อ่านเกม On-Demand Delivery ผ่านมุมมอง Deliveree ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุที่ไม่มีคลังสินค้า

หลายคนคงเข้าใจความสะดวกสบายของบริการร่วมเดินทางทั้ง Uber และ Grab ที่ผู้ใช้สามารถเรียกมารับ และไปส่งที่ใดก็ได้ ดังนั้นมันน่าจะดีกว่าถ้าบริการขนส่งพัสดุสามารถทำอย่างนี้ได้ด้วย และนี่คือที่มาของธุรกิจ Deliveree

Deliveree
Deliveree

แตกต่างด้วยความเร็ว และ Marketplace

ก่อนหน้านี้บริการขนส่งพัสดุในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นแบบผู้ส่งไปส่งสินค้าตามจุดรับต่างๆ และผู้ให้บริการก็จะนำไปเก็บในคลังสินค้า ก่อนจะกระจายสินค้าไปยังที่หมาย ซึ่งตัวระยะเวลาก็แล้วแต่ตัวธุรกิจ บางรายก็ส่งก่อนสิบโมงเช้า พัสดุจะถึงที่หมายในช่วงเย็น หรือบางรายก็ใช้เวลา 3-4 วันเป็นต้น

แต่ด้วยผู้ส่งบางรายไม่สามารถรอถึงขนาดนั้นได้ ทำให้เกิดบริการขนส่งพัสดุแบบ On-Demand Delivery หรือหมายถึงการเรียกผู้ให้บริการขนส่งพัสดุไปรับพัสดุที่ใดก็ได้ ก่อนจะนำไปส่งที่หมายทันทีหลังจากนั้น ซึ่ง Deliveree บริษัท Startup ที่ล่าสุดระดมทุนได้ 14.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 444 ล้านบาท) ก็คือหนึ่งในผู้ทำธุรกิจแบบนี้

Deliveree
ชนิสา เรืองคีรีอัญญะ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Deliveree

ชนิสา เรืองคีรีอัญญะ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Deliveree เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันบริษัทให้บริการที่ไทย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ผ่านการวางตัวเป็น Marketplace ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ต้องการส่งสินค้า กับผู้มียานพาหนะขนส่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์, รถกระบะ, รถห้องเย็น รวมถึงรถบรรทุก

ไม่มียานพาหนะเป็นของตัวเอง แต่คุมคุณภาพได้

“Deliveree คือ Tech Startup ด้านบริการขนส่ง ก่อตั้งมา 4 ปีแล้ว โดยจุดต่างของเราคือเราจะให้ลูกค้าเลือกยานพาหนะที่ต้องการใช้ขนส่งพัสดุ จากนั้นก็คำนวนราคาผ่านระยะทาง รวมถึงตัวเลือกอื่นๆ เช่นต้องให้ผู้ขับช่วยยกของ หรือต้องมีเด็กติดรถเพิ่มหรือไม่ และเมื่อลูกค้าตกลง เราก็ไปรับพัสดุถึงที่ และไปส่งในทันที”

เมื่อไม่มีคลังสินค้ามาเป็นอีกขั้นตอนในการขนส่งพัสดุ ก็ทำให้การส่งนั้นทำได้เร็วขึ้น และด้วยบริการที่ต่างกับคู่แข่งในตลาด เช่นไปรษณีย์ไทย ทำให้ Deliveree น่าจะเป็นอีกทางเลือกของผู้ต้องการขนส่งมากกว่า แต่ปัจจุบันยังสามารถรับพัสดุในกรุงเทพได้ภายใน 60 นาที ส่วนหากเรียกไปรับสินค้าในต่างจังหวัดยังทำไม่ได้ในขณะนี้

“ตอนนี้ Deliveree ทำได้แค่รับสินค้าในกรุงเทพเพื่อไปส่งทั่วประเทศไทย ผ่านผู้ขับในระบบกว่า 10,000 คน แต่ในอนาคตจะเปิดรับพัสดุจากต่างจังหวัดเพื่อไปส่งในที่ที่ผู้ส่งต้องการได้ด้วย และถึงเราจะไม่มียานพาหนะเป็นของตัวเอง แต่เราก็การันตีเรื่องคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการประกันสินค้า และการอบรวมผู้ขับขี่ทุกราย”

deliveree

เจาะลูกค้าธุรกิจมากกว่าฝั่งผู้บริโภคทั่วไป

เมื่อเน้นเรื่องการรับส่งพัสดุในเวลาขณะนั้นทำให้ Deliveree จึงเน้นทำตลาดในฝั่งลูกค้าธุรกิจ และ SME ต่างๆ มากกว่าผู้บริโภคทั่วไป เช่นร้านอาหาร, ร้านค้าปลีก และธุรกิจที่มีสาขาจำนวนมาก นอกจากนี้ยังร่วมกับ Ikea ในการช่วยส่งสินค้าหลังลูกค้าชำระเงินเสร็จได้ทันที

“ช่วงแรกๆ Deliveree ลองผิดลองถูกมาเยอะ โดยเฉพาะการชูเรื่องย้ายบ้านมาตั้งแต่แรก แต่พอทำมาระยะหนึ่งพบว่ามันเหมาะกับธุรกิจ SME ที่ค้าขายเล็กๆ มากกว่า เพราะเมื่อ Volume เขาเล็ก การต่อรองกับรายใหญ่ก็ยาก ยิ่งถ้าเขาอยากได้พาร์ทเนอร์ที่ส่งสินค้าได้เลย Deliveree ก็เป็นคำตอบที่ดีกว่า”

ปัญหาของร้านค้าเล็กๆ ก็คือไม่สามารถทำคลังสินค้า และไม่อยากลงทุนรถขนส่งจำนวนมาก ดังนั้นการใช้ On-Demand Delivery ที่ส่งได้ทันที และเพิ่มลดจำนวนความต้องการจัดส่งได้ง่ายก็คือทางออก โดย Deliveree มีการพัฒนาระบบหลังบ้าน รวมถึง “ราคา” เพื่อตอบโจทย์การขนส่งพัสดุกับลูกค้ากลุ่มนี้

จากบอกต่อมาเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน

“ก่อนหน้านี้ Deliveree เติบโตมาจากการบอกต่อ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เพราะเราเริ่มทำตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้รถขนส่งพัสดุที่อยู่ในระบบติดสติ๊กเกอรโปรโมท หรือเข้าถึงลูกค้าด้วยตัวเองมากกว่า ทำให้ปีนี้ Deliveree คาดว่าจะเติบโต 100% เช่นเดิม และมียานพาหนะขนส่ง 15,000-20,000 คัน”

Deliveree
Deliveree

ในทางกลับกันตลาดบริการ On-Demand Delivery ปัจจุบันก็มีผู้เล่น 4-5 ราย และเน้นแข่งขันเรื่องราคา รวมถึงพื้นที่ครอบคลุม แต่เพื่อสร้างความแตกต่าง Deliveree จึงเลือกใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เข้าสู เช่นระบบวิเคราะห์เส้นทางเพื่อประหยัดต้นทุนในกรณีที่ส่งหลายจุดเป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ขับในระบบของ Deliveree ยังมีรายได้สูงถึง 50,000-80,000 บาท และเพียงมีโทรศัพท์มือถือ กับรถยนต์ของตัวเอง และไม่มีประวัติอาชญากรรมก็สามารถสมัครเข้าร่วมได้ทันที โดย Deliveree จะหักค่าบริการ 17.5% จากราคาขนส่งในแต่ละเที่ยว

สรุป

ถ้าอธิบายง่ายๆ Deliveree ก็คือแพลตฟอร์มรวมรถขนส่งทั่วไปที่จอดอยู่ตามท้องถนนให้มาอยู่ในระบบ แต่การทำตลาดขนส่งพัสดุนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตลาดนี้มีทั้ง Lalamove ที่แข็งแกร่งในรถจักรยานยนต์ และมีทุนมาเลเซียเข้ามาใหม่ด้วย ดังนั้นต้องจับตาว่า Deliveree ที่แข็งแกร่งเรื่องรถกระบะ 4 ล้อจะเดินเกมต่อไปอย่างไร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา