Dairy Queen ทุ่มงบ 100 ล้าน ขยายสาขาอีก 40 แห่งในปี 2019 เน้นโลเคชั่นที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมเพิ่มไลน์อัพเมนูอาหาร และเครื่องดื่ม หวังขยายฐานลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการทานให้มากกว่าเดิม
ไอศกรีมเป็นสินค้าทานเป็นโอกาส ไม่ใช่ทานเมื่อหิว
ไอศกรีมขึ้นชื่อว่าเป็นของหวานชนิดหนึ่งที่คนส่วนใหญ่จะเลือกทานในโอกาสสำคัญๆ เช่น เฉลิมฉลอง หรือเวลาอยากทานจริงๆ เท่านั้น ไม่ใช่สินค้าที่ต้องทานเมื่อเวลาหิว แน่นอนว่าโอกาสในการทานไอศกรีมของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนด้วย
Dairy Queen เองก็ได้มองเห็นข้อจำกัดในส่วนนี้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าภายในร้านจะมีเมนูอื่นๆ หลากหลาย แต่ด้วยความที่สินค้าหลักของแบรนด์เป็นไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟก็ทำให้ภาพลักษณ์ยังคงเป็นแบรนด์ไอศกรีมอยู่
กลยุทธ์สำคัญในปีนี้จึงมีการขยายเมนูกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มให้มากขึ้น หวังขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่เป็นกลุ่มคนที่ทานอาหาร และเครื่องดื่มได้มากขึ้นด้วย จากเดิมที่มีแค่กลุ่มคนทานไอศกรีม
นครินทร์ ธรรมหทัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด บริษัทในเครือไมเนอร์ กรุ๊ป เล่าว่า
“เราได้มองแบรนด์ตัวเองเป็น Treat มาโดยตลอด เป็นสินค้ากลุ่มขนมที่ผู้บริโภคเลือกทานตามโอกาส ไม่ได้ทานเพราะอยากทาน ไม่ใช่เพราะหิว การขยายสินค้าไปกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มเป็นโอกาสที่จะทำให้คนที่ไม่ได้เข้าร้านบ่อย ก็มีโอกาสเข้ามาทานมากขึ้น คนที่ไม่ทานไอศกรีมก็มาทานสินค้าอื่นๆ ได้”
ปัจจุบัน Dairy Queen มีสินค้า 4 ประเภทอด้วยกัน ได้แก่ ไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ, ไอศกรีมเค้ก/ไอศกรีมแซนวิช, ฮอตดอก และเครื่องดื่ม โดยจะมีเมนูใหม่ๆ ทั้งไอศกรีม ฮอตดอก และเครื่องดื่มมากขึ้น ในปีที่แล้วมี 4-5 เมนุ ปีนี้จะเพิ่มเป็นเท่าตัว
ขยายเพิ่มอีก 40 แห่งในปีนี้
ปีนี้ Dairy Queen ได้วางงบลงทุน 100 ล้านบาท ขยายสาขาเพิ่มอีก 40 สาขา เป็นแฟรนไชส์ 50% และลงทุนเอง 50% เน้นโลเคชั่นที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Dairy Queen มีอัตราการขยายสาขาเฉลี่ย 20-60 สาขามาโดยตลอด เป็นการลงทุนเอง 50% เช่นกัน และอีก 50% เป็นแฟรนไชส์
ปัจจุบันมีสาขารวมทั้งหมด 500 สาขา ตั้งเป้าครบ 1,000 สาขาให้ได้ใน 3-5 ปี ซึ่งถ้านับตลาดนอกอเมริกาแล้ว ประเทศไทยเองก็เป็นตลาดใหญ่ที่ติดอันดับท้อป 3 ในแง่ของสาขา ร่วมกับประเทศจีน และละตินอเมริกา
เพิ่มโมเดลฟู้ดทรัก ตะเวนตามโลเคชั่นต่างๆ
นอกจากการขยายสาขาตามพื้นที่รีเทลต่างๆ แล้ว Dairy Queen ยังผุดโมเดลใหม่ก็คือฟู้ดทรัก หรือเป็นบริการโมบาย ยูนิต พูดง่ายๆ ก็คือหน่วยรถขาย Dairy Queen ที่ตะเวนไปตามโลเคชั่นต่างๆงานอีเวนท์ปั๊มน้ำมัน
“โมเดลฟู้ดทรักอยู่ในช่วงพัฒนา ได้เริ่มทำมาสักพักแล้ว ไปจอดตามจุดตามปั๊มน้ำมันต่างๆ ตอนนี้มีทั้งหมด 5 คัน และจะนำออกสู่ตลาดมากขึ้น และมีบริการเดลิเวอรี่ด้วยได้เริ่มทำปีที่แล้ว ปีนี้รุกตลาดนี้มากขึ้น มีการหาโมเดลใหม่ๆ มากขึ้น จะอยู่แค่ร้านค้าอย่างเดียวไม่ได้”
ในปี 2018 รายได้ของ Dairy Queen รวม 2,440 ล้านบาท เติบโต 5% ในปีนี้ตั้งเป้าโต 23% มาจากการขยายสาขา และกลยุทธ์การเพิ่มเมนูใหม่ๆ คาดว่าจะสร้างการเติบโตได้มากขึ้น
สรุป
ตลาดไอศกรีมยังต้องมีการปรับตัวหนักเช่นกัน ถึงแม้คนไทยจะชอบของหวานแต่ตอนนี้ทางเลือกของผู้บริโภคก็มากขึ้น ข้อดีของ Dairy Queen คือสินค้าแมส เข้าถึงง่าย ราคาย่อมเยา หาซื้อง่าย การที่ขยายฐานลุกค้ากลุ่มอื่นมากขึ้นก็ช่วยทำให้สร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์มากขึ้นเช่นกัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา