หนึ่งในมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ การห้ามนั่งทานอาหารในร้านค้า แต่ให้ซื้อกลับมาทานที่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา สร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของคนไทยอย่างมาก
คันทาร์ เวิร์ลพาแนล (Kantar Worldpanel) บริษัทให้คำปรึกษาด้านการตลาดและข้อมูลเชิงลึก เปิดเผยพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าคนไทยซื้ออาหารบรรจุพร้อมขาย (Packaged Food) เพิ่มขึ้นถึง 40% ซึ่งมากกว่าการซื้อเครื่องดื่ม สินค้าภายในบ้าน และของใช้ส่วนตัว
เนื่องจากในช่วงนี้คนไทยจำนวนมากจำเป็นต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การทำอาหารทานเองภายในบ้านจึงเป็นสิ่งที่คนนิยมทำ โดยมีสินค้าประเภทปลากระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าขายดี
ไม่ใช่แค่การทำอาหารทานเองที่บ้านเท่านั้นที่ได้รับความนิยม แต่การสั่งอาหารผ่านบริการ Food Delivery ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยผลสำรวจจากคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองจำนวน 1,638 คน อายุระหว่าง 15-49 ปี เก็บผลสำรวจตั้งแต่วันที่ 10-16 เมษายน พบว่าคนไทยกว่า 38% สั่งอาหารผ่านบริการ Food Delivery มากกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
พฤติกรรมการสั่งอาหารผ่านบริการ Food Delivery ที่เพิ่มขึ้นนี้สอดคล้องกับผลการค้นหาบนเว็บไซต์ Google ที่พบว่าจำนวนการค้นหาของคำว่า Delivery มากกว่าคำว่า Restaurant แต่อย่างไรก็ตามคนไทยกว่า 79% อยากกลับไปทานอาหารในร้าน และจะใช้บริการ Food Delivery น้อยลง หากมีความปลอดภัยมากพอ
ส่วนพฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เกิดการกักตุนสินค้าเพราะกลัวเกิดการขาดแคลนก่อนหน้านี้ พบว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีพฤติกรรมกักตุนสินค้าแล้ว เพราะร้านค้าต่างๆ มีสินค้านำมาขายอย่างเพียงพอ รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ของทางภาครัฐ ที่ธุรกิจบางประเภทสามารถเปิดให้บริการได้ แต่ยังคงมีการซื้อสินค้าในขนาดใหญ่ เพราะสามารถแบ่งปันกับคนในครอบครัวได้
ที่มา – คันทาร์ เวิร์ลพาแนล
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา