ผลการศึกษาพิสูจน์แล้ว UBI หรือ Universal Basic Income หรือการให้เงินช่วยเหลือโดยตรง ช่วยลดจำนวนคนไร้บ้าน แถมยังทำให้คนกลับไปทำงานประจำเพิ่มขึ้นด้วย
แม้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อความสุข แต่งานวิจัยทางวิชาการหลายชิ้นก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้าผู้คนมีเงินมากขึ้น พวกเขาก็จะใช้ชีวิตได้น่าพึงพอใจมากขึ้น
การศึกษานี้อยู่ภายใต้โครงการ Denver Basic Income Project มี Mark Donovan เป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร เขาเผยว่า เขาสนับสนุนข้อค้นพบจากภารกิจที่ทำภายใต้โครงการนี้มาก
ผู้เข้าร่วมทดลองในโครงการเล่าว่าพวกเขานำเงินมาใช้หนี้ นำมาซ่อมรถ ผ่อนบ้าน และเข้าเรียนในคอร์สเรียนที่พวกเขาสนใจ หนทางต่างๆ เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมและทำให้ผู้เข้าร่วมทดลองหลุดพ้นจากความยากจนได้และนำไปสู่การพึ่งพาโครงการที่ให้การสนับสนุนทางสังคมน้อยลง
กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การช่วยเหลือผู้คนเปราะบางในสังคมจนทำให้เขาสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ในที่สุดแล้วพวกเขาก็จะเลิกพึ่งพาสังคมและสามารถพึ่งตัวเองได้ มันไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือ จุนเจือเล็กๆ น้อยๆ ให้แค่เศษเงินเพียงเพื่อให้เขาใช้ชีวิตแบบพอผ่านๆ ไปวันๆ นั่นทำให้เขาไม่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง เพราะความช่วยเหลือที่ให้ไปไม่มากพอหรือน้อยเกินไปนั่นเอง
ก่อนจะลงรายละเอียดเรื่องการเข้าร่วมทดลองในโครงการ ทำความเข้าใจคำว่า UBI กันก่อน
UBI หรือ Universal Basic Income ก็คือนโยบายที่ให้เงินหรือจัดหารายได้ให้กับบุคคลโดยตรง แบบที่ไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน หรือพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นๆ มีคุณสมบัติใดที่สมควรได้รับเงินก้อนนั้นบ้าง
โครงการ Denver Basic Income มีภารกิจหลักคือการให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้าน ด้วยการทดสอบเพื่อสำรวจผลกระทบหลังให้เงินช่วยเหลือโดยตรงแก่คนไร้บ้านเหล่านี้ โดยหวังว่าความพยายามดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้สังคมมีสภาวะแวดล้อมที่ดีขึ้น ผู้มีส่วนร่วมในการทดลองในงานศึกษาคือการเลือกแบบสุ่มให้อยู่ใน 3 กลุ่ม
มีการศึกษาวิจัยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กำหนดระยะเวลายาวนาน 12 เดือนหรือ 1 ปี โดยเริ่มให้เงินแก่ผู้เข้าร่วมทดลองที่อาศัยอยู่ใน Denver โดยตรง ไม่มีเงื่อนไข เป้าหมายของการทดลองเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและศึกษาผลกระทบการประกันรายได้แก่คนไร้บ้าน
การทำการศึกษาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่ม A
ผู้ที่ร่วมทดลองจะได้รับเงินสดเป็นเวลา 12 เดือน เดือนละ 1,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 36,000 กว่าบาท รวม 12 เดือน กว่า 12,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.4 แสนบาท
กลุ่ม B
ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินสดเริ่มต้นราว 6,500 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.4 แสนบาท จากนั้นจะได้รับราวเดือนละ 500 เหรียญสหรัฐหรือประมาณเดือนละ 18,000 บาท จนครบ 12,000 เหรียญสหรัฐภายใน 12 เดือน
กลุ่ม C
ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินสดเดือนละ 50 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,814 บาท เป็นเวลา 12 เดือน ทั้งหมดจะได้ราว 600 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.2 หมื่นบาท
Donovan ก่อตั้งโครงการ Denver Basic Income Project ในปี 2021 ก่อนหน้านี้เขาทำธุรกิจเป็นบริษัทเสื้อผ้า โดยผลิตเฉพาะเสื้อเสวตเตอร์สำหรับผู้หญิง และยังลงทุนใน Tesla ในช่วงที่โควิดระบาดด้วย เขาใช้เงินราว 2 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 73 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผู้คนในเมืองนี้ โดยเริ่มแจกเงินตั้งแต่ปีที่แล้ว
ผู้มีส่วนร่วมในการทดลองคือผู้ที่ใช้ชีวิตหลับนอนอยู่ตามท้องถนน พวกเขาเล่าว่า การมีเงินเพิ่มขึ้นทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น รู้สึกว่าชีวิตสุนกมากขึ้นเมื่อพวกเขาสามารถเข้าถึงความเป็นอยู่ที่ทำให้ชีวิตมีความมั่นคงมากขึ้น
ข้อค้นพบจากโครงการดังกล่าว หลังเวลาผ่านไป 6 เดือน
I. ผู้เข้าร่วมทดลองในโครงการ จากทุกกลุ่ม กลุ่ม A, B, C มีจำนวนผู้ที่เช่าบ้านอยู่และผู้ที่มีบ้านเป็นของตัวเองมากขึ้น
II. ผู้เข้าร่วมทดลองจากกลุ่มที่ได้รับเงินก้อนใหญ่สุด ชีวิตเปลี่ยนไป มีงานประจำทำมากขึ้น
III. ผู้เข้าร่วมทดลอง มีส่วนน้อยที่หลับนอนอยู่ข้างถนนและลดการใช้บริการสาธารณะ เช่น ห้องฉุกเฉิน
ประเด็นเรื่องที่พักอาศัย ไม่มีผู้ใดที่อยู่ในกลุ่ม A หรือผู้ที่ได้รับเงินต่อเนื่อง เดือนละ 1,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 36,000 กว่าบาท อาศัยอยู่ตามข้างทางอีก
ประเด็นเรื่องการนอนตามข้างถนน (เพราะไม่มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่ง) ผู้ที่เข้าร่วมทดลองในโครงการ ในกลุ่มที่ได้รับเงินให้เปล่ามากกว่ากลุ่ม C (หรือกลุ่ม A และกลุ่ม B) รู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเมื่อได้นอนหลับพักผ่อนอยู่ภายในอาคารสถานที่ และยังพบอีกว่า ทุกกลุ่มที่ร่วมทดลองนอนตามข้างทางน้อยลง นอกจากนี้ โดยเฉลี่ยแล้ว ทุกคนรู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับที่พักอาศัยในอนาคต
ด้านสุขภาวะทางการเงิน (Financial well-being) มีสเกลวัดจากระดับ 0 ถึง 4 โดยเฉลี่ยแล้ว พบว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มใหญ่กว่า (หรือกลุ่ม A และกลุ่ม B) รู้สึกเครียดหรือกังวลน้อยลง, พึ่งพาบริการสาธารณะจากหน่วยงานที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ DBIP น้อยลง (DBIP คือ Denver Basic Income Project) เช่น เข้าห้องฉุกเฉินน้อยลง
ด้านการจ้างงาน พบว่าผู้คนที่อยู่ในกลุ่มใหญ่กว่า (หรือกลุ่ม A และกลุ่ม B) เข้าสู่ระบบการทำงานประจำมากขึ้น
สรุป
จากรายงาน Denver Basic Income Project Interim Report October 2023 โดย Center for Housing & Homelessness Research University of Denver สรุปได้ดังนี้ Denver Project เป็นโครงการที่ทำการวิจัยและทดลอง ที่การันตีรายได้พื้นฐานเป็นระยะเวลา 12 เดือน ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีคนไร้บ้านจากเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด เข้าร่วมโครงการจำนวน 820 คน แต่ถึงเวลาจริงๆ มีการสมัครเข้าร่วมโครงการ 809 ราย ถอนตัวออกไป จนเหลือ 802 ราย
คนไร้บ้านที่เป็นผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะถูกสุ่มให้อยู่ในกลุ่มทดลอง 3 กลุ่ม กลุ่ม A ได้รับเงิน เดือนละ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือนเป็นเวลา 12 เดือนต่อเนื่องกัน รวมทั้งหมด 12,000 เหรียญสหรัฐต่อปี กลุ่ม B คือกลุ่มที่ได้เงิน 6,500 หรียญสหรัฐตั้งแต่แรกเข้า จากนั้นจะได้เดือนละ 500 เหรียญสหรัฐ รวมทั้งหมด 12 เดือนจะได้เงินเท่ากลุ่มแรกคือ 12,000 เหรียญสหรัฐต่อปี และกลุ่ม C คือกลุ่มที่ได้รับเงิน 50 เหรียญสหรัฐต่อเดือนเป็นเวลา 12 เดือน รวมทั้งหมดทั้งปีจะได้เงิน 600 เหรียญสหรัฐต่อปี
กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการ
อายุโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 44 ปี อายุผู้เข้าร่วมโครงการที่น้อยที่สุดคือ 18 ปี อายุที่มากที่สุดคือ 86 ปี เกือบ 48% ของผู้เข้าร่วมโครงการเป็นเพศชาย 47% คือเพศหญิง 2% เป็น Nonbinary (ไม่ระบุเพศสภาพ) ส่วนที่เหลือมีทั้ง Transgender, และไม่ระบุตัวตน และมีหลากหลายเชื้อชาติ
คำถามในการวิจัย มี 5 มิติ เป็นการตั้งคำถามในการวิจัยเพื่อดูความเปลี่ยนแปลงหลังมีการให้เงินแบบประกันรายได้ แบ่งได้ดังนี้
1) เรื่องที่อยู่อาศัย
2) สุขภาวะทางการเงิน
3) มิติสุขภาพจิตและสุขภาพกาย
4) เครือข่ายทางสังคมและครอบครัว
5) การปฏิสัมพันธ์กับการรับบริการสาธารณะ
จากผลการวิจัยดังกล่าว สรุปได้ว่า หากมีการให้เงินเพื่อประกันรายได้หรือการให้เงินแบบให้เปล่าเป็นจำนวนมากและมีความต่อเนื่อง สามารถช่วยทำให้คนรู้สึกปลอดภัย มีความมั่นคงทางจิตใจมากขึ้น รู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ฟื้นฟูจิตใจได้และส่งเสริมให้คนไม่ต้องอยู่ในภาวะไร้บ้าน
การมีสภาวะไร้บ้านไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นเพราะเขาไม่มีทางเลือกจึงกลายเป็นคนไร้บ้านหรือ Homeless เขามีเงินไม่มากพอที่จะดูแลตัวเอง จึงต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างคนไร้บ้าน และถ้ามีการให้เงินเปล่าที่มากเพียงพอและต่อเนื่อง จะทำให้พวกเขาสามารถกลับเข้าสู่ระบบการทำงานได้ สามารถมีงานประจำทำ และพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น
จากการเทียบผลการทดลอง พบว่า กลุ่ม A และ B ที่ได้รับเงินในจำนวนที่มากกว่ากลุ่ม C เป็นเวลาต่อเนื่องกัน ทำให้พวกเขารู้สึกดีกับการใช้ชีวิตมากขึ้น และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในท้ายที่สุด กลับกัน กลุ่ม C ที่ได้เม็ดเงินจำนวนน้อยสุด แม้จะได้รับต่อเนื่อง แต่ด้วยเม็ดเงินที่น้อยเกินไป ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง และพึ่งพาตัวเองไม่ได้ แม้ผู้ร่วมเข้าโครงการทั้งหมดจะช่วยลดจำนวนคนไร้บ้าน หันมาหาที่พักอาศัยให้ตัวเองปลอดภัย มั่นคงมากขึ้นก็ตาม แต่กลุ่ม C จะตกอยู่ในสภาวะพึ่งพิงสังคมต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้มีการให้ความช่วยเหลือที่เพียงพอ
กล่าวโดยสรุป การแจกเงินแบบให้เปล่าเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง จะมีประโยชน์ และช่วยเหลือคนเปราะบางให้แข็งแกร่งขึ้นและพึ่งพาตนเองได้จนสามารถหลุดพ้นจากความเปราะบางได้นั้น จะต้องมีการให้เงินที่มากพอ เหมาะสม เป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่อง ไม่ใช่ให้ครั้งเดียวแล้วจบ และไม่ใช่ให้เม็ดเงินที่น้อยเกินไป เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ใช่วิธีขจัดคนออกจากความยากไร้ แต่เป็นแค่การประคองคนเปราะบางให้อยู่ในกลุ่มเปราะบางต่อไป ไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้
- สเปนเตรียมแจกเงินให้เปล่า (Basic Income) กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เพื่อช่วยเหลือคนยากจน
- Biden ขยายโครงการอาหารฟรี ช่วยเด็กยากไร้กว่า 30 ล้านคนเข้าถึงอาหารได้
ที่มา – Business Insider, Denver Basic Income Project, Quant Report One Pager, Denver Basic Income Project Interim Report October 2023
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา