ยินดีต้อนรับสู่ปี 2020 จุดเริ่มต้นของทศวรรษใหม่ 2020s และจุดสิ้นสุดของทศวรรษ 2010s
หากเรามองย้อนกลับไป ทศวรรษ 2010s ที่ผ่านมา (ค.ศ. 2010-2019 หรือเทียบเป็น พ.ศ. 2553-2562) ถือเป็น “ทศวรรษที่สาบสูญ” (Lost Decade) ของสังคมไทย
ความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 นำมาสู่การล้อมปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553 ถือเป็นจุดเริ่มต้นทศวรรษด้วยคราบเลือด จากนั้นประเทศไทยมีรัฐบาลที่ถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นช่วงสั้นๆ (ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเช่นกัน) คือระหว่างปี 2554-2557 และสิ้นสุดลงด้วยการรัฐประหารรอบที่สอง
ครึ่งหลังของทศวรรษอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการ ที่เน้น “ความมั่นคง” เหนือสิ่งอื่นใด ประเทศไทยจบทศวรรษ 2010s ด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 แต่ฝ่ายพรรคผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารก็ยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลและปกครองประเทศต่อไปได้ ทำให้เราก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่แบบไม่ต่างอะไรจากเดิมมากนัก
ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ ทำให้การพัฒนาประเทศหยุดชะงัก ส่วนการปกครองระบอบเผด็จการในช่วงครึ่งหลัง ก็ไม่นำพาประเทศเดินหน้าไปได้อย่างที่หลายคนคาดหวัง จึงไม่แปลกใจนักที่กูรูบางคนนิยามทศวรรษที่ผ่านมาว่าเป็น “ทศวรรษที่สาบสูญ” เพราะประเทศสูญเสียโอกาสอย่างมหาศาล
วันนี้เราก้าวผ่านทศวรรษที่สาบสูญ เข้าสู่ทศวรรษใหม่ 2020s ด้วยสภาพทางการเมืองที่ไม่ต่างจากเดิมสักเท่าไร มิหนำซ้ำ ทศวรรษใหม่ยังมาพร้อมกับความบีบคั้นอื่นๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่กลายเป็นปัญหารุมเร้าทุกทาง
ในแง่เศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ขนานใหญ่ ทั้งทุนต่างชาติหน้าใหม่ๆ อย่างทุนจีนที่ไม่สนใจสิ่งใดนอกจากผลประโยชน์ของจีน, การบุกรุกเข้ามาของบริษัทไอทีข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ disrupt ธุรกิจดั้งเดิมจนพังทลายไปหมดสิ้น, สภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ทำให้อาชีพการงานที่เคยคิดว่ามั่นคงนั้นไม่เป็นความจริงอีกต่อไป, ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างสุดขั้ว, การเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ไม่ทันกับรายจ่าย, โครงสร้างพื้นฐานที่ล้าสมัยและทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำ, ageing society ที่คนรุ่นใหม่ต้องรับภาระเลี้ยงดูคนแก่ ฯลฯ
ปัจจัยเหล่านี้กลายเป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่ดาหน้าเข้ามาถาโถมคนทำงานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน เจ้าของกิจการ หรือแรงงานรับจ้าง ที่จะต้องเอาตัวรอดจากภัยคุกคามที่เปลี่ยนหน้าเข้ามาทุกวัน
ในแง่สังคม ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ส่งผลให้คนที่เติบโตมาต่างยุคกัน ยึดถือคุณค่าในชีวิต มีวิธีการมองโลกที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันยิ่งสร้างรอยแยกที่ห่างขึ้นเรื่อยๆ ของคนต่างวัย วัฒนธรรมอาวุโส ให้ค่ากับความอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพผู้ใหญ่ ยึดถือ “ประเพณีอันดีงาม” กลายเป็นสิ่งกดทับให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาด้วยการแบกรับ “ความคาดหวัง” ของคนรุ่นก่อน ที่ตัวเองไม่เข้าใจ ไม่สนใจ แต่ก็ถูกบีบบังคับให้ต้องยึดถือปฏิบัติ
ไม่น่าแปลกใจนักว่าทำไมเราถึงเห็นคนเป็น “โรคซึมเศร้า” กันมากขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความบีบคั้นจากมิติต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทำให้คนไทยอึดอัด อัดอั้น สั่งสมความเครียด ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
หรือถ้ามีความสุขก็อาจเป็นเพียงชั่วครู่ สุขเพราะรู้ว่าวันข้างหน้ามันมีแต่ความทุกข์ ถ้าสามารถสุขได้ก็สุขกันไปให้เต็มที่ ก่อนจะกลับเข้าสู่ชีวิตจริงอันน่าเศร้ากันต่อ
ความอึดอัดนี้สามารถนำพาไปสู่ปลายทางได้ 2 อย่าง
อย่างแรกคือ ระเบิดมันออกมา ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรง ตั้งแต่ความรุนแรงเล็กๆ ในระดับของครอบครัวที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง, ใหญ่ขึ้นมาในระดับสังคม (เช่น ข่าวอาม่าตบเด็ก หรือผู้พิพากษายิงตัวในศาล) ไปจนถึงความวุ่นวายทางการเมืองระดับชาติ (ดังที่เราได้เห็นจากกรณีฮ่องกง)
ในอีกทาง หากไม่สามารถระบายความเครียดออกมาได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม (ผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจไม่อนุญาต หรืออาจพบกับมาตรการตอบโต้กลับที่รุนแรง) ก็ต้องเลือก เก็บความเครียดไว้ กดมันไว้ เมื่อปัญหาไม่ถูกแก้ ระบายออกมาไม่ได้ สะสมไปนานๆ เข้าก็กลายเป็น โรคซึมเศร้า
ถึงแม้ไม่มีอาการถึงขนาดวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าในทางการแพทย์ แต่ภาวะเหล่านี้ก็กลายเป็นความเครียดสะสมที่ทำให้เสียหายทั้งสุขภาพกายและใจอยู่ดี
ด้วยสภาพปัญหาที่รุมเร้าชีวิตคนไทยยุคทศวรรษ 2020s และปัญหาเชิงโครงสร้างสังคม-วัฒนธรรมของไทยเอง ผู้เขียนเชื่อว่าทางออกของคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นแนวทางที่สอง นั่นคือ ยอมรับมันและกดมันเอาไว้ จนมันกลายเป็น “ทศวรรษซึมเศร้า” (Decade of Depression) ที่คนไทยมีชีวิตอยู่ไปวันๆ อย่างไม่มีความสุขเท่าไรนัก
สิ่งที่น่ากลัวคือ ปัญหาของทศวรรษก่อน ความสูญหายทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของประเทศยังไม่ถูกแก้ไข เราก็ต้องมาเจอกับปัญหาใหม่ๆ วิ่งเข้ามาทับถม คนไทยยุคนี้ต้องแบกรับความกดดันรอบทิศ แต่ต้องยิ้มสู้ หลอกตัวเองเสมือนว่ามีความสุข
เราจะผ่านทศวรรษที่ซึมเศร้าอันยาวนาน 10 ปีได้อย่างไร เป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องช่วยกันคิดแก้ไข ทุ่มเทแรงกายแรงใจฝ่าฟันไปด้วยกัน
แต่วันนี้ขอเริ่มต้นทศวรรษใหม่ด้วยการบอกว่า ขอให้คนไทยโชคดี
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา