8K ไปทำไม? จับกระแสย้อนยุคที่ทำให้จอโทรทัศน์ และมอนิเตอร์แบบ CRT ได้รับความนิยมอีกครั้ง

กระแสรำลึกอดีตในปัจจุบันทำให้สินค้าต่าง ๆ กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เช่นแผ่นเสียง หรือเทป ล่าสุดเกิดขึ้นกับวงการจอภาพ เพราะอยู่ ๆ จอโทรทัศน์ และมอนิเตอร์แบบ CRT หรือจอแก้ว เริ่มถูกพูดถึง และหาซื้อกันมากขึ้น

โทรทัศน์

จอแก้ว กับการแสดงภาพอันมีเอกลักษณ์

ปัจจุบันตลาดจอภาพก้าวไปถึงความคมชัดระดับ 8K หรืออาจมากกว่านั้นในบางแบรนด์ ซึ่งยิ่งคมชัดมากเท่าไร การให้ความบันเทิงในยุคดิจิทัลก็เต็มอิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่วันนี้กระแสจอภาพ CRT (Cathode-ray tube) หรือจอแก้วที่คนไทยเรียกติดปากกันมันกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในยุคดิจิทัล แม้ว่าความละเอียดสูงสุดจะอยู่แค่ 240p

เหตุผลหลักที่ทำให้จอ CRT กลับมาคือกระแสการเล่นเกมเก่าถูกจุดติดจาก YouTuber และ Streamer ต่าง ๆ และถ้าจะเล่นให้ได้บรรยากาศเก่า ๆ รวมถึงการทำให้ภาพที่แสดงมันเหมือนกับที่นักพัฒนายุคนั้นทำจริง ๆ การใช้จอ LCD หรือ LED แบบใหม่ที่ใช้อย่างแพร่หลายในยุคนี้คงไม่ตอบโจทย์ เพราะมันแสดงภาพแบบดั้งเดิมไม่ได้

ถ้าว่ากันที่เอกลักษณ์ของจอ CRT ก็คงมาจากจอแก้ว และที่หลอดภาพที่ติดตั้งอยู่ภายใน ทำให้การแสดงผลไม่ได้ออกมาเป็นจุดพิกเซลเหมือนหน้าจอยุคปัจจุบัน นั่นทำให้เวลาเล่นเกมเก่า ๆ ภาพที่แสดงออกมาจะดูนวลตา และสมจริงเหมือนกับที่นักพัฒนาต้องการทำมันออกมา

แยกย่อยหลายระดับ ตอบโจทย์ทุกความต้องการ

อย่างไรก็ตาม จอ CRT ในความเข้าใจของหลายคนอาจเป็นแค่โทรทัศน์รุ่นเก่าที่มีก้นใหญ่ ๆ หรือจอมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์รุ่นดึกที่ต้องหาแผ่นกรองแสงมาติดตั้งไม่ให้ตาล้า แต่รู้หรือไม่ว่าจอ CRT สามารถแบ่งได้หลายเกรด หลายระดับ ซึ่งแต่ละระดับจะแสดงภาพออกมาแตกต่างกัน

หากไล่จากระดับสูงสุดอาจจะเป็นเกรด Professional ที่มี TVL (Television Lines) ค่อนข้างสูง และยิ่งสูง ภาพก็ยิ่งคมชัดขึ้น เช่น Sony PVM-20L2MD ที่มี TVLs มากกว่า 600 หากไปเสิร์ชหารุ่นนี้บน eBay อาจได้เจอกับราคาขายมือสองหลายหมื่นบาท ส่วนเกรดผู้ใช้งานทั่วไป ตัว TVLs ก็จะลดหลั่นลงมา

นอกจากนี้ จอ CRT ยังมีหลากหลายพอร์ตเชื่อมต่อ ซึ่งแต่ละพอร์ตนั้นให้รูปแบบการแสดงภาพที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพอร์ต RF (สายสัญญาณโทรทัศน์) พอร์ต RGB (สายที่ปลายเป็นสีเหลี่ยม และมีเข็มจำนวนมาก) พอร์ต S-Video และพอร์ต Composite (สายแดง, ขาว และเหลือง)

crt

รายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมากสร้างโอกาสเติบโต

คล้ายกับกรณีของเทป และแผ่นเสียง รวมถึงสิ่งที่กำลังเป็นกระแสของคนรุ่นใหม่ เช่นการดื่มกาแฟ หรือการขายสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะของทั้งหมดนี้ล้วนมีสตอรี่ และรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมาก ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่จริงจังกับเรื่องเล็ก ๆ รวมถึงยังขายให้กับคนที่อยากรำลึกความหลังเมื่อมีอายุมากขึ้น

สำหรับตัวผู้เขียนเองคุ้นเคยกับสาย RF และ Composite เพราะตอนเด็ก ๆ รับชมโทรทัศน์ผ่านเสาอากาศ ส่วนสายแดง-ขาว-เหลือง มาจากการมีเครื่องเล่นเกมทั้ง Famicom, Super Famicom และ Playstation รุ่นแรก ที่ถึงจะเข้ายุคภาพ 3 มิติ แต่หากต่อเข้าจอ CRT เทียบกับ LCD หรือ LED ภาพที่แสดงออกมาก็แตกต่างกันชัดเจน

เกมเก่า

ในประเทศไทย กระแสการใช้งานจอ CRT อาจเห็นได้ในงานแสดงสินค้า หรือนิทรรศการออกแบบ ที่ต้องการแสดงความเก่า ส่วนกลุ่มผู้ใช้ที่ซื้อมาเล่นเกมเก่าอาจอยู่ในกลุ่มเล็ก ๆ ดังนั้นใครอยากรำลึกอดีตด้วยการเล่นเกมเก่า และมีจอภาพตรงยุค ก็อย่าลืมไปหาซื้อกันได้

อ้างอิง // ส่วนหนึ่งจาก Wired

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา