งานหนังสือตายแล้ว | BI Opinion

โดย ปฐม อินทโรดม

“งานหนังสือตายแล้ว” กลายเป็นไวรัลในบัดดลเมื่อมีบทความระบายความอัดอั้นตันใจเรื่องสถานจัดงานที่เดินทางลำบากกว่าเดิม และลามไปเรื่องรูปแบบงาน เนื้อหา กิจกรรม ฯลฯ ไปจนถึงตัวแคแร็คเตอร์ของงานที่พาลจะไม่ถูกอกถูกใจไปทุกจุด โดนมันทุกเม็ด…
งานมันแย่ขนาดนั้นจริงหรือ…
งานมันตกต่ำขนาดต้องเรียกหมอเป้งมาทำ CPR เลยรึเปล่า…

นี่ขนาดว่าผมเคยอยู่ฝั่งที่เชื่อว่า “หนังสือตายแล้ว” เมื่อครั้งที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาเรื่อง “กระดาษตาย-ออนไลน์มา” เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ย้ำเรื่องนี้บนเวทีท่ามกลางนักคิดนักเขียนชื่อดัง ผมยังสะดุ้งไป 6 ริคเตอร์เมื่อเจอบทความนี้

เพราะรู้มาว่าผู้เขียนบทความดังกล่าวก็เป็นตัวแม่ในแวดวงหนังสือคนหนึ่ง คำวิจารณ์ของเธอในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่จึงควรรับฟังทุกตัวอักษรเพราะไม่ต่างอะไรกับครั้งที่ Greta Thunberg ออกมาเกรี้ยวกราดบนเวทีสหประชาชาติ เพราะถ้าถอดความให้ดีแล้วผมเชื่อว่าเธอคงอยากตะโกนดังๆ ออกมาว่า “คุณกล้าดียังไง ให้ภาระในการรักษาธุรกิจหนังสือต้องอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่แต่เพียงลำพังแบบนี้!”

และผมเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าผู้เขียนก็รู้อยู่แก่ใจว่าหนังสือมันยังไม่ตายในเร็ววันนี้หรอก แต่เธอคงต้องการจุดประกายให้คนในวงการได้รู้ความอึดอัด และการตัดสินใจของคนรุ่นผมเองที่ดูจะมองข้ามความเห็นของคนรุ่นใหม่อย่างเธอไปจนทำให้หลายๆ คนกลัวว่าธุรกิจนี้จะถึงกาลอวสานลงก่อนเวลาอันควร

ภาพจาก Shutterstock

ในฐานะคนรุ่นเก่า ที่พอจะมีประสบการณ์เล็กน้อยในการเปลี่ยนแปลงการจัดงานใหญ่ๆ มาบ้าง เช่น ย้ายงานหนังสือจากสนามหลวงมาศูนย์สิริกิติ์ ย้ายงานคอมพิวเตอร์จากที่จัดในห้างมาศูนย์สิริกิติ์ ย้ายงานด้านธุรกิจจากศูนย์สิริกิติ์ไปไบเทค ขอบอกว่าการย้ายสถานที่จัดงานทุกครั้งเป็นยาขมของคนจัด ไม่มีใครย้ายได้โดยไม่ถูกตำหนิติติง ไม่มีใครย้ายที่จัดงานได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ ทุกงานที่ย้าย ล้วนโดนกันมาถ้วนทั่ว ทั้งยอดขายตก คนเดินงานน้อยกว่าเดิม เดินทางลำบาก ต้นทุนเพิ่ม กำไรหด พนักงานเป็นหมัน ฯลฯ เป็นวัฎจักรที่คนจัดงานล้วนเจอกันมาทุกยุคทุกสมัย

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะค่อยๆ ลืมเลือนกันไปว่าเคยบ่นอะไรไว้ ใครที่เคยบอกว่างานหนังสือไม่มีทางสำเร็จได้ถ้าไม่จัดที่สนามหลวงก็ดูจะเป็นอัลไซเมอร์กันหมดแล้ว แต่กว่าจะถึงวันนี้คณะผู้จัดงานคือกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็โดนกระหน่ำเสียจนเสียผู้เสียคน หลายคนทนแรงเสียดทานไม่ได้ก็ทะยอยลาออกไปเพราะไม่รู้จะเอาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลของตัวเองมาให้เขาด่าเล่นทำไม คนที่ทนอยู่ก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำไป เงินเดือนสักบาทก็ไม่ได้ สงสัยชาติที่แล้วคงเกิดเป็นปลวกแทะหนังสือพังไป เลยต้องเกิดมาเป็นกรรมการสมาคมฯ ในชาตินี้

บทความดังกล่าวถูกแชร์ไปหลายพัน พร้อมเสียงก่นด่าคนจัดงานจากทุกสารทิศจนอาจเกินความคาดหมายของผู้เขียน ผมก็ได้แต่หวังว่าเราจะไม่เสพดราม่าจนเกินขนาด เพราะทุกครั้งที่เราโอเวอร์โดสทางอารมณ์เราจะลดระดับสติปัญญาเหลือเท่าโปรตัวซัว แล้วสรรหาคำด่ามาใส่กันโดยไม่คิดจะหาทางแก้ไขร่วมกัน

ภาพจาก Shutterstock

ผมเชื่อจริงๆ ว่าผู้เขียนก็ไม่ได้อยากทำร้ายความรู้สึกของคนจัดงาน เธอเพียงอยากให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้เสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ที่ถูกมองข้ามไป ผมเองอ่านบทความของเธอแล้วก็เห็นด้วยในหลายๆ จุด บางเรื่องก็ทำได้เลยไม่ต้องรองานครั้งหน้าแต่อย่างใด บางเรื่องก็สามารถเอามาคิดทบทวนเพื่อปรับปรุงให้ทุกอย่างดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการจัดงานย่อยที่ไม่ต้องมีขนาดใหญ่นักแต่เน้นสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้อ่าน เป็นความคิดที่เลอค่ามาก

ก็ได้แต่หวังว่ากรรมการฯ และทีมจัดงานจะไม่ท้อใจไปเสียก่อน อยากให้เข้าใจเจตนารมณ์ของคนรุ่นใหม่ และหันมาทำงานด้วยกัน เพราะผมเชื่อว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของเราแล้ว เพราะมันเป็นทั้งวิกฤติและโอกาสในเวลาเดียวกัน!

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา