มูลค่าโฆษณาดิจิทัลพุ่ง 24% แตะ 11,700 ล้านบาท แล้วการวางแผนซื้อสื่อหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

เมื่อผู้บริโภคหันมาใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น คงไม่แปลกที่แบรนด์ และเอเยนซี่จะทำทุกวิถีทางเพื่อตามผู้บริโภคไปให้ได้ และจุดนี้เองทำให้มูลค่าโฆษณาดิจิทัลในปี 2560 มีโอกาสแตะ 11,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 24%

ภาพ pixabay.com

Skin-Care แซงโค้งขึ้นเบอร์หนึ่ง

ในอดีต กลุ่มที่ใช้จ่ายเงินในโฆษณาดิจิทัลมากที่สุดคือกลุ่มโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็น AIS, dtac และ True เพราะแบรนด์เหล่านี้ต้องเล่าเรื่องนวัตกรรม และเมื่อให้บริการดิจิทัล ก็ต้องเข้าไปใช้เงินโฆษณาผ่านช่องทางนี้ด้วย แต่ที่สุดแล้วกลุ่มนี้ก็ต้องตกเป็นอันดับ 2 ครั้งแรก เพราะกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือ Skin-care Preparation แซงขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง ผ่านส่วนแบ่งในมูลค่า 11,700 ล้านบาท กว่า 9% หรือราว 1,000 ล้านบาท ส่วนรองลงมาจะเป็นกลุ่มโทรคมนาคม กับกลุ่มเครื่องดื่ม Non-Alcohol ในสัดส่วนที่เท่ากัน และตามด้วยกลุ่มยานยนต์

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พวกเขาต่างใช้งาน Smartphone และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ยิ่งเติบโตในแง่จำนวน และมากขึ้นในแง่ระยะเวลา ทำให้การใช้จ่ายเงินของโฆษณาออนไลน์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ปัจจัยหนึ่งมาจากเรื่องเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นในปลายปีก่อน ทำให้แบรนด์ และเอเยนซี่ไม่สามารถใช้เงินโฆษณาได้ ดังนั้นการเติบโตนี้เองช่วยดันสัดส่วนของโฆษณาออนไลน์เป็น 10% เมื่อเทียบกับภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาแสนล้านบาทในประเทศไทยด้วย

“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มเข้ามามีบทบาทในโลกโฆษณาดิจิทัลมากขึ้น จากเดิมที่จะเป็นกลุ่มโทรคมนาคมที่ต้องทำอยู่แล้ว เพราะเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล และกลุ่มยานยนต์ที่ต้องการเข้าถึงผู้บริโภคเพื่อเพิ่มอัตราการตัดสินใจซื้อรถยนต์ แต่พอมี Skin-care และ Non-Alcohol เข้ามา ก็น่าจะเห็นสีสันในการทำตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพราะการจะนำหนังโฆษณาเวอร์ชั่นโทรทัศน์ที่ 2 กลุ่มนี้ใช้งานอยู่มาฉายบนออนไลน์ก็คงไม่ใช่ ดังนั้นต้องคอยจับตาให้ดีว่าปีนี้กลุ่มโฆษณาออนไลน์จะก้าวล้ำไปขนาดไหน”

ทีวี-โมบาย กับการซื้อแบบคู่ขนาน

Carl Costa Regional Business Lead ของ AOL ภูมิภาค APAC เสริมว่า แม้ผู้บริโภคจะย้ายไปใช้ชีวิตบนแพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งก็ยังมีพฤติกรรมเหมือนในอดีต คือรับชมโทรทัศน์ และฟังวิทยุ ดังนั้นนักการตลาดก็ต้องวางแผนซื้อสื่อแบบคู่ขนานๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้ทุกกลุ่ม แต่การจะทำเช่นนี้ได้ ต้องอาศัยเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และการเปลี่ยนแปลงความคิดภายในองค์กรอย่างรวดเร็ว เพื่อก้าวทันผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ โดยเฉพาะกับการสื่อสารให้แบรนด์สินค้าต่างๆ เข้าใจว่าต้องทำการตลาดอย่างไรในยุคนี้

สำหรับเครื่องมือในการทำตลาดออนไลน์ที่น่าจะได้ความนิยมในการใช้งานในปีนี้ประกอบด้วย

  • Real Time Media หรือสื่อที่สามารถตอบสองผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
  • Programmatic หรือการเปลี่ยนไปซื้อ Audience แทนที่จะซื้อพื้นที่แบบเดิมๆ ซึ่งการซื้อโฆษณาแบบนี้ช่วยสร้างความได้เปรียบในการเข้าถึงเป้าหมายได้ดีกว่า
  • Social Listening Tools หรือการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการตรวจสอบโลกออนไลน์ว่าตอนนี้มีกระแสเป็นอย่างไร เพื่อนำมาวิเคราะห์ และสร้างแผนการตลาดที่มีประสิทธิภาพ
  • Data Analytics Platform หรือการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Big Data ที่อ้างอิงจาก Social Listening Tools เพื่อนำมาต่อยอดแผนการตลาด

สรุป

เมื่อทุกอย่างขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์ ทั้งเนื้อหา และสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ผู้บริโภคก็คงอยากเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกนั้นมากกว่า และแบรนด์ กับเอเยนซี่ก็มีการบ้านที่ต้องเข้าถึงพวกเขาให้ได้ ดังนั้นคาดว่าปี 2561 เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ก็ยังเติบดตอย่างก้าวกระโดดอยู่ และอีกไม่นานคงมีอัตราเทียบเท่ากับโฆษณาช่องทางดั้งเดิมแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา