ร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นทรุดหนัก หลังร้านขายยา-ค้าออนไลน์แย่งลูกค้า ทำยอดใช้บริการลดลง 2 ปีซ้อน

ก่อนหน้านี้ “ร้านสะดวกซื้อ” ที่ญี่ปุ่นนั้นเติบโตเป็นอย่างมาก เพราะค่อนข้างตอบโจทย์ผู้บริโภคที่นั่น แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว หลังผู้ซื้อมีทางเลือกใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้ยอดใช้บริการร้านดังกล่าวลงต่อเนื่องมา 24 เดือน

ร้าน 7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่น // ภาพโดย Corpse Reviver (Own work) [CC BY-SA 3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons

7-Eleven, Lawson และ FamilyMart อาการหนัก

การใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองก็มีความใกล้เคียงกับคนไทยคือฝากชีวิตไว้กับร้านสะดวกซื้อ เพราะมันสะดวกตามชื่อ และตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบในยุคนี้ แต่ด้วยการปรับตัวของธุรกิจค้าขายอื่นๆ เช่นร้านขายยา และกลุ่มค้าออนไลน์ หรือ E-Commerce ก็ทำให้ฝั่งร้านสะดวกซื้อนั้นปรับตัวตามไม่ทัน

นั่นเป็นเหตุผลที่ยอดขายรวมจาก 7 ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นนั้นลดลงต่อนื่องมา 24 เดือนต่อเนื่อง และหากนับเฉพาะอัตราการเข้าใช้บริการในร้านเดียวกัน (Same-Store Traffic) จะพบว่าทุกรายก็ลดลงเช่นกัน โดย FamilyMart นั้นอาการหนักที่สุด เพราะลดลงมาแล้ว 11 เดือนต่อเนื่อง

รองลงมาเป็น 7-Eleven กับ Lawson ที่ลดลงมา 8 เดือนต่อเนื่อง แต่ถึงยอดผู้ใช้บริการจะลดลง ตัวภาพรวมยอดขายช่องทางร้านสะดวกซื้อในปี 2560 ก็ยังมีกว่า 10.6 ล้านล้านเยน แต่เติบโตจากปี 2559 เพียง 1.8% เท่านั้น และที่เติบโตได้ก็มาจากการขยายสาขาอีก 1.5% เป็น 55,395 ทั่วประเทศ แต่นั่นก็เป็นต้นทุนที่สูงขึ้นทันที

ร้านขายยา Daikoku // ภาพโดย 松岡明芳 (松岡明芳) [GFDL (http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html) or CC BY-SA 3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons

ในทางกลับกัน ยอดขายร้านขายยากลับน่าจะเติบโต 5.5% ในปีปฏิทิน 2560 คิดเป็นมูลค่า 6.85 ล้านล้านเยน หลังเริ่มจำหน่ายอาหารสด และเปิดสาขา 24 ชม. มากขึ้น รวมถึงฝั่ง E-Commerce ที่เมื่อรวมยอดของยักษ์ใหญ่ทั้ง Rakuten, Yahoo Japan และ Amazon Japan จะมีมูลค่าถึง 6.7 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 14% ในปี 2560

และถึงร้านสะดวกซื้อจะเริ่มมีบริการใหม่ๆ เช่น 7-Eleven ก็เพิ่มรถจักรยาน 5,000 คันเพื่อให้บริการ Bike-Sharing ใน 1,000 สาขาทั่วประเทศภายในปีปฏิทิน 2561 ส่วน FamilyMart ก็ติดตั้งเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญใน 500 สาขาทั่วประเทศภายในปีปฏิทิน 2562 ก็ใช่ว่าจะกลับมาเติบโตในอนาคตได้เหมือนเดิม

สรุป

เรียกว่าร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่นต้องดิ้นรนอย่างมาก เพราะคู่แข่งเริ่มแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ แต่พอมองย้อนมาดูตลาดไทย ร้านสะดวกซื้อก็ยังผูกขาดกำลังซื้อผู้บริโภคอยู่ดี และคงต้องรอเวลาที่ทุกอย่างพร้อมกว่า E-Commerce หรือช่องทางอื่นๆ จะมาดึงกำลังซื้อไปได้ ซึ่งยักษ์ใหญ่ร้านสะดวกซื้อก็คงไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นง่ายๆ เช่นกัน

อ้างอิง // Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา