องค์กรที่ถูกจับตามองมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุคไทยแลนด์ 4.0 คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE และมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เป็นหน่วยงานใหม่ที่ก่อตั้งมาเพื่อผลักดันแผนงานต่างๆ ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล
ประเทศไทยจะเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ได้เต็มรูปแบบ DEPA เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญ และทำให้ 5 ผู้บริหารจาก DEPA ได้รับการจับตามอง และมีการเปิดวิสัยทัศน์ครั้งแรกในเวทีทอล์คโชว์ งาน DEPA: Digital Transformation Thailand
สร้าง Digital Ecosystem เพื่อเศรษฐกิจไทย
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ ของ DEPA บอกว่า แนวคิดสำคัญของ DEPA คือ ส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในวงกว้าง เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน รวมไปถึงเวลาที่ใช้ในการทำงานน้อยกว่าเดิมแต่ได้ผลผลิตที่มากขึ้น สร้าง Digital Ecosystem ให้เกิดขึ้นอย่างแข็งแรง
สำหรับองค์ความรู้สมัยใหม่ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ในชุมชน
จากความเชี่ยวชาญของ DEPA ในอุตสาหกรรมทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและกำลังคนดิจิทัล ด้านโครงการพิเศษและศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม รวมถึงด้านยุทธศาสตร์และบริหาร
ด้วยแนวทางดังกล่าว เชื่อว่า DEPA จะสาารถแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย และสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี
ปลดล็อคเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ
ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการฯ กลุ่มงานเศรษฐกิจดิจิทัล บอกว่า ไทยสามารถเป็น Digital Innovation Hub ได้ ต้องมีการพัฒนากฎระเบียบและข้อจำกัดด้านเงินทุน ซึ่งหนึ่งในเป็นโจทย์สำคัญที่ DEPA ดูแลอยู่
ดังนั้น DEPA จึงมุ่งสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการดิจิทัล ให้สามารถต่อยอดไอเดียสู่ผลงานออกสู่ตลาดได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีตั้งแต่เงินทุนตั้งต้น 50,000 บาท จนถึงเงินทุน 5 แสน – 1 ล้านบาท ในการทำธุรกิจ นอกจากจะช่วยผู้ประกอบการดิจิทัล ยังช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นหนึ่งใน Digital Ecosystem ที่สำคัญด้วย
พัฒนาบุคลกรดิจิทัล ยุทธศาสตร์สำคัญ ลดความเหลื่อมล้ำ
ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการฯ กลุ่มสังคมและกำลังคนดิจิทัล บอกว่า การสร้างคน เป็นปัญหาในหลายองค์กร ดังนั้น DEPA จึงให้ความสำคัญกับการสร้างคน โดยเฉพาะคนดิจิทัล ซึ่งต้องมีความพร้อมสำหรับการพลิกโอกาสธุรกิจด้วยดิจิทัลหรือ Digital Transformation โดยมองว่าการสร้างความเข้าใจให้กับธุรกิจดิจิทัลในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไปให้เข้าใจในบริบทดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งสำคัญ
การใช้ “ยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ” คือการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโอกาสทางการศึกษา โอกาสในการทำงานโดยให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิม
Smart City แบบพอเพียง สู่ความยั่งยืน
ดร. ภาสภร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการฯ กลุ่มงานศูนย์ดิจิทัลและนวัตกรรม บอกว่า ทุกเมืองสามารถเป็น Smart City ได้ ภายใต้แนวคิด Smart City คู่หลักธรรมแบบพอเพียง สู่ความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายพัฒนา 77 พื้นที่ใน 77 จังหวัด ให้เป็น Smart City ภายใน 5 ปี
แก้ปัญหาจากรากฐาน จากความเข้าใจ การมีส่วนร่วมของของภาคประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรและบริการของเมือง ร่วมกันสร้างแบบประชารัฐ บูรณาการทั้งคนและข้อมูล สู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่ มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนมีการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม แก้ไขปัญหาได้ตรงตามเป้าอย่างคุ้มค่า
นโยบายและการปฏิบัติที่ดี นำไปสู่ผลสำเร็จ
ดร. กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการฯ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และบริหาร บอกว่า โครงการและนโยบายแผนงานต่างๆ ในแต่ละด้านจะไม่สามารถบรรลุผลได้เลย หากปราศจากกลยุทธ์ที่ดีมาเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนให้แผนงานเหล่านั้นสามารถดำเนินไปในแนวทางที่เหมาะสม ซึ่ง DEPA มีแนวทางที่เป็นแนวทางปฏิบัติ และมีการกำหนดเป้าหมายในแผนงานให้มีความสะดวกในการปฏิบัติงานได้จริง
ตลอดจนการขยายกรอบความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด
สรุป
DEPA เป็นหน่วยงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ภายใต้การนำของผู้บริหารทั้ง 5 ท่าน กับวิสัยทัศน์ในการสร้าง Digital Transformation ให้เกิดขึ้น ส่งเสริมความเป็นไทยแลนด์ 4.0 จะทำให้เห็นภาพการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอย่างแน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา