลี่ยนแล้วสังคมไทยจะได้รับผลประโยชน์ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยใช้ดิจิทัล

นิยามด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ว่า “SIGMA”  ที่มาจาก 5 ด้านสำคัญ เพื่อการปรับเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความเป็นดิจิทัล คือ ผลรวมจากการบูรณาการจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มาช่วยกัน

“S (Security)” หรือ Cyber Security ที่จะคอยปกป้อง คุ้มครอง ทั้งปัจเจคชน หน่วยงาน

“I (Infrastructure)” โครงสร้างที่สำคัญที่สุดคือ ส่วนที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น หมู่บ้านประชารัฐ

“G (Government)” ในสายตาของดิจิทัลก็คือ e-Government ซึ่งได้วางยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจทำงานได้ง่ายขึ้น ประชาชนก็เข้าถึงภาครัฐได้ดียิ่งขึ้น

“M (Manpower)” หมายถึงกำลังคนที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นดิจิทัล 4.0

“A (Application)” ที่มาเปิดโลกธุรกิจ อุตสาหกรรมประเทศไทย โดยมีแอปพลิเคชันเป็นสื่อกลาง ทั้งธุรกิจที่มีอยู่แล้วในตลาด และธุรกิจใหม่ๆ

งาน Digital Thailand Big Bang 2017 จึงเกิดขึ้นเพื่อจุดประกายการเปลี่ยนผ่านประเทศครั้งสำคัญ และเป็นครั้งแรกกับการจัดบนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ในระบบ Ecosystem ก็คือการเปลี่ยนแปลงทั้งในระบบธุรกิจและการทำการค้า การดำรงชีวิต

อย่างที่สองคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากนวัตกรรม การรังสรรค์งานโดยกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย  ที่พวกเขาจะได้มีโอกาสเห็นนวัตกรรมจากต่างประเทศที่เป็นระดับเวิลด์คลาสว่านี่คือ นวัตกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างที่สามคือส่วนที่เรียกว่าสมาร์ทซิตี้ การดำรงชีวิตในตัวเมืองก็จะเปลี่ยนไป โดยจะจำลองให้เห็นว่าสมาร์ทซิตี้ที่ได้ยินมามันคืออะไรกันแน่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลพยายามจะปรับให้ประเทศพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งหมดได้แทรกซึมเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะใช้บริการแท็กซี่ หรือระบบขนส่งมวลชนที่ไหนก็เป็นดิจิทัล หรือแม้แต่อุตสาหกรรมในบางโครงการก็ใช้ดิจิทัลเป็นตัวผลักดันในการออกแบบสินค้า หรือบริการ สุดท้ายเราจึงวางจุดยืนให้โลกรู้ ไม่ว่าจะเป็นสถานทูต นักลงทุนต่างชาติ หรือ Global Entrepreneur Network ที่มาเข้าร่วมได้เห็นภาพว่า IoT Institute หรือ Internet of Things คือจุดยืนของประเทศไทย

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่รวบรวมปรากฏการณ์แห่งโลกยุคใหม่ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย 21-24 กันยายนนี้ ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ชาเลนเจอร์ 1-2 ลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าได้ที่ www.digitalthailandbigbang.com

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา