เจาะลึกแพลตฟอร์ม CU NEX โฉมใหม่ ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของนิสิตจุฬาฯ ในยุคดิจิทัล

CU NEX

แพลตฟอร์ม CU NEX ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษา โดยเปิดให้บริการแก่นิสิตและบุคลากรภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่น่าสนใจคือ เป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างธนาคารกสิกรไทยหรือ KBank และ KBTG บริษัทเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย ในฐานะพันธมิตรที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีในการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Digital Transformation ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับเสียงตอบรับจากผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จนวันนี้ CU NEX ได้ก้าวสู่ปีที่ 5 และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน CU NEX มีผู้ดาวน์โหลด 99.5% ของนิสิตทั้งหมด และมี Active User ราว 73% ส่วน CU NEX Staff มีผู้ดาวน์โหลด 74% ของจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมด โดยมีฟีเจอร์สำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนและการใช้ชีวิตของนิสิต เช่น การชำระค่าเล่าเรียน, การใช้ Digital QR  ในการเข้า-ออกสถานที่ต่าง ๆ เช่น หอสมุดกลาง, ศูนย์กีฬา, เข้าใช้ PLEARN Space พื้นที่การเรียนรู้ของชาวจุฬาฯ, การยืม-คืนหนังสือผ่าน CU NEX, โปรโมชันจากพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุน ตลอดจนประกาศทั่วไป-ฉุกเฉิน การขอทุนการศึกษา

CU NEX

ก้าวต่อไปของ CU NEX

เป้าหมายต่อไปของแพลตฟอร์ม CU NEX คือ การเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในชีวิตประจำวันของนิสิตทั้งเรื่องการเรียน การใช้บริการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และการใช้ชีวิตที่ครอบคลุมทั้งการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในอนาคต การดูแลตนเองทั้งสุขภาพกายและจิตใจ เช่น การนัดหมายเพื่อรับบริการ tele-clinic รวมถึงการนัดหมายเพื่อรับการเข้าตรวจสุขภาพกรณีที่เจ็บป่วย เป็นต้น โดยการพัฒนา CU NEX ในระยะนี้ จะครอบคลุมใน 3 ด้าน ได้แก่

  • ด้านเทคโนโลยี พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ของ CU NEX ที่เปรียบเสมือนเพื่อนที่รู้ใจด้วยการใช้ Deep technology โดยมีแนวคิดว่า CU NEX ไม่ใช่ระบบปฏิบัติการมือถือ แต่คือชุมชนที่แข็งแรงและก้าวทันในทุกเรื่องของเทคโนโลยี และได้พัฒนาต่อยอดฟีเจอร์ต่าง ๆ และอีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจคือ Biometrics Technology ที่ดูแลการใช้ชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียน ผ่านอุปกรณ์มาตรฐานระดับโลก iBeta
  • ด้านการพัฒนานวัตกรรม ร่วมศึกษา ออกแบบ วิจัยกับ KBTG & MIT Media Lab ในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อผลักดันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี และเป็นตัวอย่างให้กับองค์กรอื่น ๆ ที่อยากจะสร้างแอปพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์การทำงานได้เป็นอย่างดี
  • ด้านการมีส่วนร่วมของนิสิต เมื่อ CU NEX ให้บริการได้ระยะหนึ่ง จุฬาฯ และ KBank มีความเห็นตรงกันว่าควรเปิดโอกาสให้นิสิตได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาแอปฯ จึงเป็นที่มาของการตั้งชมรม CU NEX Club เพื่อระดมไอเดียของนิสิตในการพัฒนาแอปฯ ทุกด้าน ตั้งแต่เชิงเทคนิคอย่าง IT, User Experience ไปจนถึงการตลาด ปัจจุบัน CU NEX Club มีสมาชิกรวม 60 คน จาก 17 คณะ ที่ต่างนำความถนัดมาช่วยกันพัฒนา

CU NEX

สรุป

CU NEX เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับภาคเอกชนที่เป็นผู้นำด้านดิจิทัล เทคโนโลยีอย่าง KBank ร่วมกับนิสิตที่เป็นผู้ใช้งาน มาช่วยกันพัฒนาแพลตฟอร์ม CU NEX เพื่อเชื่อมโยงทั้งนิสิต และบุคลากรของจุฬาฯ เป็นชุมชนที่แข็งแรง ก้าวทันในทุกเรื่องของเทคโนโลยี และพร้อมสำหรับโลกดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา