สรุป 5 บทเรียนธุรกิจจากหนังสือเจ้าสัวธนินท์ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”

ถือเป็นครั้งแรกที่ “เจ้าสัวธนินท์” ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะลุกขึ้นมาเขียนหนังสือเล่าชีวประวัติของตัวเอง (ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์มติชน) จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของคุณธนินท์ ในฐานะหนึ่งในนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย จะตามไปอ่านเพื่อดูว่า “เจ้าสัวคิดอะไร”

หนังสือของธนินท์ใช้ชื่อว่า “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ถือเป็นภาพสะท้อนแนวทางการทำธุรกิจและดำเนินชีวิตของเจ้าสัวธนินท์ได้เป็นอย่างดี และเป็นคำตอบไปในตัวว่าทำไมเจ้าสัว (รวมถึงธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์) ถึงได้ประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ เนื่องจากเจ้าสัวมีเวลาดีใจกับความสำเร็จในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งได้เพียงวันเดียว วันถัดไปก็เดินหน้าไปสร้างธุรกิจใหม่ต่อนั่นเอง

และนี่คือการสรุปบทเรียนชีวิต 5 ประการ จากที่เจ้าสัวธนินท์เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้

ปกหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”

บทเรียนที่ 1: โลกตะวันออก + โลกตะวันตก

เมื่อพูดถึงชื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ CP คนไทยส่วนใหญ่มักนึกถึง “ความเป็นจีน” ตามเชื้อชาติของบรรพบุรุษ “เจี่ยเอ็กชอ” บิดาของเจ้าสัวที่อพยพมาจากเมืองจีน, ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของกลุ่ม CP กับประเทศจีนที่มีมายาวนาน ถึงขนาดได้ใบอนุญาตให้เข้ามาประกอบธุรกิจในจีนหมายเลข 0001 (CP มาก่อนธุรกิจของทุกชาติ)

แต่ถ้าย้อนไปดูเส้นทางชีวิตของเจ้าสัวธนินท์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลับสร้างตัวขึ้นมาได้จากเทคโนโลยีของโลกตะวันตกด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา!

หลังจากหนุ่มน้อยธนินท์ เข้ามารับช่วงกิจการ “ร้านเจริญโภคภัณฑ์” ขายอาหารสัตว์ต่อจากพี่ชายได้ระยะหนึ่งจนธุรกิจอยู่ตัว ก็หันมาทำธุรกิจเลี้ยงไก่ ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ของเมืองไทยในยุคนั้น ที่ไก่เป็นสัตว์เลี้ยงของชาวนารายย่อย มีราคาแพง และไม่มีมาตรฐาน

ธนินท์ เดินทางไปทั่วโลกเพื่อเฟ้นหาเทคโนโลยีที่ช่วยให้เลี้ยงไก่ได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม จนไปได้เทคโนโลยี contract farming และพันธุ์ไก่จาก อาเบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres ปัจจุบันอยู่ในเครือ Aviagen) ซึ่งเป็นบริษัทเลี้ยงไก่เนื้อรายใหญ่ของโลก โดยผ่านการแนะนำของธนาคาร JP Morgan Chase และตระกูล Rockefeller ที่เป็นผู้ถือหุ้น

การได้ไปเรียนรู้จากอาเบอร์ เอเคอร์ส ทำให้ผมพบว่า การเลี้ยงไก่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง ยิ่งเป็นเกษตรกรที่ไม่มีความรู้ ยิ่งต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง

เมื่อประสบความสำเร็จกับอุตสาหกรรมไก่ ธนินท์ก็ก้าวเข้าสู่การเลี้ยงหมู และผลิตซ้ำความสำเร็จด้วยวิธีเดียวกัน นั่นคือนำเทคโนโลยีเลี้ยงหมูจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาประยุกต์เข้ากับสภาพแวดล้อมในเมืองไทย ตามด้วยการบุกเบิกธุรกิจกุ้ง ด้วยพันธุ์ “กุ้งขาว” จากฮาวาย

หรือแม้กระทั่งแนวคิดการสร้างร้าน 7-Eleven ธนินท์ก็เป็นคนมองการณ์ไกล และไปเทียวไล้เทียวขื่อเจ้าของ 7-Eleven บริษัทแม่ที่สหรัฐ ที่ไม่สนใจตลาดเมืองไทยในตอนแรก ให้ยอมมาร่วมทุนเปิดสาขาในไทยได้สำเร็จ

จะเรียกได้ว่า เจ้าสัวธนินท์ เป็นผู้นำของนักธุรกิจไทยที่อิมพอร์ตเทคโนโลยีจากฝรั่งเข้ามาก็คงไม่ผิดนัก

ในมุมของธนินท์แล้ว ไม่มีคำว่าสหรัฐหรือจีน ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างโลกตะวันตกหรือโลกตะวันออก ขอเพียงเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุด ดีที่สุด เขาก็พร้อมเป็นคนแรกที่นำเข้ามาใช้ในเมืองไทย และนำเข้ามาอย่างรู้ลึก รู้จริง ทดลองทำจริง เรียนรู้จากความผิดพลาด และแก้ปัญหาจนธุรกิจประสบความสำเร็จ

ภาพจากเว็บไซต์ Arbor Acres

บทเรียนที่ 2: ทำอะไรต้องครบวงจร

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของธนินท์ หนีไม่พ้นการนำโมเดล contract farming เข้ามาใช้กับประเทศไทย โดยเริ่มจากธุรกิจเลี้ยงไก่ ก่อนขยายมายังธุรกิจด้านการเกษตรอื่นๆ อีกมาก

เจ้าสัวมองว่าการทำเกษตรแบบแปลงเล็ก ต่างคนต่างทำ จะล้าสมัยในไม่ช้า ทางออกคือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ต้องลงทุนสูง ซึ่งเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถลงทุนได้ ตรงนี้ทำให้ ซี.พี. ต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนทั้ง เงินทุน เทคโนโลยี และการหาตลาด ปล่อยให้เกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการผลิตเพียงอย่างเดียว

การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุ์ไก่ วัคซีน หรือระบบโรงเรือนแบบปิด ทำให้ปัจจุบันเกษตรกร 1 คน สามารถดูแลไก่ได้ถึง 170,000 ตัว และเจ้าสัวเองตั้งเป้าว่าจะดันไปให้ได้ถึงระดับ 1 คนดูแลไก่ 340,000 ตัว หรือสองเท่าจากปัจจุบัน

เราต้องช่วยเกษตรกรใน 3 เรื่องที่ขาด ช่วยแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ ถ้าเกษตรกรไม่มีเงินทุน แล้วจะไปสอนเทคโนโลยีให้เขาทำอะไรได้ ถ้ามีเงินทุน มีเทคโนโลยี แต่ไม่มีตลาด ก็ไม่รู้จะขายให้ใคร ฉะนั้นทั้ง 3 เรื่องนี้ต้องทำควบคู่กัน

เจ้าสัวระบุว่านำแนวคิด “ครบวงจร” มาจากสหรัฐอเมริกาอีกเช่นกัน โดยมองว่าระบบนี้ช่วยลดความเสี่ยงให้เกษตรกรลง ให้เกษตรกรซึ่งมีที่ดิน มีแรงงาน เข้ามาออกที่ดิน ออกแรงงาน และให้ผู้ที่มีความพร้อมกว่าในเรื่องเงินทุน เทคโนโลยี การตลาด เข้ามารับความเสี่ยงด้านอื่นแทน

ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการทำธุรกิจต่อยอดของ ซี.พี. ที่รับซื้อไก่จากเกษตรกรที่เป็น contract farming ไปแปรรูปเป็นเนื้อไก่ (ซึ่ง ซี.พี. ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุด) และกระจายเป็นสินค้าผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของ ซี.พี. ไม่ว่าจะเป็น 7-Eleven, CP Freshmart, Makro, Chester’s Grill หรือแม้กระทั่งไก่ย่างห้าดาว

โมเดล “ครบวงจร” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ supply chain ทั้งระบบ เพราะตัดคนกลางออกไปทั้งหมด เหลือเพียงแค่เกษตรกร ซี.พี. และผู้บริโภค ทำให้การหากำไรกันเป็นทอดๆ ของพ่อค้าคนกลางในแต่ละช่วงนั้นหายไป ผลคือเกษตรกรมีรายได้มั่นคง ไม่ขึ้นกับสภาพตลาด ธุรกิจของ ซี.พี. เติบโตและลดต้นทุนลง ส่วนผู้บริโภคก็ได้กินไก่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง

เจ้าสัวนำโมเดล “ครบวงจร” ไปผลิตซ้ำกับธุรกิจอื่นๆ ต่อ ตัวอย่างคือกุ้ง ที่ซี.พี. นำพันธุ์กุ้งขาวที่มีประสิทธิภาพสูง (จับกุ้งได้ 12 ตันต่อบ่อ เมื่อเทียบกับกุ้งกุลาดำเดิม 0.9 ตันต่อบ่อ) มาพลิกโฉมอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งในไทย และนำไปแปรรูปจนกลายเป็น “เกี๊ยวกุ้ง” ที่วางขายในร้าน 7-Eleven ซึ่งก็เป็นเมนูที่เจ้าสัวใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเวลามาเยือน ซี.พี. ด้วย

ร้านค้าปลีกซีพี เฟรชมาร์ท หนึ่งในช่องทางการกระจายสินค้าของ CP (ภาพจาก CPF)

บทเรียนที่ 3: ตลาดในโลกนี้เป็นของ ซี.พี.

ในหนังสือเล่มนี้ เจ้าสัวธนินท์ย้ำประโยคซ้ำๆ อยู่บ่อยครั้งว่า

วัตถุดิบในโลกนี้เป็นของ ซี.พี.

ตลาดในโลกนี้เป็นของ ซี.พี.

คนเก่งในโลกนี้เป็นของ ซี.พี.

ตรงนี้สะท้อนมุมมองการลงทุนในต่างประเทศของ ซี.พี. ได้เป็นอย่างดี

เจ้าสัวพูดออกสื่ออยู่บ่อยๆ ถึง หลักการ 3 ประโยชน์ ว่าจะทำธุรกิจที่ไหน ประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์ ประชาชนประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์ และบริษัทก็ต้องได้ประโยชน์ โดยเรียงลำดับความสำคัญว่า ประเทศต้องมาก่อน ส่วนบริษัทอยู่อันดับท้ายสุด หากประเทศและประชาชนได้ประโยชน์แล้ว ซี.พี. จะได้ประโยชน์ตามมาเอง

เครือ ซี.พี. มีประสบการณ์ลงทุนในต่างประเทศมาตั้งแต่รุ่นพ่อ เพราะเจีย เอ็กเช็ง พ่อของเจ้าสัวธนินท์ ก็ไปทำธุรกิจที่มาเลเซียต่อ หลังจากลงหลักปักฐานในประเทศไทยแล้ว (ถึงขั้นติดอยู่ที่มาเลเซีย กลับไทยไม่ได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) ส่วนพี่ชายของเจ้าสัวก็เข้าไปเปิดโรงงานอาหารสัตว์ที่อินโดนีเซีย ตั้งแต่ยุคแรกๆ ของร้านเจริญโภคภัณฑ์

เจ้าสัวระบุว่าไม่ยึดติดว่าต้องลงทุนที่ไหน ขอเป็นแค่ตลาดที่เหมาะสม มีขนาดที่ใหญ่พอ และไม่มีคู่แข่งที่แข็งแกร่ง ซี.พี. ก็พร้อมเข้าไปลงทุน

ประเทศไทยก็เช่นกัน ในแผนที่โลกเรามีขนาดเล็กนิดเดียว แล้วเราจะไปเอาวัตถุดิบจากที่ไหนไปผลิตสินค้าขายทั่วโลก ต้องมองว่า ตลาดโลกเป็นของเรา วัตถุดิบที่ไหนมีคุณภาพดีและราคาเหมาะสมก็ซื้อที่นั่น

และเมื่อตัดสินใจลงทุนแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปใช้และลงทุนให้ครบทุกขั้นตอนการผลิต

เจ้าสัวเล่าเรื่องการเข้าไปลงทุนที่พม่า โดยนำพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัวต์ที่ดีที่สุดของ ซี.พี. เข้าไปปลูกด้วย ซึ่งให้ผลผลิตที่ดีกว่าเดิม 3 เท่า ช่วยให้ต้นทุนไข่ไก่ลดลง และเป็นผลให้ราคาไข่ในพม่าลดลงเป็นครั้งแรก หรือเรื่องการเข้าไปตั้งโรงงานอาหารสัตว์ในจีน ที่ภายหลังต่อยอดจนกลายมาเป็นธุรกิจมอเตอร์ไซค์ด้วย ถือเป็นตัวอย่างการลงทุนของ ซี.พี. ที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนในธุรกิจที่มีอยู่ในไทยเพียงอย่างเดียว รวมถึงธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานแบรนด์ Kitchen Joy ในแถบสแกนดิเนเวีย ที่คนไทยอาจไม่เคยได้ยินชื่อกันสักเท่าไรนัก

มุมมองการลงทุนของเจ้าสัว ที่ไม่ยึดติดกับตลาดใดๆ จึงสะท้อนให้เห็นความคล่องตัวของ ซี.พี. ในการขยายกิจการ ทั้งในแง่ประเภทธุรกิจ และในแง่ของพรมแดนการลงทุนตามประเทศต่างๆ

ภาพแผนที่การลงทุนของซีพีเอฟ CPF (ภาพจากซีพีเอฟ) กดเพื่อดูภาพขนาดเต็ม

บทเรียนที่ 4: บริหารคนแบบ ซี.พี.

เราเห็นว่าเจ้าสัวธนินท์ ริเริ่มมาจากการนำเทคโนโลยีทันสมัยจากโลกตะวันตกเข้ามาใช้งาน บวกกับโมเดลธุรกิจ “ครบวงจร” ที่คิดครบรอบด้าน และการไม่ยึดติดกับพื้นที่หรืออุตสาหกรรมใดๆ ทำให้ขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

แต่ทั้งนี้ ซี.พี. จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่มีคนเก่งๆ มาร่วมงานด้วย

เจ้าสัวเล่าการเปลี่ยนผ่านของร้านเจริญโภคภัณฑ์ จากระบบกงสี สู่ธุรกิจที่ต้องใช้พลังจากคนนอกว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะธุรกิจเติบโตขึ้น ยังไงคนในครอบครัวก็มีไม่พอ จึงต้องกล้าใช้คนนอกเข้ามาทำงาน โดยเริ่มจากการผลักดันคุณมิน เธียรวร พนักงานเก่าแก่ของร้านมาดูแลการเงินแทนคุณหญิงเอื้อปราณี พี่สะใภ้ของเจ้าสัว ซึ่งผลปรากฏว่าคุณมิน รักษาเงินยิ่งกว่าเจ้าของเงินเสียอีก

แกนหลักคนอื่นของ ซี.พี. ในยุคตั้งต้น ได้แก่ ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ที่มาช่วยวางโครงสร้างองค์กรให้ทันสมัย ที่สำคัญคือ ซี.พี. ไม่ได้มอง “คนเก่ง” เพียงแค่คนไทยเท่านั้น ถ้าเก่งจริงๆ ต่อให้อยู่คนละซีกโลก ซี.พี. ก็จะดึงตัวมาร่วมงาน ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ “ดร.หลิน” หรือชื่อไทยคือ ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล ชาวไต้หวันที่เชี่ยวชาญด้านเคมีการเกษตร ถูกดึงเข้ามาช่วยวางรากฐานเรื่องการผลิตอาหารสัตว์ให้ ซี.พี. และภายหลังก็ได้เป็นคนดูแลธุรกิจในไต้หวันทั้งหมดให้ ซี.พี.

“คนเก่ง” ที่มาร่วมงานกับเราจึงไม่จำกัดว่า ต้องเป็นคนไทยหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือต้องเป็นคนในครอบครัว จะได้ลงทุนทั่วโลก ถ้าจำกัดว่าต้องเอาคนไทยหรือคนในครอบครัวไปทำเท่านั้น ไม่มีทางพอ

เจ้าสัวธนินท์ สอนหลักการดึงคนเก่งมาร่วมงานว่าต้องใช้ 3 ข้อคือต้องให้ “อำนาจ” “เกียรติ” “เงิน”

ถ้าไปเชิญคนเก่งในโลกนี้ เขาไม่ได้มองแต่เงินเท่านั้น เขามองถึง “เกียรติ” ของเขาด้วย แม้ให้เงินเดือนสูงแต่ไม่ให้ตำแหน่งที่ดี ให้อำนาจเขาได้ทำงาน เขาก็ไม่อยากอยู่กับเรา ต้องให้ทั้งสามอย่าง จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้จะรักษาคนเก่งไว้ไม่ได้

เจ้าสัวยังมีหลักการเรื่องการใช้ลูกหลานมาทำงานใน ซี.พี. ว่าจะไม่นำลูกหลานมาทำงานในธุรกิจที่สำเร็จแล้ว เพราะมีแต่ข้อเสีย หากลูกหลานไม่เก่งจริง ธุรกิจจะมีปัญหาเป็นปกติ แต่ต่อให้ลูกหลานเก่งจริง ทุกอย่างในบริษัทก็ดีอยู่แล้ว คนอื่นก็จะไม่รู้ว่าเก่งจริง และจะกลายเป็น “แซงคิว” คนเก่งในธุรกิจนั้นอยู่แล้ว

เจ้าสัวจึงจะให้ลูกหลานไปทำธุรกิจใหม่ๆ ให้แสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ ถ้าบริหารดีเจริญรุ่งเรือง ก็จะได้ธุรกิจใหม่มาอีก และได้รับการยอมรับจากคนในองค์กรด้วย

ภาพถ่าย ห้างเจียไต้จึง ที่ถนนทรงวาด (ภาพจาก CP)

บทเรียนที่ 5: ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว

บทเรียนข้อสุดท้ายอาจเป็นบทเรียนที่สำคัญที่สุด และเป็นเคล็ดลับของเจ้าสัวธนินท์เลยก็ว่าได้ นั่นคือการมองว่า “เหนือฟ้า ยังมีฟ้า”

ของที่ดีที่สุด ผมก็ยังไม่ถือว่า เป็นของดีที่สุด แต่ต้องพยายามศึกษาค้นคว้าว่า ยังมีสิ่งที่ดีกว่านี้อีกไหม

ความคิดนี้นำพา ซี.พี. จากธุรกิจเกษตร มาสู่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ทั้ง Makro และ 7-Eleven จากนั้นก็เข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคม ท่ามกลางคำถามจากสังคมว่า ทำไมคนเลี้ยงไก่ จึงกล้ามาทำโทรศัพท์

เจ้าสัวบอกว่า ซี.พี. ไม่เคยจำกัดตัวเอง ตลาดโลกเป็นของทุกคน คนเก่ง วัตถุดิบ เงินในโลกนี้เป็นของทุกคน หากมีความสามารถย่อมหามาได้ เราจึงขยายธุรกิจเติบโตไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

คนไม่เข้าใจไม่เคยเห็นตอนผมสร้างธุรกิจ เพราะไม่มีใครสนใจทำ มาเห็นตอนที่ธุรกิจของผมสำเร็จแล้ว จึงคิดว่า ซี.พี. ผูกขาด แต่ไม่รู้ว่าตอนผมสร้างธุรกิจ ลองผิดลองถูกอยู่นั้นมันลำบากขนาดไหน

โลกนี้ไม่มีอะไรง่าย ยิ่งทำงานใหญ่ อุปสรรคก็ยิ่งใหญ่ ถึงมีเงินเยอะ ก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้ทุกอย่าง มีแต่ความกดดันรอบตัว

วันนี้สำเร็จ พรุ่งนี้อาจจะล้มเหลว

วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้อาจมีคนที่เก่งกว่า

ผมจึงต้องคิดพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ธนินท์เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะวางมือเมื่อตอนอายุ 55 ปี ซึ่งก็วางแผนส่งต่อธุรกิจไปเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงธุรกิจใหม่คือโทรศัพท์กับค้าส่งค้าปลีกที่ยังต้องดูแลอยู่ แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น เจ้าสัวจึงยังต้องทำงานต่อ

วันนี้ เจ้าสัวธนินท์ในวัยเลข 8 นำหน้า ยังทำงานต่อไป แม้ใครๆ จะบอกว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ในมุมของเจ้าสัว วันนี้สำเร็จ พรุ่งนี้อาจล้มเหลวก็ได้

ประโยคสุดท้ายของเจ้าสัวในหนังสือเล่มนี้จึงเป็นคำว่า

ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว

พรุ่งนี้ทำงานต่อ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา