บทความโดย วฤธ ศรีสุริยะรุ่งเรือง
Deloitte’s Technology Fast 50 เป็นการประกวดประจำปีเพื่อค้นหา 50 บริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศอังกฤษ โดยในปีนี้ สตาร์ทอัพส่งอาหารรายหนึ่งได้ชนะการประกวด Deloitte Fast 50 ด้วยสถิติการเติบโตของรายได้ที่เหลือเชื่อมากถึง 107,117% ภายในเวลาเพียง 4 ปี ถือเป็นการทำลายสถิติตลอดกาลของ Deloitte Fast 50 ในรอบ 12 ปีเลยทีเดียว ชื่อของสตาร์ทอัพรายนั้น คือ Deliveroo
บริการจัดส่งอาหารระดับ Gourmet
Deliveroo คือ บริษัทรับส่งอาหารออนไลน์ที่ก่อตั้งขึ้นในกรุง London เมื่อปี 2556 โดย William Shu และ Greg Orlowski ไอเดียของแอปพลิเคชั่นนี้ คือ การจัดส่งอาหารระดับ Gourmet จากภัตตาคารถึงหน้าประตูบ้าน โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ภัตตาคารระดับพรีเมี่ยมซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีสาขาและผู้บริหารของทางภัตตาคารเองจะเน้นขายบรรยากาศและประสบการณ์ให้กับลูกค้าที่แวะมารับประทานที่ร้านอาหารเองมากกว่า ทำให้ภัตตาคารเหล่านี้ขยายฐานลูกค้าด้วยตนเองได้ยาก
Deliveroo จึงเข้ามาตอบโจทย์ด้วยการเชื่อมภัตตาคารเหล่านี้ เข้ากับกลุ่มลูกค้า Niche Market ที่ต้องอาหารระดับ High End คุณภาพดีและพิถีพิถัน จัดส่งมาถึงบ้านขณะที่อาหารยังร้อนอยู่ ให้พวกเขาได้บรรยากาศเหมือนการรับประทานที่ภัตตาคารเอง โดย Deliveroo จะคิดค่าบริการจัดส่งกับลูกค้าและค่าคอมมิชชั่นจากภัตตาคารพันธมิตรเหล่านี้เป็นรายได้หลักของตนเอง
William Shu หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ช่วยของเขาเริ่มรับอาหารจากภัตตาคารในเมือง Chelsea แล้วบริการส่งให้ผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผ่านไปเพียง 3 ปี Deliveroo ได้ส่งทีมจักรยานและมอเตอร์ไซค์ ของตนเองไปยังภัตตาคารถึง 5,000 ร้าน ใน 52 เมือง ข้าม 12 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ England, Netherlands, France, Germany, Belgium, Ireland, Spain, Italy, Australia, Singapore, Dubai และ Hong Kong ถือเป็นการเติบโตที่ก้าวกระโดดอย่างมาก
หัวใจในการบริการ คือ ระบบ Logistics
สิ่งที่น่าทึ่งอยู่ในเป้าหมายของ Shu ที่มุ่งจัดหาระบบการจัดส่งที่มีคุณภาพสูงที่สุด นับตั้งแต่การรับอาหารจากครัวจนถึงมือของลูกค้า เขาได้เปลี่ยน Deliveroo ให้เป็นบริษัทที่ทุ่มเทพัฒนาระบบ Logistics ของตัวเองอย่างเต็มที่ เน้นการจัดส่งภายในท้องถิ่นและแบ่งการดำเนินงานออกเป็นโซนเพื่อให้มั่นใจว่าระบบการจัดส่งเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ถูกปรับแต่งมาอย่างดีก่อนจะถูกเสริมด้วยเทคโนโลยีอีกที สถานีของคนจัดส่งอาหารจะถูกวางไว้ภายในรัศมี 2.2 กิโลเมตรจากที่พัก และตั้งเป้าให้จัดส่งได้ 3 เที่ยวต่อ 1 ชั่วโมง
มีบริษัทไม่กี่บริษัทที่สามารถนำเอาแนวคิด “Think Global, Act Local” มาใช้โดยไม่เปลี่ยนทิศทางไป เมื่อบริษัทขยายตัวขึ้น เหมือนอย่างที่ Deliveroo ทำ ทุกๆช่วงตึกจะถูกกลั่นกรองจากทีมงานว่าทำเลเหล่านั้น ผ่านเกณฑ์ 3 ข้อนี้หรือไม่
- มีภัตตาคารอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก
- คนในพื้นที่มีฐานะร่ำรวย
- มีผู้คนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น
เฉพาะทำเลที่ผ่านเกณฑ์ 3 ข้อนี้เท่านั้น ที่ทางบริษัทกล่าวว่าตนเองสามารถให้บริการที่มีตัวเลือกภัตตาคารเพียงพอ และ ลูกค้าจะได้รับอาหารภายในเวลาไม่เกิน 32 นาทีนับจากที่สั่งซื้อ
ส่วนการจัดหาคนส่งอาหารจะเป็นในลักษณะเดียวกับ Uber หรือ Grabcar โดย Deliveroo จะเปิดรับผู้ที่มี จักรยาน หรือ มอเตอร์ไซค์ ส่วนตัวที่อยากหารายได้เสริมจากงานแบบ Gig โดยเงื่อนไขมีเพียง การที่ผู้สมัครมี Smartphone สำหรับใช้ในการรับออเดอร์ กับ ยานพาหนะที่ใช้ในการจัดส่งเท่านั้น ซึ่ง Business Model นี้ ดูเหมือนจะไปได้ด้วยดีกับเมืองที่มีนักศึกษาอยู่เยอะอย่าง Exeter หรือแม้แต่เมืองที่มีรายได้ของประชากรต่ำอย่าง Coventry อีกด้วย
Deliveroo ถือเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพรับส่งอาหารที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองและน่าจับตามองอย่างมาก โดยล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Deliveroo สามารถระดมทุนรอบใหม่ในซีรี่ส์ F มาได้ 385 ล้านเหรียญ คิดเป็นยอดระดมทุนรวมทั้งหมดถึง 860 ล้านเหรียญ (28,200 ล้านบาท)
ที่มา – TheMemo, Deloitte, Medium, Quora, TechCrunch
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา