คำว่า ช่วยสังคม กับคำว่า เป้าหมายธุรกิจ สองคำนี้มีความหมายต่างกันชัดเจน แต่ใครจะเชื่อว่า 2 องค์กรใหญ่อย่าง กลุ่มพรีเมียร์ และ กลุ่มแพรนด้า กลับมองเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะทั้งสองคำต่างช่วยสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ ส่วนเหตุผลเหรอ ลองมาอ่านกันในบรรทัดถัดไป
สังคม และการเติบโตคือเป้าหมายเดียวกัน
วิเชียร พงศธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง เล่าให้ฟังว่า เป็นเรื่องที่ท้าทายถ้าจะทำธุรกิจให้เติบโต แต่ต้องช่วยสังคมไปพร้อมๆ กัน ในภาวะที่ผู้บริโภค และพนักงานบริษัทต่างมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทำให้เห็นแต่ตัวเอง เน้นทำให้บริษัทเติบโตเพื่อรายได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มองเรื่องอื่นว่าจะยกระดับสังคม หรือเข้าไปปรับเปลี่ยนให้สังคมดีขึ้นได้หรือไม่
“ตอนนี้ความยากคือต้องให้ทุกคนก้าวข้ามความคิด ให้ไม่ได้มีแค่ตัวเอง แต่ต้องสร้างสังคมให้ดีขึ้น และเมื่อสังคมดีขึ้น บริษัทก็สามารถทำธุรกิจได้ดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายผลประโยชน์ก็จะกลับไปที่พนักงานในบริษัทเช่นเดิม และถึงกลุ่มพรีเมียร์จะอยากได้คนดี คนเก่ง แต่ถ้าพวกเขายังไม่ปรับตัวให้มองเห็นสังคมเพียงพอ ก็คงไม่ใช่คนที่เราต้องการ ที่สำคัญยังไม่ตรงกับวิสัยทัศน์ ธุรกิจก้าวหน้า พนักงานมั่นคง สังคมยั่งยืน ของเราด้วย”
เด็ก – สิ่งแวดล้อม – ธรรมาภิบาลเริ่มง่าย
อย่างไรก็ตาม การสร้างสั่งคมยั่งยืน พร้อมกับทำธุรกิจให้ได้ตามเป้าหมาย การใส่ใจประโยชน์ของเด็ก, สิ่งแวดล้อม และเรื่องธรรมาภิบาลของการบริษัทเป็นเรื่องที่ทุกบริษัทสามารถทำได้ และสิ่งเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายอัตโนมัติ โดยกลุ่มพรีเมียร์มี 6 สายธุรกิจคือ สินค้าอุปโภคบริโภค, อสังหาริมทรัพย์, สารสนเทศ, การเงิน และรถเช่า, สิ่งแวดล้อม และพัฒนาความยั่งยืนของสังคม ซึ่งทุกกลุ่มต่างให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมเทียบเท่าการเติบโตของธุรกิจ
ส่วน ปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บมจ.แพรนด้า จิวเวลรี่ บอกว่า ถึงบริษัทจะได้รับรางวัลระดับสากลในเรื่องอัญมณีหลายรางวัล และมีผลงานจำหน่ายอยู่ทั่วโลก ผ่านแบรนด์ Prima Gold และอื่นๆ แต่เมื่ออยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวกับศิลปะ ทำให้การดูแลพนักงานจึงต้องพิเศษกว่าธุรกิจอื่น เพราะถ้าขาดพนักงานที่มีฝีมือไป ก็จะส่งผลต่อธุรกิจทุกกลุ่ม และการที่ธุรกิจอยู่มาได้นาน 43 ปี ก็มาจากการดูแลพนักงานอย่างดี
CSR ในบริษัทให้ดี ก่อน CSR ข้างนอก
“ผมคิดว่าที่เราดูแลพนักงานเป็นอย่างดีก็คือการทำ CSR นะ และถ้าเราดูแลพนักงานดี เข้าใจพนักงาน การจะทำ CSR กับข้างนอกก็จะง่ายขึ้น เพราะเรารู้แล้วว่าความต้องการของคนคืออะไร ซึ่งผมเองก็ทำแบบนั้น โดยช่วงหลังเลิกงาน ผมจะไหว้พนักงานทุกคน พร้อมบอกพวกเขาว่า ให้กลับมาทำงานกับผมในวันพรุ่งนี้นะครับ ที่สำคัญเราดูแลพนักงานของเราแบบชั่วโคตร หรือตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ถึงรุ่นลูกเลยด้วย”
ขณะเดียวกัน แพรนด้า พยายามทำให้ที่ทำงานเป็นบ้านหลังที่สองของพนักงานทุกคน ดังนั้นความเป็นครอบครัวจึงสำคัญ จนพนักงานไม่หนีไปไหน และบริษัทก็นำแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับการทำ CSR ของบริษัท นอกจากนี้เมื่อทำงาน ทุกคนจะรู้เลยว่า ถ้างานออกมาไม่ดี แสดงว่าพนักงานไม่มีความสุข ทำให้ฝ่ายบุคคลต้องเข้าไปแก้ไขโดยเร็ว เพื่อฟื้นฟูคุณภาพของงานกลับมาให้ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
สรุป
แม้คำว่าช่วยสังคม กับการเติบโตของธุรกิจจะขัดแย้งกันชัดเจน แต่ทั้งสองสิ่งนี้ก็เกื้อหนุนกัน เพราะเมื่อทำสิ่งที่เป็นคุณต่อสังคม โอกาสที่องค์กรจะถูกชื่นชม และพัฒนาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนก็มีสูง ดังนั้นการทำธุรกิจไม่ควรมองแค่ผลกำไรบริษัท แต่ต้องรู้ว่าสังคมได้กำไรแค่ไหนจากการลงทุนครั้งนี้บ้าง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา