ทำไม Crocs รองเท้าแตะสุดเห่ย ถึงกลับมาฮิตอีกครั้ง และจะทำรายได้กว่า 1.21 แสนล้านบาท ในปี 2022

เป็นเรื่องปกติที่แฟชั่นการแต่งตัวจะมีวงจร และรอบในการกลับมาได้รับความนิยม แต่เรื่องดังกล่าวไม่น่าใช้ได้กับ Crocs แบรนด์รองเท้าแตะสุดเชย และเห่ย เพราะในสายตาหลายคนยังรู้สึกยี้เมื่อเห็นคนอื่น และตัวเองสวมใส่

อย่างไรก็ตามความยี้ของ Crocs กลับส่งเสริมให้ยอดขาย และภาพลักษณ์แบรนด์แข็งแกร่งในปัจจุบัน ฟื้นจากช่วงวิกฤติเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน แถมมีโอกาสร่วมมือกับแบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลก

สำนักข่าว CNA จากสิงคโปร์วิเคราะห์กระแสการกลับมาของ Crocs ได้อย่างน่าสนใจ Brand Inside จึงขอนำเสนอรายงานการกลับมาของ Crocs ว่าทำไมแบรนด์รองเท้าแตะสุดเชยถึงประสบความสำเร็จอีกครั้งดังนี้

Crocs

Crocs กับจุดเริ่มต้นเมื่อ 20 ปีก่อน

Crocs ก่อตั้งธุรกิจเมื่อปี 2002 ในสหรัฐอเมริกา จำหน่ายรองเท้าหัวโตมีรูอันเป็นเอกลักษณ์ ชูจุดเด่นเรื่องความสบายเมื่อสวมใส่มาตั้งแต่วันแรก ซึ่งความแตกต่างนี้เองทำให้ยอดขายในช่วง 5 ปีแรกของธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แถม IPO ที่ ตลาด Nasdaq เมื่อปี 2006 แต่ก็ยังถูกค่อนขอดเรื่องดีไซน์ที่เชย และชวนอี๋เหมือนสวมใส่

เมื่อปัจจัยดังกล่าวผนวกกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ Crocs เจอปัญหาใหญ่ ไล่ตั้งแต่ราคาหุ้นจากเคยสูงสุด 68 ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน พ.ย. 2007 ลงมาเหลือ 1 ดอลลาร์ ในเวลาเพียง 1 ปี และต้องทยอยปิดสาขาเรื่อย ๆ ถึงขนาดปี 2014 ปิดไปกว่าร้อยแห่งทั่วโลกเพื่อควบคุมต้นทุน

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2015 กระแสการสวมใส่ Crocs ในหมู่วัยรุ่นกลับมาอีกครั้ง ช่วยผลักดันแบรนด์ให้ทะยานจนกลับมาฮิตติดลมบนเหมือนในปัจจุบัน เรียกง่าย ๆ ว่า​ใช้ความอี๋จนกลับมาฮิต ขึ้นเป็น Non-Athletic Footwear ท็อป 10 ของโลก ผ่านยอดขายรองเท้ากว่า 100 ล้านคู่/ปี และมีพนักงานทั่วโลกราว 5,000 คน

Crocs

ตลาดเอเชียช่วยดันยอดขาย

หนึ่งในปัจจัยการฟื้นกลับมาของ Crocs คือ ยอดขายตลาดเอเชียที่เติบโต ปัจจัยดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 2015 และมาเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ปี 2020 เช่น ปี 2021 ทำรายได้รวม 2,300 ล้านดอลลาร์ (หรือราว 80,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 67% มาจากพื้นที่ APAC 350 ล้านดอลลาร์ และไตรมาส 3 ปี 2022 ทำรายได้รวม 985 ล้านดอลลาร์ มาจาก APAC 138 ล้านดอลลาร์ โดยปี 2022 บริษัทคาดว่าจะปิดรายได้ที่ 3,455-3,520 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.21 แสนล้านบาท

ที่น่าสนใจคือตัวเลข 138 ล้านดอลลาร์ เติบโตถึง 65.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดอเมริกาเหนือ และยุโรป ทั้งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายรายได้รวมของ Crocs ให้ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2026

นอกจากนี้การทำตลาดแบบ DTC และให้ความสำคัญของช่องทางดิจิทัล ยังทำให้บริษัทมีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในตลาด APAC เช่นกัน โดยไตรมาส 3 ปี 2022 สัดส่วนยอดขายดิจิทัลคิดเป็น 37% จากยอดขายรวม มาจาก Crocs.com และแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น Tmall, Amazon.com และ Zappos เป็นต้น

Crocs

ร่วมมือกับแบรนด์หรูยกระดับการรับรู้

อาจเพราะความแตกต่าง และดีไซน์ไม่เหมือนใคร ทำให้ระยะหลัง Crocs ถูกสวมใส่โดยดารามากมาย โดยผู้สวมใส่มีตั้งแต่ Justin Bieber, Nicki Minaj, Jisoo จาก Blackpink และ Ariana Grande เป็นต้น และทั้งหมดนี้ยังสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และออกงานในบางครั้ง ช่วยเปิดประตูให้ Crocs ได้ร่วมงานผลิตสินค้ากับศิลปินต่าง ๆ

คอลเลกชันที่ร่วมกันมีทั้ง Post Malone และ Bad Bunny ซึ่งทั้งคู่จำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว ทำให้ Crocs ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไปด้วยการจ้างศิลปินขวัญใจ Gen Z เป็นพรีเซนเตอร์เพื่อสื่อสารแบรนด์อีกทาง และเป็นการบุกเบิกให้ Crocs ได้ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นหรู เช่น Balenciaga เพื่อขายรองเท้าราคา 1,500 ดอลลาร์

ในทางกลับกัน Crocs ยังร่วมมือกับแบรนด์สินค้า, การ์ตูน, แบรนด์เสื้อผ้า Streetwear และอื่น ๆ เพื่อสร้างสีสัน และการรับรู้ให้แบรนด์อย่างต่อเนื่อง เช่น KFC, BEAMS, 7-Eleven และ Cars เป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดลงง่าย ๆ

Crocs

อี๋เป็นเอกลักษณ์ และความสบายเมื่อสวมใส่

เหตุผลสุดท้ายที่ Crocs กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในทศวรรษนี้คือ ความอี๋ และความสบายเมื่อสวมใส่ หรือสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของ Crocs เพราะดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร และอี๋สำหรับบางคน แต่กลับดูน่ารักในสายตาบางคนเช่นกัน นอกจากนี้ Crocs ยังมีตุ๊กตา หรือสัญลักษณ์ตกแต่งรองเท้าเพื่อเพิ่มความน่ารักขึ้นไปอีกขั้น

ส่วนเรื่องความสบาย Crocs คือรองเท้าแตะ และรองเท้าลำลองที่สบายเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แถมเป็นขวัญใจของคนที่ต้องสวมใส่รองเท้ายางเวลาทำงาน ซึ่ง Crocs เองก็เข้าใจลูกค้ากลุ่มนี้เป็นอย่างดี เช่น การบริจาครองเท้า Crocs ให้กับทีมแพทย์ที่สหรัฐอเมริกากว่า 8.6 แสนคู่ สวมใส่เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด

สำหรับในประเทศไทย กระแสการสวมใส่รองเท้า Crocs เริ่มมีมากขึ้นเช่นกัน ผ่านการทำตลาดโดย CRC Sports หนึ่งในบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล เจ้าของแบรนด์ Super Sports ปัจจุบันมีหน้าร้านกว่า 40 แห่ง และมีจุดจำหน่ายในศูนย์การค้าต่าง ๆ

สรุป

Crocs อาศัยเอกลักษณ์ด้านงานออกแบบที่ไม่เหมือนใคร รวมกับความสบายเมื่อสวมใส่ที่หาใครเทียบได้ยาก ฟื้นตัวเองจากช่วงวิกฤติจนกลับมาฮิตติดลมบน แถมได้ร่วมมือกับศิลปิน และแบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์ ถือเป็นตัวอย่างของแบรนด์ที่ไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของตัวเอง และไปอิงกระแสเพื่อหวังเติบโตในระยะสั้น

ปัจจุบัน Crocs ทำตลาดรองเท้า 2 แบรนด์ ประกอบด้วย Crocs และ HeyDude ที่บริษัทพึ่งควบรวมกิจการมาด้วยมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์ ในช่วงสิ้นปี 2021

อ้างอิง // CNA, Crocs 1, 2

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา