รู้จักกับโคมไฟอัจฉริยะสินค้ายอดนิยมของผู้ปกครองชาวจีน ผลงานของบริษัทในเครือ TikTok ทำหน้าที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยงระหว่างเด็กๆ อ่านหนังสือ คอยเฝ้ามอง และให้คำปรึกษาเวลาทำการบ้าน
โคมไฟอัจฉริยะ ฉลาดแต่มาพร้อมกับฟีเจอร์สอดส่องลูกๆ
นี่คือโคมไฟอัจฉริยะ มีชื่อว่า Dali Smart Lamp ราคาเริ่มต้นที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,750 บาท) โดยตัวโคมไฟมีกล้องติดอยู่ 2 ตัว พร้อมจอขนาดเล็กที่มาพร้อมกับ AI ช่วยสอนทำการบ้าน เช่น ช่วยแก้โจทย์เลข หรือ บอกความหมายของศัพท์ยากๆ อีกทั้งยังสามารถจ้างครูสอนพิเศษให้สอนนักเรียนผ่านตัวจอนี้ได้อีกด้วย
ถ้าผู้ปกครองคนไหนต้องการเพิ่มความสามารถให้โคมไฟส่งการแจ้งเตือนและรูปภาพเวลาลูกไม่ตั้งใจเรียน ก็ต้องซื้อเวอร์ชั่นพิเศษ ที่ราคาแพงขึ้นอีก 50 ดอลลาร์สหรัฐ (ราคาเต็มประมาณ 5,300 บาท)
โคมไฟรุ่นนี้ได้รับความนิยมสูง เพราะในช่วงเริ่มต้นขายได้ถึง 10,000 ตัวภายในเดือนแรกที่วางขาย ส่วนเวอร์ชั่นพิเศษขาดตลาดอยู่ ณ เวลานี้ บริษัทคู่แข่งต่าง ๆ พากันประกาศพัฒนาและปล่อยสินค้าชนิดเดียวกันตามมาในภายหลัง ทำให้เกิดเทรนด์สินค้าชนิด “โคมไฟเรียนหนังสืออัจฉริยะ” ขึ้นในประเทศจีน
โคมไฟอัจฉริยะ กับ ความเป็นส่วนตัวที่หายไป?
ByteDance ออกมาแก้ข่าวเรื่องฟีเจอร์บางส่วนของโคมไฟ เช่น การเข้าถึงของกล้องระยะไกล หรือ การโพสต์รูปเข้าไปในแพลทฟอร์มสอนหนังสือของบริษัท โดยอธิบายว่ากล้องจะถูกเปิดเมื่อทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองกดยอมรับทั้งสองฝ่ายเท่านั้น ตัวเด็กจะโพสต์ได้ก็แต่เมื่อผู้ปกครองอนุญาตเท่านั้นเช่นกัน อีกทั้งตัวแพลทฟอร์มเองก็รับแต่รูปหรือวิดิโอสอนการบ้านอีกด้วย
ด้านของศาสตราจารย์ Sunsun Lim แห่ง Singapore University of Technology and Design ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “ผู้ปกครองชาวเอเซียไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากนัก เพราะพวกเขามองว่า การเฝ้าดูแลลูกเป็นสิ่งที่ดี”
แต่ก็ไม่ใช่ชาวเอเชียทุกคนที่คิดแบบนั้น Sun Chang คุณแม่วัย 41 ปี ไม่เห็นด้วยกับการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของลูกชาย และไม่สนับสนุนให้ยึดติดกับตัวช่วยด้านเทคโนโลยีมากจนเกินไป เธอบอกว่า “ลูก ๆ เองก็มีสิทธิความเป็นส่วนตัวเหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผู้ปกครองสามารถตัดสินให้พวกเขาได้”
ในยุคที่ความเป็นส่วนตัวได้รับความสนใจจากมวลชนมากขึ้น ทางรัฐบาลจีนก็ไม่ได้เพิกเฉย ได้มีการตักเตือนบางโรงเรียนในเรื่องของการใช้แอปพลิเคชันเก็บข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนแล้ว
ความเป็นห่วงและความยินดีของพ่อแม่
ByteDance บอกว่าโคมไฟอัจฉริยะนี้ถูกพัฒนาขึ้น หลังจากปรึกษากับพ่อแม่ลูกชาวจีนกว่า 2,000 คนเป็นเวลาหลายเดือน
ในด้านของเสียงตอบรับ Ni Ying คุณแม่วัย 36 ปี กล่าวว่า “ตอนนี้การเรียนหนังสือของลูกมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลูกสาวของฉันทำงานเสร็จตรงเวลา และถ้าเธอมีปัญหา ก็มีครูพี่เลี้ยงคอยดูอยู่” นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ของคุณแม่กับลูกสาววัย 10 ปีก็ดีขึ้นด้วย จากการที่ไม่ต้องคอยเฝ้าลูกทำการบ้านตลอดเวลา
อีกทางด้านหนึ่ง Wu Tong คุณแม่วัย 30 ปี บอกไว้ว่า พ่อแม่ชาวจีนรู้สึกกดดันทางสังคมเกี่ยวกับการศึกษาของลูกเป็นอย่างมากมาโดยตลอด ตอนนี้เธอมีฐานะมากขึ้นแล้ว เธอจึงยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อลูกสาวของเธอ
เสียงส่วนใหญ่บนโลกออนไลน์และโซเชี่ยลมีเดียล้วนแล้วแต่ชมว่าโคมไฟอัจฉริยะคือทางออกของผู้ปกครองที่ไม่มีเวลา แต่ก็น่าคิดว่าคำชมเหล่านี้ถูกซื้อมาหรือไม่
อุตสาหกรรมแห่งอนาคต: เทคโนโลยีการศึกษา (EdTech)
รายงานจากสถาบัน Chinese Academy of Sciences คาดการณ์มูลค่าตลาดการศึกษาของจีนในปี 2022 ที่ 78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท) ตอนนี้มีบริษัทในอุตสาหกรรมการศึกษาสัญชาติจีนในตลาดหลักทรัพย์ถึง 3 บริษัทด้วยกัน และอีกหลายสิบบริษัทที่มีมูลค่าใกล้เคียงกันที่ยังไม่ได้จดทะเบียน
รายได้ของบริษัทต่างๆ ในปี 2020 เติบโตเป็นอย่างมาก เพราะบริการสอนหนังสือออนไลน์มีประโยชน์ต่อนักเรียนระหว่างช่วงล็อคดาวน์ ซึ่งหนึ่งในโมเดลการสอนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงสามารถทำกำไรสุทธิได้ถึง 60% ซึ่งโมเดลนี้ใช้ครูในการสอนออนไลน์ ควบคู่ไปกับการทบทวนบทเรียนกับ AI
ด้วยเทรนด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมนี้ ByteDance ก็ได้เปิดตัวบริษัท Dali Education ในปี 2020 ขึ้นมาโดยมีสินค้าตัวแรกเป็นโคมไฟอัจฉริยะนั่นเอง ด้าน Tencent Holdings บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีน ก็ได้ประกาศพัฒนาโคมไฟที่มีฟีเจอร์เหมือนกันแล้ว
สรุป
สินค้าในหมวดหมู่อุตสาหกรรมการศึกษา ผสมผสานกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอาจจะเป็นก้าวต่อไปของธุรกิจระดับโลกหลายเจ้า แต่ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ข้อจำกัดทางกฎหมายต่างๆ ก็ยังต้องพิจารณากันต่อไป
ที่มา – The Wall Street Journal
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา