ส่งด่วนแล้วไง? DHL เปิดเกมรุก E-Commerce เชื่อคนซื้อของออนไลน์รอ Next Day ยังไหว

การเติบโตของ E-Commerce ในประเทศไทยไทยนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตลาดนี้จะเดินไม่ได้ถ้าไม่มีระบบขนส่ง หรือ Logistic ที่ดี ดังนั้น DHL ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้จึงเข้ามาเปิดเกมรุกในไทยเต็มตัว

ภาพโดย ŠJů

ชิงพื้นที่ตลาด E-Commerce 1.4 แสนล้าน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาด E-Commerce ที่น่าจับตามอง หลังจากประชากรกว่า 150 ล้านคนอยู่โลดแล่นอยู่บนออนไลน์ และ 2 ใน 3 ของจำนวนนี้ตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์แล้ว ซึ่งประเทศไทยนั้นคิดเป็นอันดับที่ 2 ของเรื่องนี้ ผ่านมูลค่า E-Commerce ราว 1,400 ล้านยูโรในปี 2559 หรือราว 51,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้คิดเป็นเพียง 1.7% ของมูลค่าค้าปลีกในไทยเท่านั้น ต่างกับประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตรามากกว่า 10% ที่สำคัญในปี 2563 มูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 3,600 ล้านยูโร หรือราว 1.4 แสนล้านบาทด้วย

ชาร์ลส์ บรูเอออร์ ประธานกรรมการบริหาร DHL eCommerce เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันแบรนด์ และกลุ่มค้าปลีกที่หันมาให้บริการ E-Commerce เริ่มจับทางผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการจัดส่งที่ถูกให้ความสำคัญมากกว่าเดิม เพราะผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ถึงมืออย่างมีคุณภาพ ต้องใช้บริการขนส่งที่เชื่อใจได้ ดังนั้นผู้ค้าทั้งหลายจึงกล้าที่จะลงทุนในเรื่องนี้ เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มยอดขาย และเหตุนี้เอง บริษัทจึงตั้งหน่วยธุรกิจที่ดูแลเรื่อง E-Commerce โดยเฉพาะมาให้บริการกับผู้ค้าต่างๆ รวมถึงเกาะเทรนด์เติบโต 22% ทุกปี ของ E-Commerce ในไทยได้

สำหรับในประเทศไทย DHL eCommerce เริ่มให้บริการเมื่อเดือนม.ค. 2559 โดยลงทุนสร้างคลังสินค้า 3,222 ตร.ม. กับรถขนส่งมากกว่า 400 คัน แยกออกมาจากบริการ Express หรือการส่งโดยเน้นที่เวลา เร็วสุดได้ภายในวันเดียวกัน และบริการบริหาร Supply Chain ให้กับองค์กรต่างๆ และจากเหตุนี้เองทำให้บริษัทสามารถครอบลุมการขนส่งทั่วประเทศไทยได้ 100% ที่สำคัญยังรองรับการขนส่งได้สูงสุดถึง 15 ล้านชิ้น/ปี ซึ่งปัจจุบันยังไม่เต็มความจุดังกล่าว

Next Day ก็ถือว่าเร็วแล้วในโลก E-Commerce

เกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ DHL eCommerce ประเทศไทย

เกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ DHL eCommerce ประเทศไทย มองว่า ตอนนี้ภาระกิจหลักในการทำตลาดในประเทศไทยคือพยายามสร้างการจดจำเรื่องคุณภาพการขนส่งให้กับผู้ให้บริการ E-Commerce และกลุ่ม SME ในประเทศไทยที่มีกว่า 2.7 ล้านราย ผ่านการสร้างบริการที่เหมาะสม รวมถึงชูจุดเด่นเรื่องสิ่งที่รายอื่นยังทำได้ลำบาก เช่นบริการ Cash on Delivery (COD) หรือการเก็บเงินปลายทาง รวมถึงการช่วยเหลือเรื่องการขนส่งไปยังต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของบริษัทด้วย

“ยอมรับว่าเราเพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2559 ในขณะที่ตลาดตอนนี้มีผู้เล่นเต็มไปหมด แต่พอทำไป 1 ปีก็พบว่าเรามียอดส่งสินค้าในประเทศราว 2 แสนชิ้น/วัน เป็นการส่งต่างจังหวัดถึง 60% และช่วยผู้ประกอบการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ 30-40% ของยอดส่งทั้งหมดด้วย ที่สำคัญการส่งในประเทศเกือบทั้งหมดเป็นการส่งแบบขั้นต่ำ Next Day แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่รอได้ และเน้นที่ความน่าเชื่อถือของการส่งสินค้ามากกว่า ไม่ต้องถึงขั้น Same Day หรือภายในไม่กี่ชั่วโมงเหมือนที่ตลาดนั้นแข่งกันค่อนข้างหนัก”

ราคาไม่ได้สูง ถ้าเทียบคุณภาพ และบริการ

อย่างไรก็ตามถึงผู้บริโภค และผู้ประกอบการอาจมอง DHL ว่าคิดราคาสูง แต่จริงๆ แล้วถ้าคำนวนเรื่องงานบริการ และคุณภาพ ถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้ ที่สำคัญบริษัทไม่ทำโฆษณาทางโทรทัศน์ แต่เลือกใช้งานบริการคุณภาพสร้างการรับรู้ของแบรนด์มากกว่า

ทั้งนี้สินค้าที่ขนส่งจำนวนมากในไทยคือ สินค้าแฟชั่น และไอที เนื่องจากมูลค่าการซื้อ/ครั้งในไทยต่ำเพียง 900 บาท และบริการ COD คือเป็น 60% ของยอดส่ง ส่วนวันที่ส่งแล้วสำเร็จสูงสุดคือวันธรรมดา และมูลค่าตลาดขนส่ง E-Commerce ในไทยอยู่ที่ 8% ของตลาด E-Commerce หรือราว 4,000 ล้านบาทในปี 2559

สรุป

DHL ประกาศเกมรุกเต็มรูปแบบ พร้อมตั้งเป้าเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องการขนส่งสินค้า E-Commerce เหมือนกับเบอร์ในธุรกิจ Logistic ระดับโลก ดังนั้นบริษัทในไทยก็คงต้องปรับตัว โดยเฉพาะไปรษณีย์ไทยที่แม้จะมีจุดเด่นเรื่องราคา แต่คุณภาพคงสู้ยักษ์ใหญ่จากเยอรมันไม่ได้ ที่สำคัญ DHL ยังส่งได้ทั่วประเทศแล้ว ทำให้การแข่งขันเริ่มหนีกันไม่ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา