อ่านเทรนด์การสื่อแบรนด์กับ “เด็กซ์” ดันตลาดไลเซ่นการ์ตูนแตะ 1,000 ล้านบาท

การสื่อสารแบรนด์ไปยังผู้บริโภคมีหลากหลายวิธี แต่หนึ่งในวิธีที่ไม่หายไปคือการใช้คาแร็คเตอร์ตัวการ์ตูนต่างๆ ในการติดต่อ เพราะด้วยความน่ารัก และไปได้กับทุกเพศทุกวัย ทำให้ภาพรวมการใช้จ่ายเพื่อซื้อลิขสิทธิ์คาแร็คเตอร์ต่างๆ เติบโตอย่างต่อเนื่อง และปีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะแตะ 1,000 ล้านบาท

ตัวการ์ตูนมีภาษีดีกว่าจ้างดารา

พนิดา เทวอักษร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดรีม เอ็กซ์เพรส จำกัด หรือเด็กซ์ ผู้ถือลิขสิทธิ์คาแร็คเตอร์การ์ตูน เช่นวันพีช, อุลตร้าแมน และมาคส์ไรเดอร์ บอกว่า โอกาสที่การใช้จ่ายเพื่อซื้อลิขสิทธิ์คาแร็คเตอร์ตัวการ์ตูนต่างๆ เพื่อสื่อสารแบรนด์ และใช้ประกอบกับแผนการตลาดมีโอกาสพุ่งไปถึง 1,000 ล้านบาทได้ในปีนี้ โดยเพิ่มจากปี 2558 เล็กน้อย เพราะการใช้ตัวการ์ตูนมีประสิทธิภาพมากกว่าการจ้างดารา ผ่านจุดเด่นเรื่องเข้ากับทุกเพศทุกวัย และไม่ได้เรื่องแฟนคลับเข้ามาเกี่ยวข้องในแง่ลบมากนัก

“ส่วนตัวยังเชื่อว่าการใช้ตัวการ์ตูนยังมีประสิทธิภาพกว่าการจ้างดาราเข้ามาช่วยโปรโมทแบรนด์สินค้า เพราะจุดแข็งของการ์ตูนคือเข้าได้กับทุกวัย ไม่ว่าผู้ใหญ่ หรือเด็กก็รู้จักตัวการ์ตูนเหล่านี้ ที่สำคัญการจ้างดารานั้นต้องอิงกระแสเป็นหลัก ทำให้ไม่ยั่งยืน รวมถึงมีความเสี่ยงหากดาราเหล่านั้นมีข่าวในแง่ลบ จึงสังเกตได้ว่าแบรนด์ใหญ่ๆ ทั้งธุรกิจรีเทล และบริการ เริ่มหันมาใช้คาแร็คเตอร์การ์ตูนในการสื่อสาร เช่นเซเว่นอีเลฟเว่น และเทสโก้โลตัส รวมถึงว่าจ้างนักออกแบบคาแร็คเตอร์เพื่อมีคาแร็คเตอร์ในการสื่อสารเป็นของตัวเองเช่นกัน”

panida
พนิดา เทวอักษร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดรีม เอ็กซ์เพรส จำกัด หรือเด็กซ์

ลิขสิทธิ์ถ้าได้มาต้องปั้นให้เป็น

จากความนิยมของการใช้คาแร็คเตอร์ ทำให้มีบริษัทต่างๆ เริ่มติดต่อไปยังเจ้าของคาแร็คเตอร์ต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อช่วยเป็นผู้บริหารจัดการลิขสิทธิ์ให้ แต่ในความเป็นจริง หากได้คาแร็คเตอร์ที่มีความโด่งดัง และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ใช่ว่าจะสำเร็จเสมอไป เพราะการสร้างแบรนด์ดิ้งให้กับคาแร็คเตอร์เหล่านั้นในประเทศไทยค่อนข้างยากกว่าในอดีต ผ่านปัจจัยเรื่องดิจิทัลมีเดียที่ต้องมีความเข้าใจเป็นพิเศษ รวมถึงตัวแปรอื่นๆ เช่นจำนวนผู้ถือลิขสิทธิ์คาแร็คเตอร์ที่ทำตลาดมานาน และทักษะในการเปลี่ยนความคิดแบรนด์ให้ไปทางนี้มากขึ้น

สำหรับ “เด็กซ์” ปัจจุบันได้รับอนุญาตจาก “โตเอะ” เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูน เช่นดิจิมอน, ดรากอนบอล, เซเลอร์มูน, สแลมดังก์ และวันพีช ให้ช่วยบริหารจัดการลิขสิทธิ์คาแร็คเตอร์จากเรื่องวันพีช ซึ่งเมื่อ 5 ปีก่อน บริษัทเริ่มวางแผนการสร้างแบรนด์วันพีชในประเทศไทยอย่างจริงจัง เริ่มต้นจากการสร้างคอมมูนิตี้ของการ์ตูนเรื่องนี้ที่อยู่ในช่วงมัธยมต้นถึงวัยทำงาน ประกอบกับติดต่อกับแบรนด์สินค้าต่างๆ ให้นำคาแร็คเตอร์ต่างไปใช้ รวมถึงการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่นการฉายภาพยนตร์ และนำการ์ตูนเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัลมีเดีย

กลุ่มทรูสร้างคาแร็คเตอร์เพื่อสร้างแบรนด์ขึ้นเอง ผ่านการนำดารามาผสมกับตัวการ์ตูน
กลุ่มทรูสร้างคาแร็คเตอร์เพื่อสร้างแบรนด์ขึ้นเอง ผ่านการนำดารามาผสมกับตัวการ์ตูน

แม้เด็กไม่มีปัญหากำลังซื้อ แต่เศรษฐกิจซบก็ทำบริษัทหดตัว

“ยอมรับว่าปีนี้รายได้ของบริษัทคงลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้การลงทุนซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนจากแบรนด์สินค้าต่างๆ เพื่อไปทำตลาดเกิดการชะลอตัว แต่บริษัทก็ปรับตัวด้วยการสร้างรายได้จากการจัดอีเวนท์ รวมถึงร่วมกับช่องทางดิจิทัลมีเดียเพื่อนำคอนเทนต์การ์ตูนที่มีไปเผยแพร่ แต่เรื่องสินค้าที่จับต้องได้ เช่นการจำหน่ายแอนิเมชั่นบนแผ่นดีวีดี และบลูเรย์ ก็ยังต้องมีอยู่ เพราะยังสร้างยอดขายจากฝั่งผู้ซื้อเพื่อสะสม ไม่ใช่เพื่อรับชม”

ขณะเดียวกัน “เด็กซ์” ยังจัดตั้งบริษัท ดรีม 16 จำกัด เพื่อมาทำธุรกิจรีเทลเต็มรูปแบบ เริ่มต้นที่การลงทุน 10 ล้านบาท เพื่อเปิดร้าน “มูกิวาระสโตร์ แบงค็อก” หรือร้านจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์การ์ตูนวันพีช ที่ปัจจุบันมีแค่ในประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน ตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเกจเวย์ เอกมัย ขนาดพื้นที่ 155 ตร.ม. โดยสินค้าที่จำหน่ายราคาเริ่มต้น 39 – 4,000 บาทมีทั้งนำเข้าจากญี่ปุ่น และผลิตในไทยในอัตราที่เท่ากัน โดยสินค้าที่ผลิตเองจะเป็นเสื้อ และเครื่องเขียน คาดว่าจะคืนทุนภายใน 1.5 ปี ผ่านการใช้งบการตลาด 4 – 5 ล้านเพื่อทำโปรโมชั่นต่างๆ

หน้าร้านมูกิวาระสโตร์ ที่ห้างสรรพสินค้าเกจเวย์ เอกมัย
หน้าร้านมูกิวาระสโตร์ ที่ห้างสรรพสินค้าเกจเวย์ เอกมัย

สรุป

ธุรกิจผู้บริหารลิขสิทธิ์คาแร็คเตอร์แม้จะมีอนาคตสดใส เพราะเด็กๆ ที่ไม่มีปัญหาเรื่องกำลังซื้อ หากเห็นคาแร็คเตอร์ที่ชอบปรากฎบนสินค้าต่างๆ ก็ต้องอ้อนผู้ปกครองให้จ่ายเงินเป็นเรื่องธรรมดา แต่การยึดติดกับแหล่งรายได้เดิมๆ โอกาสเติบโตก็คงไม่มี และการออกไปหารายได้ด้วยการทำธุรกิจรีเทลก็น่าจะเป็นอีกทางออก เนื่องจากไม่ใช่แค่แฟนบอยที่ซื้อของ ยังมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเพื่อมาที่แห่งนี้เช่นกัน แต่ต้องอย่างลืมว่า Retail is Detail ดังนั้นการใส่ใจในการบริการ รวมถึงบริหารต้องดีจริง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา