เจาะลึกอนาคต Libra! เมื่อ Facebook จะออกคริปโตฯ-ตั้งแบงก์ชาติ แต่ผู้กำกับส่งเสียงค้าน

เมื่อ Facebook จะเปิดตัว Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ชื่อ Libra แต่หลายคนสงสัยว่าจะซ้ำรอย Bitcoin หรือเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ ที่ราคาผันผวน มีทั้งที่เฟื่องฟูไม่นานก็ตกต่ำกันไปไหม?

มาทำความเข้าใจ Libra และอนาคตของสกุลเงินนี้หลังมีข่าวหลายประเทศออกมาคัดค้าน

ทำไม Facebook ต้องทำ ตลาด Cryptocurrency

Facebook ประกาศว่าจะเปิดตัว Libra จะเริ่มใช้ในปี 2563 นี้โดยมีกลุ่มเป้าหมายกว่า 1,700 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นกลุ่ม Unbanked หรือคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีสัดส่วน 31% จากประชากรโลกกว่า 7,000 ล้านคน

เป้าหมายหลักของ Libra คือแค่มีมือถือสามารถทำธุรกรรมการเงินได้ โดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคารและจะแก้ Pain Point ของผู้บริโภคหลักๆ ได้แก่ 1. กลุ่ม Unbanked ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมากกว่า 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน เพื่อเข้าถึงเงินสด 2.กลุ่มที่ส่งเงินไปต่างประเทศมีต้นทุนสูงถึง 7% 3.เงินสดมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขโมย มีตัวเลขว่าแต่ละปีธุรกิจรายย่อยในสหรัฐ สูญเสียเงิน 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐจากปัญหาการโจรกรรมเงินสด

เมื่อ Libra คือ Cryptocurrency จึงมีเทคโนโลยี Blockchain อยู่เบื้องหลัง เป้าหมายอีกอย่างคือการลดการใช้เงินสดทั่วโลกจากปัจจุบันยังมีธุรกรรมเงินสดที่ 85%

เทียบให้ชัดว่า Blockchain ประหยัดกว่าการใช้สกุลเงินหลัก

Libra และสกุลเงินดิจิทัลอีกหลายสกุล เคลมว่าการใช้ระบบ Blockchain จะทำให้การโอนเงินข้ามประเทศเร็วขึ้น ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และรับเงินง่ายผ่านมือถือ ต่างจากปัจจุบันหากต้องการโอนเงินไปต่างประเทศมีค่าใช้จ่าย เช่น

  1. ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนตอนซื้อ-ขายเงินต่างประเทศประมาณ 3-5%  ต่อรายการ
  2. ค่าโอนเงินผ่านระบบ Swift ของธนาคารจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000-1,500 บาท/รายการ (ผู้โอนต้องจ่าย)
  3. ผู้รับโอนเงินปลายทางต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารปลายทางที่รับเงิน เช่น 400-500 บาท/รายการ

ตัวอย่างหากโอนเงิน 100,000 บาท หักค่าธรรมเนียมแล้วผู้รับจะได้เงิน 93,000 บาท

ทั้งนี้ Facebook จะมีแต่สกุลเงิน Libra ไม่ได้ จึงต้องมีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ Calibra เพื่อให้คนทั่วไปสามารถใช้ Libra บนมือถือใช้จ่ายในชีวิตประจำวันผ่านพันธมิตรหลายๆ ส่วนที่คนไทยคุ้นเคย เช่น Visa Mastercard Paypal ฯลฯ ข้อดีคือถ้าไปช้อปปิ้งที่ต่างประเทศก็ไม่ต้องแลกเงินต่างประเทศไป ไม่เสียค่าธรรมเนียมจากบัตรเครดิตเมื่อรูดใช้เงิน แต่ยังต้องอาศัยอินเตอร์เน็ตในการใช้งานเหมือนปัจจุบัน

ภายในเว็บไซด์ Libra อ้างว่าถ้าสกุลเงินนี้เริ่มใช้จริงจะมีเงินไหลเข้าเศรษฐกิจกำลังพัฒนากว่า 3.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างงานใหม่อีก 95 ล้านตำแหน่ง

Libra ผูกตะกร้าค่าเงินแก้ปมความเสี่ยงสกุลเงินดิจิทัล-เล็งตั้งแบงก์ชาติเอง

อย่างไรก็ตามแม้ Libra เป็น Cryptocurrency แต่ตั้งเป้าหมายที่จะมีความผันผวนต่ำ (Low volatile) และทำให้ใกล้เคียงกับเงินที่จับต้องได้ อย่าง ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยน เงินบาท ฯลฯ โดย Libra จะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกไว้กับตะกร้าเงิน (Pegged to the basket currency) และตั้งสำรอง 100% 

ทั้งนี้ตะกร้าเงินคือ การรวมเงินสกุลสำคัญของโลกนำมาเฉลี่ยน้ำหนักตามปริมาณการค้ากับประเทศนั้นๆ เช่น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ 30% ยูโร 30% ปอนด์ 20 % หยวน 10% เยน 10% เมื่อประเทศไหนจะออกเงินใหม่ต้องนำเงินไปซื้อทรัพย์สินในสกุลเหล่านี้ตามสัดส่วนในตะกร้าเงินมาเก็บสำรองไว้

ดังนั้น Libra ที่จะใช้ระบบผูกค่าเงินกับตะกร้าค่าเงิน ต้องมีเงินกองทุนสำรอง Libra เพื่อไปถือทรัพย์สินในสกุลเงินต่างๆ ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในตะกร้าเงินน้ัน และจะตั้งหน่วยงานกลางเหมือนแบงก์ชาติ เป็นหน่วยงานดูแลเรื่องเงินสำรองของ Libra ในชื่อ Libra Association ระยะแรกคาดว่าจะมีเงินลงทุนอย่างน้อย 31,000 ล้านบาท โดยวางแผนว่าจะมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งจากภาคเอกชน 100 แห่ง

ทั้งนี้ที่ Libra ยอมผูกกับตะกร้าเงินเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือว่า เงินที่ใส่เข้ามาจะไม่หายไป ในเบื้องต้นหาก Libra ผูกค่าเงินกับตะกร้าดอลลาร์สหรัฐก็มีโอกาสที่จะกำไรหรือขาดทุนได้เพราะดอลลาร์สหรัฐมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ แต่การบิดเบือนค่าที่แท้จริงของเงินในระยะยาว อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนที่มากกว่าเดิมในอนาคต

กระแสโต้กลับจากแบงก์ชาติทั่วโลก-นักการเมือง เร่ง Facebook พิสูจน์ความเสี่ยง

Mark Carney ผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) บอกว่า แผนงานของ Facebook (เรื่อง Libra) ต้องตรวจสอบก่อน โดยจัดให้ Facebook ได้อภิปรายรายละเอียดแผนงาน ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกฎกณฑ์ของอังกฤษด้วย แม้ว่า BOE จะเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ไม่ได้แปลว่าจะเปิดประตูรับทั้งหมด

ด้าน Bruno Le Maire รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศส ร่วมกับผู้ว่าธนาคารกลางฝรั่งเศส บอกว่า กลุ่มประเทศ G7 (มีแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และ สหรัฐฯ) ต้องการศึกษาความเสี่ยงการใช้สกุลเงินดิจิทัลในมิติผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเสถียรภาพการเงิน การกำกับดูแล และป้องกันไม่ให้สกุลเงินดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน

ทั้งยังมีธนาคารกลางหลายแห่งในยุโรปที่กังวลในเรื่องนี้ แม้เห็นวี่แววว่า Libra อาจจะประสบความสำเร็จ แต่ส่วนใหญ่มองว่าระบบนี้ต้องอยู่ภายใต้ระบบที่มีมาตรฐานระดับสูง อย่างไรก็ตามปัจจุบัน Facebook มีข้อมูลผู้ใช้งานกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก ทำให้ผู้กำกับในหลายประเทศกังวลว่าจะมีความเสี่ยงในการใช้ข้อมูลโดยมิชอบ และต้องศึกษาเรื่องกฎเกณฑ์ใหม่ๆที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้รอบด้าน

นอกจากนี้มีนักการเมืองสหรัฐบางส่วนเรียกร้องให้ Facebook ให้ชะลอโครงการ Cryptocurrency จนกว่าสภา Congress และหน่วยงานผู้กำกับ รีวิวประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยข้อมูล และระบบรักษาความปลอดภัย

สุดท้ายผู้กำกับของไทยอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาบอกว่า ต้องรอดูความชัดเจนด้านรูปแบบ กลไก การทำงานขององค์กรและเครือข่าย Libra ของ Facebook ขณะเดียวกันแบงก์ชาติหารือกับผู้กำกับประเทศอื่นๆอย่างต่อเนื่อง

สรุป

ในยุคดิจิทัลแบบนี้ ถ้า Libra ใช้ได้จริงและลดต้นทุนธุรกรรมการเงินคนทั่วไปได้ก็เป็นเรื่องดี แต่ต้องรอดูรูแบบที่ชัดเจนว่า ราคาถูกที่ประชาชนได้มาจะคุ้มกับ “ความได้เปรียบตลาด” ที่ Facebook และเครือข่ายจะได้ไปหรือไม่ ที่สำคัญต้องดูขอบเขตทางกฎหมายในแต่ละประเทศว่าจะเปิดขอบเขตให้ Libra มีบทบาทได้เท่าไร และจะเห็นใช้จริงได้เมื่อไร

ที่มา ธนาคารไทยพาณิชย์, คมชัดลึก, Reuters, CNN

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง