ทำไมแบรนด์ต่างๆ ต้องทำ CSR ศึกษาผ่าน โค้ก และ เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย

ตลาดน้ำอัดลมมีมูลค่ารวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เติบโตประมาณ 5% ต่อปี และการแข่งขันดุเดือดมาก โดยมีแบรนด์หลักในตลาด 3 รายคือ โค้ก, เป๊ปซี่ และเอส แถมอีก 1 แบรนด์เล็กที่อยู่ในต่างจังหวัดมากกว่าคือ บิ๊ก นอกจากการลงทุนและการทำตลาดเพื่อสร้างยอดขาย สร้างส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้น CSR เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่แบรนด์ต่างๆ ต้องเน้นมากขึ้น

coke-5by20-2

CSR กลยุทธ์สำคัญสร้างธุรกิจ ตอบแทนสังคม

CSR ไม่ใช่แค่การทำดีเพื่อตอบแทนสังคม แต่ต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับธุรกิจของบริษัท ส่งผลดีต่อธุรกิจไปพร้อมๆ กับตอบแทนสังคม เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่ง กรณีศึกษา โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

เพราะธุรกิจน้ำอัดลม ส่วนที่สำคัญคือ น้ำ และน้ำตาล เมื่อบริษัทถูกคาดหวังจากสังคมสูงในการทำธุรกิจที่ยั่งยืน โคคา-โคลา จึงต้องคัดเลือก Supplier ที่ดี แต่การจะคัดเลือกผู้ที่ผ่านหลักเกณฑ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจะดีกว่า ถ้า โคคา-โคลา กระโดดลงไปร่วมพัฒนากับพันธมิตรทั้งหมด เพื่อสร้างมาตรฐานร่วมกัน

ดังนั้น การร่วมมือกับเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย เป็นการเพิ่มศักยภาพการเกษตร ให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินและการลงทุนในอาชีพ ช่วยให้พันธมิตรคือ บริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง สามารถผลิตน้ำตาลและจัดหาวัตถุดิบที่ได้คุณภาพ ขณะที่ โคคา-โคลา ได้แผนในการจัดหาวัตถุดิบน้ำตาลอย่างยั่งยืน ภาพรวมเกิดการยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย

coke-1

coke-3

โครงการปีแรกไปสวย เดินต่อโครงการปีที่ 2

โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา ระยะแรก ที่เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2557 ได้ช่วยพัฒนาศักยภาพเจ้าของร้านค้าปลีกหญิงไปแล้วกว่า 10,000 คน ทั่วประเทศ และนี่คือการเดินหน้าโครงการฯ ระยะที่ 2 ร่วมกับพันธมิตร นำร่อง 1 ปี ด้วยงบลงทุนโครงการนำร่องจากโคคา-โคลา   4 ล้านบาท มุ่งพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย 600 คน

กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย อันประกอบไปด้วย บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) เดินหน้าโครงการนำร่องเพิ่มศักยภาพเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย 600 คน ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นระยะเวลา 1 ปี ก่อนจะขยายไปกลุ่มอื่นๆ ต่อไป

พรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด บอกว่า หลักสูตรการยกระดับเน้น 2 ส่วน คือ การบริหารการเงินส่วนบุคคล และการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน พบว่า กลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลครอบครัวและมีอำนาจตัดสินใจทางการเงิน แต่ยังขาดความรู้และทักษะในสองเรื่องนี้

coke-5by20-4

อ้อยและน้ำตาล อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ

ขณะที่การส่งเสริมเกษตรยั่งยืน มุ่งเน้นการเตรียมและบำรุงดินเพื่อเพิ่มอินทรีย์และปรับปรุงคุณภาพดิน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุน ไปจนกระทั่งการส่งเสริมการลดการเผาอ้อยในฤดูเก็บเกี่ยว ตลอดจนมีการให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการปลูกอ้อยและการทำอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจไทย สร้างงานให้เกษตรกรกว่า 600,000 คน สร้างรายได้ให้ประเทศจากการบริโภคในประเทศและส่งออกปีละ 150,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.6 % ของจีดีพี โดยไทยส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล และอันดับ 1 ในเอเชีย และยังเอื้อต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อาหาร พลังงาน ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี

กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของแบรนด์ รับผิดชอบกิจกรรมตลาด และสองพันธมิตรผู้ผลิตและจัดจำหน่าย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด รับผิดชอบ 62 จังหวัดทั่วประเทศ และบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบใน 14 จังหวัดภาคใต้ ผลิตภัณฑ์ในพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทยได้แก่ โค้ก, โค้ก ซีโร่, โค้ก ไลท์, แฟนต้า, สไปร์ท, ชเวปปส์, รูทเบียร์ เอแอนด์ดับบลิว  รวมถึงน้ำผลไม้มินิทเมด สแปลช มินิทเมด พัลพิ  มินิทเมด นิวทริบู๊สท์ เครื่องดื่มสมุนไพร ฮาบุ และ น้ำดื่มน้ำทิพย์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา