ปี 64 คนไทยหนี้เพิ่ม เงินออมลดลง รายได้ไม่แน่นอน และภาระเพิ่มเร็วกว่ารายได้

  • จากผลสำรวจ คนไทยบางส่วนมีหนี้เพิ่มขึ้น เทียบกับช่วงก่อนโควิด 3 อันดับแรก คือ บัตรเครดิต, ผ่อนรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล
  • การออมเงินลดลง สัดส่วนไม่ถึง 40% สะท้อนภาพที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้
  • รายได้ยังมีความไม่แน่นอน ภาระเพิ่มขึ้นเร็ว และการปล่อยสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินมีแนวโน้มยากขึ้น

K Research

ความเดิมจากตอนที่แล้ว สถานการณ์แรงงานไม่ดีนัก มีแนวโน้มคนตกงานเพิ่มขึ้น ทำให้น่าสนใจต่อว่าแล้วสถานการณ์หนี้ของคนไทย หลังจากเกิดโควิดมาเป็นอย่างไรบ้าง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หรือ KResearch ได้ทำการสำรวจภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ช่วงเดือน มี.ค.​64 จำนวนกว่า 300 คน ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามมีภาระหนี้สินเฉลี่ย 6.8 แสนบาท โดย 16% มีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการสำรวจรอบปี 62 ก่อนโควิดระบาด

ภาระหนี้ที่ต้องจ่ายแต่ละเดือน (Debt Service Ratio) มีสัดส่วน 42.8% คิดง่ายๆ ว่าถ้ามีเงิน 100 บาท ต้องจ่ายหนี้ 42.8 บาท เหลือเงินใช้และเงินออม 57.2 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 62 อยู่ที่ 39.4% นี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ หากมีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท การใช้จ่ายไม่ให้เกิน 50% ของรายได้ เท่ากับสามารถรองรับค่าอาหาร ค่าเดินทางด้วยรถสาธารณะ และค่าเช่าบ้านหลักพันต้นๆ ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ชีวิตคนเดียวได้เท่านั้น

K Research
ภาพจาก Shutterstock

ภาระหนี้สินเพิ่ม ความกังวลในการผ่อนชำระในอนาคตก็เพิ่มตาม

เมื่อลงลึกในรายละเอียดของภาระหนี้สิน เกิดจากอะไรบ้าง พบว่า

  • บัตรเครดิต 29.6%
  • สินเชื่อซื้อรถยนต์ 29.1%
  • สินเชื่อส่วนบุคคล 13.6%
  • สินเชื่อบ้าน 10.5%
  • สินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ 10.2%
  • สินเชื่อนอกระบบ 2.5%

เหตุผลของการเกิดหนี้ คือ ใช้บริการสินเชื่อเพื่อซื้อทรัพย์สินและสร้างธุรกิจ รวมถึงการผ่อนชำระสินค้าจากการใช้บัตรเครดิต การมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่คาดคิด ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถาม 3 ใน 4 แสดงความกังวลต่อความสามารถในการผ่อนชำระในอนาคต ซึ่งมาจาก รายได้ที่ไม่แน่นอน (45.3%) ค่าครองชีพและภาระหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้ (41.4%) และภาระผ่อนหลังมีมาตรการเยอะและนานขึ้น (12.7%)

K Research
ภาพจาก Shutterstock

โควิดมา ปัญหาเพิ่มขึ้น!!

มากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (56.2%) มีปัญหารายได้ลดลงจากปีก่อน โดยกลุ่มพนักงานบริษัทได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยพบว่า

  • โบนัสและค่าตอบแทนลดลง 52%
  • ชั่วโมงทำงานลดลง 34.7%
  • ถูกลดเงินเดือน 13.3%

ขณะที่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและผู้รับจ้างทั่วไปได้รับผลกระทบอันดับสอง ตามมาด้วยผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว

สำหรับกลุ่มที่มีรายได้ลดลง แต่ไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายประจำวันลงได้ พบว่า ภาระหนี้ต่อรายได้อยู่ที่ 45.9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพรวม 42.8% (รายได้ 100 บาท ต้องใช้หนี้ 45.9 บาท) และกลุ่มนี้มีเงินออมที่ต่ำกว่าภาพรวมด้วย โดยอยู่ที่ 9.5% ส่วนภาพรวมเงินออมอยู่ที่ 12.5% ต่อรายได้ (รายได้ 100 บาท เงินออม 12.5 บาท)

นอกจากนี้ สัดส่วนผู้ที่มีเงินออมอยู่ที่ 38.9% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เท่ากับว่าคนที่มีเงินออมมีไม่ถึงครึ่ง และในจำนวนนี้ผู้ที่มีเงินออมมากกว่า 3 เดือนขึ้นไปเพียง 46.2% ของผู้มีเงินออม

ส่วนการสำรวจเรื่องรายได้เปรียบเทียบปี 64 กับปี 62 (ก่อนเกิดโควิด) พบว่า ลดลงประมาณ 2.4-3.6% แต่ค่าใช้จ่ายไม่ได้ลดลง

K Research
ภาพจาก Shutterstock

หนี้ครัวเรือน น่าห่วง การปล่อยสินเชื่อใหม่มีแนวโน้มลดลง

หากสถานการณ์โควิดดีขึ้น มีการเปิดประเทศ มีการจ้างงาน สิ่งที่ไทยต้องกลับมาดูแลอย่างจริงจังคือ หนี้ครัวเรือน ซึ่งคาดว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะ 90% ภายในสิ้นปี 64 (เทียบกับ 89.2% เมื่อสิ้นปี 63) ซึ่งหนี้ครัวเรือนที่เหมาะสมจะช่วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าสูงเกินไปจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ สำหรับประเทศไทยถือว่าไม่น้อย เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย ไทยเป็นรองเกาหลีใต้ที่แตะเส้น 100% ไปแล้ว

ดังนั้น เชื่อว่ามาตรการดูแลจะให้ก่อหนี้ได้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability) สถาบันการเงินอาจต้องพิจารณาตัวแปรอื่นๆ เช่น รายได้ ค่าใช้จ่าย แนวโน้มรายได้และค่าใช้จ่าย ภาระหนี้ที่มี ประวัติทางการเงินอื่นๆ เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ และวงเงินสินเชื่อที่ควรได้รับ จากปัจจุบันที่เน้นเรื่องรายได้เป็นหลัก เช่น กรณีบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

ธุรกิจใหม่อย่าง Digital Lending จากสถาบันการเงินและ นอนแบงก์ เพื่อลดการพึ่งพาเงินนอกระบบ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ เชื่อว่าวงเงินสินเชื่อจะมีขนาดเล็ก ไม่สามารถรองรับการซื้อบ้านซื้อรถได้

สรุป

สำหรับพวกเราที่มีภาระหนี้ ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า จะลดหนี้เดิมได้อย่างไร สามารถเพิ่มรายได้ได้ไหม ลดค่าใช้จ่ายหรือยัง ไปคุยกับสถาบันการเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้หากผ่อนชำระตามเงื่อนไขปัจจุบันไม่ไหว

คำถามต่อมาคือ เราวางแผนการเงินรองรับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงหรือยัง ตามหลักการควรมีเงินออมให้ใช้จ่ายอย่างน้อย 3-6 เดือน ดังนั้นการรักษาวินัยการใช้จ่ายจึงสำคัญมาก ควรตั้งอยู่บนเหตุผลและความจำเป็นมากกว่าความอยากได้หรือตามกระแสนิยม

อย่าประมาทกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะโควิดรอบนี้ ย้ำว่าความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ไม่มีใครตอบได้ว่าแม้จะมีวัคซีน แต่การระบาดของไวรัสตัวเดิมหรือตัวใหม่จะไม่เกิดขึ้นอีก!

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา